ชีวิตที่สดใส ด้วยการสร้างวินัยในตนเอง
- advancedbizmagazine
- 26 ต.ค. 2558
- ยาว 2 นาที

มีคำกล่าวว่า “วัฒนธรรมองค์กรที่พึงปฏิบัติ คือวินัยที่ดี ...มีวินัยเป็นเกราะ มีความตั้งใจเป็นกำลัง มีปัญญาเป็นอาวุธ”
เพื่อนของผมได้พาครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่น กลับมาประเทศไทย ผมถามเขาว่า เขาชอบหรือชื่นชมอะไรมากที่สุดเมื่ออยู่ที่ญี่ปุ่น เขาบอกว่า “ความมีวินัย” คนญี่ปุ่นเข้าคิวทุกอย่าง ไม่มีการแซงคิว ไม่แสดงอาการหงุดหงิด ยอมรับกติกา ไม่ว่าจะขึ้นลิฟท์ ยืนคอยรถเมล์ กินอาหาร ซื้อของ ขึ้นบันไดเลื่อน เข้าคิวหมดทุกอย่าง แบบเต็มใจ เวลาขึ้นบันไดเลื่อน ทุกคนจะยืนชิดขวา เพื่อให้คนที่รีบ เดินขึ้นทางซ้าย การข้ามถนนรถจะจอดให้คนข้ามทางม้าลายก่อน ตรงไฟแดง แม้ว่า ถนนจะว่าง คนก็จะไม่ข้ามจนกว่าไฟเขียวจะขึ้นให้คนเดินข้าม
คนญี่ปุ่นก็ชอบเลี้ยงสุนัข เวลาเขาพาสุนัขออกเดินถนน เขาจะมีกระดาษชำระติดมือไปเสมอ เผื่อว่าสุนัขจะอุจจาระตามถนนสาธารณะ เขาจะเก็บอุจจาระของสุนัข แล้วนำไปทิ้งถังขยะ ไม่ปล่อยให้ถนนสกปรกด้วยอุจจาระของสัตว์เลี้ยง อย่าว่าแต่เพียงคนไม่ทิ้งขยะ กระดาษ หรืออะไรๆ ตามถนนเลย บ้านเมืองเขาจึงดูสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
คนญี่ปุ่นมีอายุยืนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เหตุผลเพราะเขานิยมการออกกำลังกาย ที่สำคัญของการออกกำลังกายคือการเดิน เพราะคนญี่ปุ่นจะไปไหน จะเดินทางโดยรถไฟใต้ดินหรือบนดินเป็นหลัก มีรถไฟนับสิบๆ สาย ไปถึงทุกแห่งทุกพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ ทั้งสะดวกและสะอาด รวดเร็ว ตรงเวลา ไม่ต้องพบรถติด ไม่ต้องหาที่จอดรถส่วนตัว ประหยัดและเร็วกว่า ก็เลยทำให้ต้องเดินเยอะ เพราะการต่อขบวนรถไฟแต่ละขบวนต้องเดินขึ้นลงบันได บางแห่งมีสถานีซ้อนๆ กันถึงห้าชั้น ชั้นหนึ่งก็ขบวนหนึ่ง เขาจึงอาศัยการเดินเป็นกิจวัตรประจำวัน ต่างคนต่างเดิน เดินเร็วมาก ทำให้คนญี่ปุ่นแข็งแรงและอายุยืน
แม้แต่เด็กก็ถูกฝึกให้มีระเบียบวินัยแต่เล็กๆ ต้องเดิน ต้องใช้รถไฟเป็นการเดินทางไปโรงเรียน ไม่มีการลุกให้เด็กนั่งตามธรรมเนียมไทย เด็กต้องฝึกยืนบนรถไฟเอง การกินอาหาร เขาจะทานอาหารสดเป็นหลัก ไม่ซื้ออาหารสำเร็จรูปทานแบบบ้านเรา และเขาจะทานอาหารพอดีอิ่ม ไม่มีเหลือทิ้งขว้าง ทำให้คนญี่ปุ่นไม่ค่อยอ้วนอีกต่างหาก
เขียนไปๆ เดี๋ยวจะถูกหมั่นไส้ เพื่อนไม่ได้บอกมากนัก แต่เติมเอาเอง เลยดูเหมือนไปเชียร์ประเทศอื่น ออกนอกหน้า เพราะบังเอิญชีวิตของผมก็ได้มีโอกาสไปญี่ปุ่นหลายครั้ง และถือเป็นประเทศที่ผมไปนานที่สุดครั้งหนึ่ง เกือบสองเดือน อีกประเทศหนึ่งที่น่าจะศึกษาการมีระเบียบวินัยในเอเชียก็คือประเทศสิงคโปร์ และอาจจะเป็นคำตอบได้ว่า ประเทศที่เจริญมั่งคั่งมั่นคง มาจากรากฐานประชาชนของประเทศที่มีระเบียบวินัยเป็นหลัก ประชาชนมีระเบียบวินัย ทำให้การบริหารประเทศเป็นไปได้โดยง่าย เขียนอย่างนี้ ก็ทำให้กลุ้มใจประเทศไทย ที่ประชนชนยัง...
วินัยในชีวิตประจำวัน ยึดหลักต่อไปนี้เป็นข้อปฏิบัติ เริ่มต้นด้วยกฎหมายที่ประชาชนทุกคนต้องยึดปฏิบัติ ตามมาด้วยกฎระเบียบข้อบังคับของแต่ละองค์กร วัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น กฎจราจร กฎกติกามารยาทในการดำเนินชีวิตในประเทศไทย กฎกติกามารยาท และจรรยาบรรณของแต่ละวิชาชีพ
ความสำคัญของวินัย วินัยคืออะไร วินัยคือเครื่องมือสำหรับกำกับความประพฤติให้เป็นไปตามแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน วินัยจะมีผลให้
1. วินัยจะสร้างความตั้งใจ ความตั้งใจจะสร้างปัญญา ตัวอย่างเช่น เรากำหนดตัวเราว่าจะไม่โกหก จากนั้นเราก็ตั้งใจเพียงจะพูดความจริง ระวังไม่เผลอพูดโกหก เผลอไปก็ดึงสติกลับเข้ามาเริ่มใหม่ ทำจนติดเป็นนิสัย เราก็จะไม่เป็นคนโกหกตามปรารถนา
2. วินัย สร้างความน่าเคารพนับถือ แน่นอนคนเคารพกันที่ความประพฤติ ไม่ใช่เคารพเพราะฐานะหรือเงิน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวไว้ว่า “คบกันด้วยผลประโยชน์ พอผลประโยชน์ไม่มีก็เลิกคบ คบกันด้วยบารมี บารมีหมดก็เลิกล้ม คบกันด้วยอำนาจ อำนาจหมดก็ทิ้ง คบกันด้วยความพิศวาส ความพิศวาสหมดก็เจ็บปวด ต้องคบกันด้วยใจ ถึงจะเป็นอมตะ ทะนุถนอมวาสนาของกันและกัน ทะนุถนอมเวลา คิดแต่สิ่งดีๆ รู้บุญคุณคน ให้ความจริงใจ คบกันด้วยใจ มิตรภาพกัลปาวสาน”

3. วินัยเป็นเครื่องมือที่นำความรู้ลงสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศ วินัยเป็นกฎทอง เป็นข้อปฏิบัติที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศในการดำเนินชีวิตและการทำงาน เป็นเครื่องมือในการบรรลุสู่ความสำเร็จของชีวิต และของประเทศชาติ
4. วินัยต้องพัฒนา ที่แย่แย่ก็ควรเลิกปฏิบัติ นำแต่วินัยดีๆ ปฏิบัติ ให้เป็นนิสัยทำประจำ ทำอย่างถาวร ปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น ไม่ยึดปฏิบัติตามความเคยชินที่ไม่ดีในอดีต เปรียบเทียบวินัยเหมือนน้ำ น้ำโดยธรรมชาติจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ คนก็มีธรรมชาติ ถ้าปล่อย จิตใจก็จะไหลลงสูงที่ต่ำ ซึ่งก็จะไม่เป็นผลดีอะไรกับชีวิตและส่วนรวม น้ำจึงจำเป็นต้องมีภาชนะใส่เช่นแก้วน้ำ น้ำจึงอยู่ในกรอบ คนก็ต้องมีกรอบ กรอบของคนก็คือระเบียบวินัย กฎหมาย หรือจรรยาบรรณ เราต่อต้านกรอบ เท่ากับเราต่อต้านความเจริญ คนที่อยู่ในกรอบจึงจะเป็นผู้นำได้ ไม่ใช่ถูกกักขัง ไม่มีเสรีภาพ อย่างที่มีบางท่านชอบคิด การปฏิเสธวินัย กฎหมาย หรือกฎระเบียบ ก็เหมือนน้ำที่ปฏิเสธแก้ว ก็มีแต่จะไหลลงสู่เบื้องต่ำ การปฏิเสธวินัย ก็เหมือนการปฏิเสธความเจริญ
วินัยที่ดีเกิดจากอะไร เกิดจาก กาย วาจา ใจ วินัยเกิดจากการถูกบังคับ จะไม่ดี เพราะไม่ได้มาจากใจ คนต้องรักษาวินัยด้วยตนเองถึงจะดี ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ เราสามารถสร้างวินัยด้วยตัวเราเองเช่น วินัยด้านกาย เช่น เลิกนิสัยการแต่งกายแบบแย่ๆ หลุดโลก หรือแบบสมัยใหม่จ๋า เช่นนุ่งสั้น สายเดี่ยว นิสัยรักการเรียนรู้การอ่านหนังสือ ตั้งใจฟังผู้อื่น ตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มพูนความรู้ วินัยด้านใจ เห็นใจคนรอบข้าง มีเหตุมีผล ไม่ใช้เวลาเดินห้างจนเกินไป ไม่ดื่มเครื่องดื่มน้ำอัดลม เพราะดื่มมากมีปัญหากับสุขภาพ ใช่หรือไม่
วินัยด้านการกิน กินอาหารที่เป็นประโยชน์ทางโภชนาการ ไม่กินอาหารสำเร็จรูป กินอาหารตามธรรมชาติ เช่นน้ำมะพร้าว ทำให้สุขภาพดี กินพออิ่ม ไม่กินฟุ่มเฟือย ประเภท รายได้ต่ำรสนิยมสูงรัศมีการกินไกล
วินัยด้านการอยู่ อยู่แบบเรียบง่าย สบายใจ ไม่เป็นทุกข์ ไม่ยึดติด อ่อนน้อมถ่อมตน จงทำตัวเหมือนเหล็กก่อสร้าง เอาวินัยมาเป็นลวดผูกเหล็กที่จะเอามาทำโครงเหล็กห่อหุ้มด้วยคอนกรีต แล้วเอาไปทำเสาทำคานได้ “เอาอ่อนสร้างแข็งเหมือนเหล็กเส้นต้องอาศัยลวดผูกเหล็ก”
การสร้างวินัยให้กับตนเอง ไม่ต้องรอส่วนรวม ไม่ต้องรอเพื่อนๆ ให้เขามีก่อนแล้วเราจึงจะมี เรามี เราได้ประโยชน์ของเราไม่ต้องไปรอใคร จำเป็นต้องใช้สมาธิ จำเป็นต้องมีระเบียบวินัย เหมือนแก้วน้ำ เหมือนไก่ต้องมีสุ่มไก่ สมาธิเป็นสากลใช้ได้กับทุกศาสนา ไม่ใช่เป็นของศาสนาหนึ่งศาสนาใด แต่การฝึกสมาธิต้องมีเจ้าของกำหนด ฝึกด้วยตนเอง คนอื่นมากำหนดสมาธิเราไม่ได้ เราต้องฝึกด้วยตัวเราเอง วินัยของแต่ละคน แต่ละคนสร้างเอง ใช่ว่าเป็นการบังคับ หรือไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นเสรี ที่ไหนๆ ก็ต้องมีวินัย กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ วัฒนธรรม และจรรยาบรรณ
การสร้างนิสัยของตนเอง เพื่อเป็นคนมีวินัย มีวิธีคือ 1. มีศูนย์ยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น ทำเพื่อครอบครัว เพื่อภรรยา เพื่อลูก เพื่อหน้าที่การงาน 2. ศรัทธาที่จะทำโดยความประสงค์ ไม่ใช่จำใจ หรือโดนบังคับ 3. หาเครื่องบำรุงจิตใจ เช่นแบบอย่างของบุคคลตัวอย่าง หาของดลใจที่ให้คุณกับเรา 4. สร้างบรรยากาศให้น่ารักษาวินัย 5. มีเครื่องเตือนสติอยู่บ่อยๆ หากออกนอกกรอบระเบียบวินัย 6. ทำซ้ำๆ บ่อยๆ จนเคยชินแล้วเป็นความประพฤติของตนเอง บังคับ ใครใคร ที่ไหนเล่า บังคับ ตัวเรา จะดีกว่า บังคับใคร ได้หมด ทั้งโลกา บังคับอัตตา ตนเอง เสียก่อนเอย.
Comments