เปิดทำเนียบสุดยอดนักบริหารแห่งปี 2558 : นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์
- advancedbizmagazine
- 19 ส.ค. 2558
- ยาว 1 นาที

THE TOP 100 EXECUTIVES OF THE YEAR 2015 : ก้าวแต่ละก้าว ปีแต่ละปีที่ นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นำนาวาไทยสมุทรเติบโตแข็งแกร่งขึ้นทุกปี และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กรให้มีบุคลิกที่กระฉับกระเฉง มีสีสันน่าสนใจขึ้น ซึ่งองค์กรก็เหมือนเรือลำใหญ่ ที่ต้องการให้ทุกคนคิดและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะทำให้เรือลำนี้แล่นไปได้เร็ว จึงสามารถนำพาให้บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
ในการประกอบธุรกิจ เก่งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเมื่อคิดจะทำธุรกิจใดๆ ก็ตามต้องรักที่จะทำ และมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับมัน พร้อมต้องลงมือศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจังด้วย จึงจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ซึ่งเหล่านี้คือตัวตนของนุสรา ที่สามารถยกเครื่องให้ไทยสมุทรประกันชีวิตสามารถยืนหยัดอยู่ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่ดุเดือดในธุรกิจประกันชีวิต “ตอนนี้องค์กรเราเหมือนเรือลำใหญ่ ที่ต้องการลูกเรือที่ขยัน ทุ่มเท และในฐานะกัปตันเรือเราจะต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือหาตัวช่วย เรือจะได้ไม่กิน น้ำมันมาก ลูกเรือของเราไม่ต้องทำงานเยอะ แต่เรือก็สามารถวิ่งได้ฉิว และฝ่าคลื่นลมได้เป็นร้อยปี การแกะโจทย์ดังกล่าวจึงนำไปสู่ 2 เป้าหมายหลักๆ ที่นับว่าท้าทายยิ่งสำหรับไทยสมุทรประกันชีวิต
ข้อแรก การเป็น low-cost producers ของตลาดรากหญ้า ซึ่งทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าใหญ่คือความได้เปรียบเล็กยิ่งมีต้นทุนสูง และความเสียเปรียบที่เกิดขึ้นนี้นุสราแก้ไขด้วยการลงทุนระบบไอที “แต่ที่สุดจะสามารถลดต้นทุนได้เท่าไหร่ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ยังไม่ชัดเจนแต่เป็นภาพความฝันที่ต้องใช้เวลา”
ข้อที่สอง การสร้างศักยภาพโดยขยายไปยังตลาดบีบวก ในที่นี้คือหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดไม่ใช่หมายถึงกรุงเทพเท่านั้น แม้จุดแข็งของไทยสมุทรประกันชีวิต ก็คือสาขาที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ แต่ด้วยความแตกต่างกันแบบสุดขั้วของลูกค้าทั้งสองกลุ่มจึงเป็นความท้าทายของพวกเรา
หน้าที่ของผู้บริหารก็ต้องฝันให้ไกล แม้สุดเอื้อมก็ต้องฝัน และหากฝันนั้นเป็นจริงก็หมายถึงผลกำไรขององค์กร หากแต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็ด้วยการสื่อสาร เบื้องต้นคือต้องสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับคนในระดับผู้บริหาร ในที่นี้ต้องมีลักษณะที่เป็นทูเวย์คือสื่อสารจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบนด้วย เพื่อให้ผู้บริหารในทุกสายงานเกิดความเชื่อ คล้อยตามและนำไปขับเคลื่อนต่อ ซึ่งผู้บริหารที่มีศักยภาพมักจะทำงานด้วยความเข้าใจและต่อยอดความคิดได้ “Critical Thinking Logical thinking และ systematic thinking คือคุณสมบัติที่ผู้บริหารต้องมี การจะมีสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราสื่อสารกันอย่างเข้าใจง่ายๆ ด้วยเหตุและผล เช่น เมื่อตัวเลขเป็นแบบนี้มันมีปัญหาอะไร จะแก้ไขอย่างไร เราจะเปรียบเทียบคู่แข่งแล้ววิเคราะห์ออกมาได้อย่างไร องค์กรเราจะเดินอย่างนี้เพราะอะไร เมื่อเกิดความเข้าใจที่สุดก็จะเกิดแรงสนับสนุนทันที
ถ้าคนในเรือคิดหรือเดินไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะทำเรือลำนี้แล่นไปได้เร็ว แต่เป็นปกติที่จะมีคนที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เหมือนกับเอาพายถ่วงน้ำไว้เฉยๆ ก็ต้องไป แต่เราก็ต้องพูดดีๆ และให้โอกาสเขาก่อน เปรียบการเปลี่ยนแปลงก็เหมือนการฉีดยาแรง ที่อาจทำให้คนไข้ช็อค แต่จะไม่ฉีดยาก็คงไม่ได้ และเป็นความจริงที่ว่า ความสำเร็จไม่อาจเสกให้เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่นี่ก็เป็นโอกาสพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของทุกๆ คน”
ปล.ท่านผู้อ่านสามารถอ่านฉบับเต็มและติดตามอ่าน รวมทั้งหมด 100 ท่านได้ ในหนังสือ "THE TOP 100 EXECUTIVES OF THE YEAR 2015"