วินัยพื้นฐานของผู้ประเสริฐ
- advancedbizmagazine
- 28 ก.ย. 2558
- ยาว 2 นาที

วันหยุดหลายวันทำให้พอจะมีเวลาว่างนั่งนึกอะไรเรื่อยเปื่อย วกไปเริ่มตั้งแต่สมัยทำงานใหม่ๆ เมื่อเกือบห้าสิบปีมาแล้ว เรื่องที่โค้ชแนะนำกันเป็นประจำ ก็มักจะเป็นการสร้างนิสัยดีๆ ในการทำงาน การพัฒนาบุคลิกภพขั้นพื้นฐาน การสร้างสัมพันธภาพหรือมนุษย์สัมพันธ์กับผู้ร่วมงานและลูกค้า ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยแน่ใจว่ายังมีการแนะนำ การฝึกปฏิบัติสิ่งเหล่านี้กันอีกหรือไม่ หรือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานธรรมดาๆ จนไม่จำเป็นต้องเอ่ยกันแล้ว หรืออาจจะเป็นเรื่องที่เสียเวลาเปล่า ถ้าไปแนะนำสั่งสอนเรื่องอย่างนั้น ไม่ทันทำมาหากินในยุคที่ต้องแข่งขันกันและเวลาเป็นเงินเป็นทอง
พอดีบรรณาธิการไลน์มาขอต้นฉบับ บอกว่า อย่างอื่นเสร็จหมดแล้ว เหลือของผมเพียงคอลัมน์เดียวเท่านั้น ก็เลยนึกเอาเรื่องที่รับเรียนรู้เก่าๆ ในอดีตเล่าสู่กันใหม่ เขียนตามความจำ นึกคิดเอา เพราะอยู่กับบ้าน ส่วนมากอะไรๆ ที่จะค้นคว้าเพื่อเขียนบทความจะอยู่ที่ทำงานเสียเป็นส่วนมาก
สมัยเกือบห้าสิบปีมีหลักสูตร “ การขายสมัยใหม่ ” ของศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพ (อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์เป็นผู้อำนวยการ คนสอนเสียชีวิตไปแล้วชื่ออาจารย์สมบัติ หมัดป้องตัว) จำได้ว่าเขาสอนหลักการพัฒนาบุคลิกภาพของนักขาย ให้ฝึกฝน และควบคุมตนเองให้ปฏิบัติหลักหกประการให้เป็นนิสัยประจำ ตลอดทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน รวมทั้งในสังคม ปรากฏตัวเมื่อใดจะต้องมีบุคลิก หกประการนี้
ยิ้มแย้มบนใบหน้าอยู่เสมอ ยิ้มอย่างสวยงาม น่ารัก และประทับใจคนเห็น
ปากพุด ทุกคำพูดที่พูดออกมาให้เป็นน้ำทิพย์น้ำมนต์ น้ำใจ พูดอย่างสร้างสรรค์ สุภาพอ่อนโยน ให้เกียรติ ให้กำลังใจ และเป็นคำพูดที่เป็นบวกตลอดเวลา
ตา มีแววตาที่มองผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ อยากช่วยเหลือ มีเมตตา และเอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ
มือ จงใช้มือสัมผัสแสดงออกด้วยความสุภาพอ่อนโยน อบอุ่น แสดงความเคารพด้วยการยกมือไหว้ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผู้ที่ถ่อมตนจะได้รับเกียรติถูกยกให้สูงขึ้น
ใจ มีจิตใจที่เมตตา กรุณา ใจกว้าง ใจสูง ใจเอื้ออาทร ใจที่เสียสละ ใจที่ให้อภัย ใจที่มีความกตัญญู จะเกิดความสงบสุขและสันติที่มั่นคง
ความคิด จงมีความคิดบวก คิดดี คิดสร้างสรรค์ คิดเป็น คิดให้เกิดพลังในการทำงาน และการดำเนินชีวิต
จะทำอะไรให้ใส่ความรักลงไป ความรักที่แท้จริงคือการให้ ไม่มีกิจกรรมใด ๆยิ่งใหญ่เท่ากับกิจกรรมแห่งกการให้ เรายิ่งให้เรายิ่งได้ ไม่มีเสีย ให้การช่วยเหลือผู้อื่น การขายคือการให้ ถ้าคิดอย่างนี้ การขายของเราก็จะประสบความสำเร็จ พอเขียนถึงตรงนี้ก็นึกถึงคำขวัญ “ Insurance is Love ” ประกันชีวิตคือความรัก ของบริษัทประกันชีวิตบริษัทหนึ่ง เดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ค่อยเอามาใช้แล้ว แต่คิดว่าน่าจะเป็นอมตะวาจาได้เลย ผมชอบมากพอได้ยิน คือถ้าไม่มีความรัก ก็ ไม่มีการทำประกันชีวิต ก็จะไม่มีอาชีพคนประกันชีวิต
พูดถึงนิสัยที่ดี สำคัญ และจำเป็นในการทำธุรกิจ แต่กล่าวกันว่าเป็นจุดอ่อนของคนไทยในสมัยนั้น ( ผมว่าสมัยนี้ก็คงเหมือนกัน ) และอาจารย์มักจะเอาไปเปรียบเทียบกับประเทศที่เขาเข้มแข็งในนิสัยนี้ก็คือ “ ความซื่อตรง ” จังหวะนั้นผมได้รับรางวัลจากการทำงานให้ไปสัมนาศึกษาเรียนรู้การทำงานของคนประกันชีวิต ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลายาวนาน แทบจะกลายเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตที่ญี่ปุ่นไปเลย ติดตรงที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ ก็เลยเป็นไม่ได้ แต่ก็ซึมซับนิสัยดี ๆ กลับมา เพราะเห็นว่าถ้าตนเองปฏิบัติก็จะเกิดความเจริญเติบโตให้แก่ตนเอง อาทิเช่น การเป็นคนตรงต่อเวลา การทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรอุตสาหะ การเป็นคนมีวินัยในตนเอง และที่สำคัญคือ
“ ความซื่อตรง ” เราควรมีการปลุกจิตสำนึกให้มีนิสัย ห้าประการคือ
1.ความซื่อสัตย์สุจริต
2.ความวิริยะอุตสาหะ
3.ความมุ่งมั่นในผลสัมฤทธิ์ของงาน
4.การรักษาวาจาสัตย์และคำมั่นสัญญา
5.ทำตนเป็นที่เชื่อถือ ศรัทธา ของบุคคลทั่วไป
ข้อที่ 1-3 เป็นความซื่อตรงต่อตนเอง และข้อที่ 4-5 เป็นความซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไป
“ความซื่อตรง ” เป็นคุณค่าที่สร้างให้คนในสังคม เป็น “ มนุษย์ที่สมบูรณ์ ” โดยกำหนดลักษณะของคนซื่อตรงได้ว่า “ มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ให้สำเร็จตามภารกิจอย่างงดงาม ด้วยความมุ่งมั่น ขยัน อดทน และยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ความถูกต้อง ชอบธรรม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ” ( อ้างอิงข้อมูลจาก จากสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า ) พอมีเวลาว่าง ก็เลยไปค้นคว้าเพิ่มเติมมาเล่าสู่กันฟัง

คำว่า “ ความซื่อตรง ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Integrity คำนี้มาจากภาษาลาตินว่า Integer ซึ่งแปลว่า ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นจำนวนเต็ม สรุปได้ว่า “ ความซื่อตรง ” หมายถึงความประพฤติตรง ไม่เอนเอียง ไร้เล่ห์เหลี่ยม ไม่คดโกง การกระทำที่ซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา ประพฤติปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอทั้งต่อหน้าและลับหลัง การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม มาเลเซียได้กำหนด “ National Integrity Plan” หรือแผนความซื่อตรงแห่งชาติ โดยให้ความหมายของความซื่อตรงว่า การบ่งบอกถึงคุณภาพเชิงประจักษ์ความดีแบบองค์รวม และพฤติกรรมที่มีความสำคัญต่อองค์กร ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอ้นเดียวของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยการกระทำของบุคคล เป็นอันเดียวกันของการพูดและการกระทำของบุคคล และการกระทำนั้นเป็นไปตามศีลธรรม คุณธรรมและกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่ขัดกับผลประโยชน์ของส่วนรวม
ในสังคมนานาชาติ การสร้างความซื่อตรง เป็นแผนแห่งชาติ ที่ถือเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ สำหรับประเทศไทย ความซื่อตรงเป็นหลักคุณธรรมของชาติ ที่ได้รับการกล่าวถึงในทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นธรรมของผู้ปกครองและหลักราชการสำหรับเป็นหลักปฏิบัติของข้าราชการไทย
แต่เชื่อได้ว่า ความไม่ซื่อตรงก็ยังเป็นปัญหาของข้าราชการไทย ของข้าราชการการเมือง จนถึงนักธุรกิจและผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายในประเทศไทย จนดูเหมือนว่าการไม่ซื่อตรงเป็นเรื่องปกติสำหรับคนไทยเสียแล้ว เป็นค่านิยมประการหนึ่งเลยก็ได้ที่จะไม่ซื้อตรงเมื่อมีโอกาส มีจังหวะ มองว่าเป็นความสามารถ หรือความชาญฉลาดที่สามารถฉกฉวยโอกาส เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นได้
เมื่อสอนเรื่องความซื่อตรงในการทำงานอาชีพ หรือบรรยายเรื่องจรรยาบรรณในวิชาชีพ ก็เหมือนกับต้องบรรยายไปเช่นนั้น เพราะผู้ปฏิบัติจะได้รับการแนะนำจากผู้ใกล้ชิดไปอีกแนวทางหนึ่ง การฟังเราก็ดูเหมือนว่าฟังเพื่อรู้ ส่วนวิธีปฏิบัติอาจจะเป็นอีกเรื่อง เพราะในโลกของธุรกิจปัจจุบัน ต้องฉกฉวยโอกาส ต้องหาทางให้ได้ซึ่งประโยชน์มากกว่า เชื่อว่าแม้กระทั่งผู้บริหารในบริษัทเอง ก็ไม่ได้ไปสนใจกับเรื่องนี้นัก เพียงแต่อย่าให้มีผลกระทบกับบริษัทเท่านั้น( เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองฝ่ายเดียว ) แต่น่าจะเป็นที่รับได้ว่า ความไม่ซื่อตรงก็ยังเป็นนิสัยที่แก้ไม่ได้ของคนไทยจำนวนไม่น้อย และหากผู้มีบทบาท ผู้มีอำนาจยังไม่ใส่ใจในความสำคัญ ความไม่ซื่อตรงก็จะติดเป็นนิสัยของคนไทยไปตลอดอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ท่านองคมนตรีศาสตราจารย์ ธนินท์ กรัยวิเชียร กล่าวไว้น่าคิดว่า “ คนที่จะเป็นคนเต็มคนนั้น ต้องมี “ Integrity ” เป็นคุณธรรมประจำตัว ความซื่อตรงเป็นการยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม โดยต้องมีความหนักแน่นความหน้าเชื่อถือ ยึดมั่นในหลักการและความถูกต้อง ”
ในแต่ละวิชาชีพจะมีจรรยาบรรณ เพื่อเป็นกรอบความประพฤติในการทำงานร่วมกัน อย่าให้จรรยาบรรณของวิชาชีพแต่ละท่านเป็นเพียงแค่การะดาษข้อความ พิจารณาดูเถิด มีข้อปฏิบัติที่ทำให้เราเป็นคนซื่อตรงเกินครึ่ง เริ่มตั้งแต่การซื้อตรงต่อลูกค้า ต่อองค์กร และต่อเพื่อนร่วมอาชีพ การพูดคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างตรงไปตรงมาไม่คลุมเครือ การขายที่ไม่ใช่จ้องทีจะขายเพื่อเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ ไม่พิจารณาความพร้อมในการซื้อของลูกค้า การไม่กล่าวให้ร้ายองค์กรอื่นหรือบุคคลอื่น การประพฤติตนด้วยเกียรติศักดิ์ศรี ศีลธรรม และคุณธรรมแห่งอาชีวปฏิญาณ อ่านแล้วก็ล้วนแต่ข้อปฏิบัติดี ๆ ทั้งนั้น ถ้าได้ทำเป็นประจำ เราจะเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน ในสังคม และในชีวิตครอบครัว เพียงแต่เราต้องทำให้ติดเป็นนิสัยอันถาวรเท่านั้น
ทีนี้นึกเอาเถอะว่า ถ้าเราคนที่อยู่ในวิชาชีพยังไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพแล้ว “ ใครหน้าไหนจะทำ” ครับ
Comments