ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโอกาสในการพัฒนาการค้าและการลงทุนของไทย
- Credit : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
- 2 ก.พ. 2559
- ยาว 1 นาที

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศ คือ กัมพูชา ไทย บรูไน เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมตัวกันขึ้นโดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจในระดับโลก รวมถึงมีการยกเว้นภาษีสินค้าบางชนิดให้กับประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยผ่านแผนงานในเชิงบูรณาการในด้านเศรษฐกิจต่างๆ (ASEAN Blue Print) ทั้ง 4 ด้าน คือ (1) การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ซึ่งจะนำไปสู่การใช้กฎระเบียบการค้าในประเทศสมาชิกทั้งหมดเป็นรูปแบบเดียวกัน (2) การสร้างอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคม การเงินการธนาคาร การจัดระบบการค้าให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม (3) การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกอาเซียน โดยพัฒนา SMEs และเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ (4) การเชื่อมโยงของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก ด้วยการเน้นและปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาคให้มีท่าทีร่วมกัน
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 การดำเนินการด้านที่ (1) หรือการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวนั้น จะเข้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้เกือบสมบูรณ์แล้ว ทั้งการลดอุปสรรคการค้าสินค้าด้านมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี การเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า การปรับประสานมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบ การเปิดเสรีการค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ แม้ว่าความเป็นตลาดเดียวอย่างแท้จริงจะยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่การเป็น AEC ถือว่าเป็นการนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ สำหรับทุกประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับประเทศนั้น ๆ ว่ามีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการใช้โอกาสได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ของไทย จึงควรพิจารณาถึงผลกระทบ โอกาส และอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน

ความสำคัญของอาเซียนต่อไทย
อาเซียนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย โดยเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย โดย มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2557 การส่งออกไทยไปอาเซียนมีมูลค่ากว่า 59,000 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังตลาดโลก
ดังนั้น AEC จะเป็นโอกาสสำคัญในการค้าและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมของไทยมีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง แต่อาจประสบปัญหาบางด้าน เช่น ขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น ซึ่งอาเซียนจะเป็นคำตอบสำหรับอนาคตให้ไทยได้ เช่น การย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันกับไทยหลายประเทศ ก็เป็นโอกาสที่มองข้ามไม่ได้
นอกจากนี้ อาเซียนยังได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจา หลายประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลง RCEP ซึ่งเป็นความตกลงฉบับเดียวกับคู่เจรจาทั้งหมด หากการเจรจา RCEP ประสบผลสำเร็จ ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทั้ง 16 ประเทศมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก (กว่า 3,300 ล้านคน) มี GDP รวมกันกว่า 17,100 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของ GDP โลก
โอกาสในการพัฒนาการค้าและการลงทุนของไทย
สำหรับความโดดเด่นของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของกลุ่ม ทำให้ประเทศไทยน่าจะมีข้อได้เปรียบในการใช้ประโยชน์จากอาเซียน เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนและการไปลงทุนในประเทศเพื้อนบ้านได้โดยสะดวก อีกทั้งยังสามารถเป็นฐาน (hub) ของการทำธุรกิจ การส่งออก และการลงทุน ให้กับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ซึ่งจากโอกาสดังกล่าว ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาภาคธุรกิจภายในเพื่อรองรับการเป็น AEC ต่อไปในอนาคตได้ เช่น บริการ
โลจิสติกส์ การจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า (Distribution Center) การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เป็นต้น

แต่การที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จาก AEC เต็มที่นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว จึงได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อรองรับ AEC ที่สำคัญ อาทิ
ปรับนโยบายด้านการค้า การลงทุน ให้สะดวกและเอื้อต่อการทำธุรกิจและการลงทุนมากขึ้น ยกระดับมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การทำ National Single Window ให้ได้โดยเร็ว
สนับสนุนการเชื่อมโยง (connectivity) ในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม โดยมีโครงการขยายการขนส่งทางบกและทางราง ส่วนทางทะเลก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนได้อย่างแท้จริง
สนับสนุนการค้าชายแดนโดยมาตรการด้านต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย มุ่งพัฒนาในด้านการอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มพูนสิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษการค้าชายแดน
ยกระดับความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะ SMEs ผ่านการช่วยเหลือด้านข้อมูล การทำแบรนด์ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบการค้าชายแดน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้จัดให้มีศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจในอาเซียน เพื่อให้ข้อมูล/คำปรึกษาในเชิงลึกด้านการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจในตลาดอาเซียน โดยสามารถให้บริการแก่นักธุรกิจได้ จำนวน 2,891 ราย (ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2558) ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าด้านต่าง ๆ เช่น FTA
มุ่งพัฒนาโครงสร้างด้านบุคคลและสังคม เพื่อรองรับได้ในระยะยาว เช่น การจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้โปร่งใสและจับกุมผู้กระทำความผิด การดูแลการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศให้เป็นไปตามสากล การยกระดับการศึกษาและการอบรมบุคลากร เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และมั่นใจว่า จะทำให้ไทยเป็นประเทศแนวหน้าที่ทุกคนต้องนึกถึงเมื่อกล่าวถึงอาเซียนในอนาคต (“Think ASEAN, Think Thailand”)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาโครงการการจัดทำยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งทางการค้า แผนงานจัดทำยุทธศาสตร์การค้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำมาประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ในอนาคต นอกเหนือจากการศึกษาการรวมกลุ่มของประเทศแล้ว คณะทำงานยังจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยดำเนินการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ของแต่ละภาคเศรษฐกิจ อันประกอบไปด้วย การค้าสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และบริการ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องต่อไป
Credit : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
Comments