top of page
ค้นหา

เศรษฐกิจไทยในบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก

  • สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
  • 11 ม.ค. 2559
  • ยาว 1 นาที

เนื่องมาจากความผันผวนในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน (FTAs) ส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยประเทศคู่ค้าที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้นำประเด็นต่างๆ มาสร้างกฎระเบียบ กติกา และมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ๆ ในขณะเดียวกันนานาประเทศที่เป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าต่างปรับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เน้นการผลิตภายในประเทศและภูมิภาค เพิ่มการส่งออก และลดการนำเข้า ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้ทันกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคสังคมต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและบูรณาการระหว่างกัน เพื่อให้อยู่รอดและแข่งขันได้ในเศรษฐกิจยุคใหม่

แนวทางสำคัญที่จะทำให้ไทยยืนหยัดอยู่ในตลาดโลกและเป็นผู้นำทางการค้าใน AEC ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน คือการก้าวไปสู่การเป็นชาติการค้า (Trading Nation) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) จากเดิมที่มีลักษณะเป็นเศรษฐกิจฐานการผลิตมูลค่าต่ำให้เป็นเศรษฐกิจฐานบริการ (Service Base Economy) ที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการยกระดับภาคการผลิต การค้า และการบริการของไทยให้ไปอยู่ใน Value Chain โดยมีภาคการค้า (Trading) เป็นแกนหลักของการพัฒนา ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

  1. การพัฒนาไปสู่การเป็น Global trader ทั้งค้าสินค้าและบริการ ครอบคลุมทั้งมิติด้านการผลิต (สินค้าและบริการที่ไทยสามารถผลิตได้เอง และไม่สามารถผลิตได้เอง) และมิติด้านที่ตั้ง (กิจการของไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศและอยู่นอกประเทศ)

  2. การพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค (Trading Hub) โดยการสร้างและพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการใช้ไทยเป็นฐานในการเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค ทั้งในลักษณะของการเป็นสำนักงานใหญ่ภูมิภาค ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์กลางของการค้าและบริการ และศูนย์กลางของการจัดงานแสดงสินค้าและบริการระดับสากล

ทั้งนี้การพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าวต้องอยู่บนหลักการที่เน้นความต้องการของตลาด (Demand Driven) สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต/การบริการที่เกี่ยวเนื่อง มีความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitiveness) และสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

ดังนั้น สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานการสร้างความเข็มแข็งทางการค้าด้านสินค้าเกษตร การค้าสินค้าอุตสาหกรรม การค้าบริการ เพื่อสร้างความเข็มแข็งทางการค้าทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันสูง เป็นการส่งเสริมให้ไทยก้าวสู่การเป็นชาติการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้เริ่มต้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 และไปสิ้นสุดในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยจะมีการเผยแพร่ความก้าวหน้า รวมทั้งผลการศึกษาต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ ผ่านการจัดสัมมนา กระจายเสียงวิทยุ และเผยแพร่ผ่านบทความในสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

ในเบื้องต้นทางคณะทำงานได้ทำการศึกษาความสามารถในการแข่งขันและสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจประเทศไทยในเวทีโลก ดังนี้

ตามการจัดอันดับโดยธนาคารโลก (World Bank) ในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ในอันดับที่ 32 ของโลก และอันดับ 2 ในอาเซียน รองลงมาจากประเทศอินโดนีเซีย (อันดับ 16 ของโลก) โดยมีมูลค่า GDP อยู่ที่ 373,804 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 13,149 พันล้านบาท

ผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า อนาคตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้านั้น จัดอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง โดยศักยภาพในการขยายตัว (Growth Potential) ของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันลดลงจากในอดีตอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5 ตัวเลขล่าสุด (ในกรณีที่ปล่อยให้การพัฒนาเป็นไปแบบเดิมๆ) ลดลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น โดยเป็นผลจากข้อจำกัดด้านกำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลงพร้อมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนการลงทุนของประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และข้อจำกัดด้านปัจจัยเทคโนโลยีที่ภาคการผลิตขาดการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทำให้ไม่สามารถปรับตัวตามความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ โดยมีโอกาสที่ประเทศไทยจะติดกับดักรายได้ปานกลางเพิ่มสูงขึ้น หรือต้องใช้เวลานานในการก้าวผ่านไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง จนกลายเป็นประเทศที่ "แก่ก่อนรวย" ซึ่งห่างไกลจากวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลปัจจุบันต้องการให้ประเทศไทย "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"

หากวิเคราะห์ตามรายภาคทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ตามการจำแนกโดยธนาคารโลก (World Bank) จะพบว่า GDP ในปี พ.ศ. 2557 ของประเทศไทยมีสัดส่วนจากภาคบริการมากที่สุด คือ ร้อยละ 46.33 รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 42.04 และภาคเกษตรที่ร้อยละ 11.64 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน คือ ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยแนวโน้มภาคบริการซึ่งมีสาขาหลักคือ ค้าส่ง-ค้าปลีก ขนส่งและการสื่อสาร การเงิน และอสังหาริมทรัพย์ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี สัดส่วน GDP ของภาคบริการยังเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนภาคบริการมากกว่าร้อยละ 70

ในด้านการจ้างงาน ในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีผู้มีงานทำที่ 38.12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.54 ของประชากรทั้งหมด และตามข้อมูลล่าสุดของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (Central Intelligence Agency: CIA) ภาคบริการมีสัดส่วนการจ้างงานที่สูงที่สุด คือ ร้อยละ 51.1 รองลงมาคือภาคเกษตรที่ร้อยละ 32.2 และภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 16.7 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การจ้างงานในภาคบริการมีสัดส่วนที่สูงที่สุดเช่นกัน แต่สูงกว่าของประเทศไทยอย่างเด่นชัด อาทิ ประเทศสิงค์โปร์มีสัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการมากถึงร้อยละ 83.9 ประเทศญี่ปุ่นที่ร้อยละ 70.9 และประเทศเกาหลีใต้ที่ร้อยละ 70.4

หากพิจารณาตามผลิตภาพของแรงงาน โดยดูที่อัตราส่วนของ GDP ต่อแรงงานในแต่ละภาคแล้ว พบว่าการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีผลิตภาพสูงที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้แรงงานเข้มข้น การนำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมในระดับต่ำ ประกอบกับแรงงานส่วนใหญ่มีอายุมาก และการศึกษาไม่สูง

จากประเด็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจดังกล่าว และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศการค้า (Trading Nations) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการของไทย ทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ของแต่ละภาคเศรษฐกิจ อันประกอบไปด้วย การค้าสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และบริการ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงใคร่ขอเรียนเชิญผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการเข้าร่วมงานสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต โดยสามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการและความรู้อันเป็นประโยชน์ได้ในบทความครั้งต่อไป

 
 
 

Comments


Follow "THIS JUST IN"
  • Facebook Basic Black
  • Twitter Basic Black
  • Google+ Basic Black

© 2015 by "Advanced Standard Group.co.ltd". All Right Reserved

| ADVANCED STANDARD GROUP CO., LTD. Tel. +662-881-3421-3

 

  • White Facebook Icon
  • White Instagram Icon
  • White Twitter Icon
  • White Google+ Icon
  • White Pinterest Icon
  • White YouTube Icon
bottom of page