กรมส่งเสริมการค้าฯเผยเอกชนไทยสู้ไม่ถอย เข้าร่วมเสวนา"จับตาแอฟริกา"
- advancedbizmagazine
- 24 ส.ค. 2558
- ยาว 1 นาที

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเจาะตลาดใหม่เพื่อเพิ่มการส่งออกของไทยตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ว่า จากการเดินทางไปแอฟริกาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นำโดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและ 3 สถาบันเอกชน กรมฯได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องด้วยการจัดเสวนา “จับตาแอฟริกา : Eyes on Africa” เพื่อผลักดันการดำเนินธุรกิจไทยในต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการไทยต่อตลาดแอฟริกา โดยมีทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออกและนักธุรกิจไทยเข้าร่วมราว150 บริษัท
ทั้งนี้ประเทศในทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่มีความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับการปรุงกฎระเบียบการค้า การลงทุนให้เป็นสากลมากขึ้น แอฟริกาจึงได้รับความสนใจจากนักธุรกิจทั่วโลกมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ มีคนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในแอฟริกา โดยในปี 2556 การลงทุนมีมูลค่าถึง 57 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 7% เพื่อเทียบกับปี 2555 ประเทศที่ต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนเรียงตามลำดับ ดังนี้ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย กานา โมร็อกโค ตูนีเซีย อียิปต์ เอธิโอเปีย แอลจีเรีย รวันดา แทนซาเนีย
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ด้านการค้านั้น แอฟริกาเป็นระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่(emerging market) มีขนาดประชากรมากถึง 1,100 ล้านคน นับได้ว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ การใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยรวมในทวีปมากถึง 714 พันล้านเหรียญฯ และด้วยกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของประชากรระดับกลางที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการอพยพของประชากรจากชนบทเข้าอาศัยในเมืองมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าในทวีปมีมูลค่ามากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 ซึ่งตรงกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดว่าตั้งแต่ปี 2557 – 2561 จีดีพีของแอฟริกาจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 4.5% และในปี 2559 จะขยายตัว 5.1% โดยประเทศที่จีดีพีขยายตัวมากเรียงตามลำดับ ดังนี้ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ อียิปต์ แอลจีเรีย มอร็อกโก อังโกลา เอธิโอเปีย ตูนีเซีย
“ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวกับการเพิ่มศักยภาพและการขยายตลาดให้กว้างขวาง ท่ามกลางสถานการณ์บริเวณแยกราชประสงค์ที่เกิดขึ้น ไม่มีเอกชนรายใดยกเลิกการร่วมงาน รวมถึงผู้บรรยายที่มาจากต่างประเทศก็เข้าร่วมเสวนา พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นในระหว่างการเสวนาว่า จะนำเศรษฐกิจไทยร่วมกันผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นไปด้วยพลังความตั้งใจ มุ่งมั่น ด้วยแรงผนึกกำลังกันของภาครัฐและภาคเอกชนไทย "นางนันทวัลย์ กล่าวและว่า ผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจที่แอฟริกา อาทิ บริษัท กรีนสปอต(จำหน่ายไวตามิ้นท์ในกานา ไนจีเรีย) บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง(จำหน่ายวัสดุก่อสร้างในแอฟริกาฝั่งตะวันออก)
สำหรับผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน เป็นกลุ่มอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร ะพลังงานทางเลือก เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สปา เวชภณฑ์ เป็นต้น โดยได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย (H.E. Ms. Robina Patricaia Marks) กล่าวสุนทรพจน์ พร้อมด้วย Ms. Celeste Fauconnier เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ภูมิภาคแอฟริกา ธนาคาร Rand Merchant Bank Mr. Alhakam Dader กรรมการผู้จัดการ บริษัท Distell Ghana Limited (กานาและแอฟริกาใต้) Mr. Andrew Thompson ตำแหน่ง Development and Sales Director เครือ E - Lan Property ในภาคบ่าย มีทูตพาณิชย์ นายจักรินทร์ โกมลศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย นายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ อาบูจา คุณน้ำเพชรตติยวงศ์ General Manager - International Business บริษัท Green Spot คุณธนา เทวนิยมพันธ์ Sales and Channel Manager บริษัท Myanmar CBM Service ในเครือ SCG
ทั้งนี้แอฟริกาใต้เป็นตลาดที่น่าจับตามองของประเทศอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นนักธุรกิจไทยต้องเปลี่ยนมุมมองต่อประเทศแอฟริกาใต้ เพราะนอกจากจะเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รวมไปถึงรถยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ และเม็ดพลาสติกแล้ว ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจเข้าไปลงทุน เช่น ร้านอาหาร สปา สินค้ากลุ่มเพื่อสุขภาพและความสวยงาม
มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับทวีปแอฟริกาช่วง 6 เดือนแรกปี 2558 มีมูลค่า 4,508 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการ ส่งออก 3,448 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นมูลค่าส่งออกไปยังแอฟริกาใต้ 1,014 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 29 % ของการส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา
Comments