เปิดทำเนียบสุดยอดนักบริหารแห่งปี 2558 : บัณฑูร ล่ำซำ
- advancedbizmagazine
- 15 ส.ค. 2558
- ยาว 1 นาที

THE TOP 100 EXECUTIVES OF THE YEAR 2015 : นักธุรกิจผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและสังคมอย่างสร้างสรรค์มากที่สุดในยุคนี้ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย นายธนาคารผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล พร้อมไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้นำธุรกิจที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งในบทบาทผู้นำธนาคารไทยที่โดดเด่น ไม่ว่าจะมองจากผลประกอบการและระบบการบริหารของธนาคาร และบทบาทนักพูดในสังคมธุรกิจ โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยอยู่ในสภาวะผันผวนและขาดเสถียรภาพ เขาเป็นคนพูดตรง เวลาวิพากษ์วิจารณ์อะไรมักจะบอกออกมาตรงๆ และสิ่งที่เขาพูดมีประเด็นที่น่าสนใจแฝงด้วยนัยสำคัญหลายๆ เรื่องทั้งธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม บัณฑูร ล่ำซำ ตั้งอยู่ในความเชื่อของความดี ความถูกต้องและประสิทธิภาพประกอบกับมีประสบการณ์ในการบริหารด้วยแนวคิดอันเข้มข้นนั้นจนประสบความสำเร็จ ปัญหาของสังคมในสายตาของเขาเป็นเรื่องน่าวิตกอย่างมากอย่างไรก็ตาม เขาก็ทุ่มเทกับธนาคารกสิกรไทยต่อไปท่ามกลางการแข่งขันกับธนาคารระดับโลกที่ดุเดือดขึ้นทุกวันเป็นภารกิจที่มีพันธะกับผู้ถือหุ้นอย่างมากทีเดียว โดยที่เขาไม่มีความสนใจที่จะเป็นนักการเมืองในขณะนี้เลย
“ผมเชื่อว่า คำว่า CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบของวิสาหกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย คือ ผู้ถือหุ้นลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคมได้ถูกบิดเบือนไปเป็นอันมากในปัจจุบัน ด้วยการพยายามแปลงให้เป็นการ “ทำดี” หรือการให้ (แบบลูบหน้าปะจมูก) มากกว่าที่จะกล่าวถึงความสำนึกรับผิดชอบโดยไม่ละเมิดต่อ ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นประเด็นหลักของ CSR ผมยังเชื่อว่าการบิดเบือนนี้กระทำโดยมุ่งหวังที่จะไม่รับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า ถ้าเรายึดถือแต่ความดีลอยๆ โดยไม่ยึดกฎหมาย ก็อาจตีความเลยเถิดไปว่า “แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดจริยธรรม” การบังคับให้คนทำในสิ่งที่ไม่ใช่ “หน้าที่ตามกฎหมาย” อาจเป็นการตัดสินคนอื่นตามอำเภอใจ ในโลกนี้ อาจมีคนเล็ดรอดจากช่องโหว่ของกฎหมายเพียงน้อยนิดบ้าง ซึ่งคงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเร่งออกกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
ในทางตรงกันข้ามทุกวันนี้กลับมีคนอ้างคุณธรรม แต่ละเมิดกฎหมายเป็นอาจิณ ผมเคยเขียนไว้ว่า ปัญหาสังคมทุกวันนี้ ไม่ใช่อยู่ที่คนทำดีน้อยไป แต่อยู่ที่คนละเมิดกฎหมายมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิสาหกิจหลายแห่งอาจดูแลแต่ผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ที่เป็นผู้ถือหุ้น แต่กลับละเมิดต่อลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ชุมชุนหรือสังคม
สิ่งที่เราควรส่งเสริมก็คือ การทำธุรกิจให้สง่างาม ไม่ฉ้อโกงคนอื่นเพื่อความอยู่รอด ไม่ปลิ้นปล้นหลอกลวงเพื่อความสำเร็จ เราควรส่งเสริมจริยธรรมที่ว่า เราไม่ควรทำธุรกิจประเภท “พายเรือให้โจรนั่ง” หรือ “ให้โจรพายเรือให้เรานั่ง” ประสบความสำเร็จโดยไม่เลือกวิธีที่ใช้ในการทำธุรกิจ เราควรส่งเสริมให้ผู้ริเริ่มประกอบธุรกิจ เลือกธุรกิจที่ไม่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย เรายังควรเสริม CSR ด้วยการส่งเสริมให้วิสาหกิจทั้งหลายดำเนินงานตามควรลองของกฎหมาย ไม่ละเมิดกฎหมายเฉพาะในอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือไม่ละเมิดกฎหมายทั่วไป เช่น การฉ้อโกง เป็นต้น ที่สำคัญเราควรส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรตรวจสอบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อป้องปรามการละเมิดกฎหมายโดยเคร่งครัด”
ปล.ท่านผู้อ่านสามารถอ่านฉบับเต็มและติดตามอ่าน รวมทั้งหมด 100 ท่านได้ ในหนังสือ "THE TOP 100 EXECUTIVES OF THE YEAR 2015"
Commentaires