กรมส่งเสริมการค้าฯเผยส่งออก 5 เดือนไปออสเตรเลียพุ่งกว่า 15%
- advancedbizmagazine
- 20 ก.ค. 2558
- ยาว 1 นาที

นันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการเจาะตลาดเพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าไทยตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ว่า การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียในช่วง 5 เดือน(ม.ค.-พ.ค.)ที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 15.45% หรือ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,976 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ โดยสินค้าไทยส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ และส่วนประกอบ รองลงมาเป็น เหล็ก เหล็กกล้า เครื่องปรับอากาศส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกล เครื่องสำอาง รักษาผิว และ เครื่องคอมพิวเตอร์
ส่วนการนำเข้าลดลง 18% หรือมีมูลค่ากว่า 1,783 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ สินค้านำเข้าจากออสเตรเลียสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินแร่โลหะอื่นๆ พืช/ผลิตภัณฑ์จากพืช ถ่านหิน เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้า นมและผลิตภัณฑ์ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค และเครื่องจักรกล
ความเคลื่อนไหวของประเทศออสเตรเลียที่สำคัญ คือ ธนาคารเอเอ็นแซท(ANZ) ได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในไทย ภายหลังจากได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารอย่างสมบูรณ์จากกระทรวงการคลัง โดยเน้นให้บริการแก่ลูกค้า นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดสภาพคล่องทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ เป็นการให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้น นับตั้งแต่มกราคม 2558 ซึ่งภาษีนำเข้าสินค้าไทยไปออสเตรเลียเป็น 0% ตามความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA)
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ภายหลังจากความตกลงฯมีผลใช้บังคับมีสินค้าเกษตรและสินค้ายานยนต์ ส่งออกไปออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากออสเตรเลียจะปิดการผลิตรถยนต์ใน 1- 2 ปีข้างหน้า เพราะค่าแรงงานสูง แต่ออสเตรเลียจะหันมาเปิดตลาดในธุรกิจบริการที่มีศักยภาพแทน อาทิ ด้านการเงินการธนาคาร ซึ่งผู้บริหารของ ANZ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การเปิดสาขาธนาคาร ANZ ในศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มเครือข่ายบริการของธนาคาร ANZ ให้ขยายไปทั่วภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมการให้บริการในเวียดนาม กัมพูชา พม่าและลาว เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและอุตสาหกรรมในเขตอาเซียนและจะเป็นกลไกสำคัญต่อการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายบริการทางการเงินของธนาคารไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสุดยอดกลยุทธ์ระดับภูมิภาค(super regional strategy)ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
นันทวัลย์ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียรายงานถึงผลวิจัยจากบริษัท รอย มอร์แกน(Roy Morgan Research) ระบุว่า ผู้บริโภคออสเตรเลียกว่า 14 ล้านคนมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 10 ปี โดยปัจจัยสำคัญที่มีต่อการซื้อสินค้าในร้านขายของชำจะเน้นที่ความคุ้มค่า ความปลอดภัยของอาหาร และความสะดวกโดยซื้อจากร้านใกล้บ้าน ประมาณว่าผู้บริโภค 12 ล้านคนทั่วประเทศจับจ่ายซื้อของในห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
ในช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 6 ปีอันเป็นผลจากสถานการณ์ประเทศกรีซ ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียได้ติดตามสังเกตสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตน โดยได้เริ่มและได้เร่งกำหนดนโยบายทางการเงินเพื่อรับมือต่อไป สวนทางกับการศึกษาทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียในอีก 12 เดือนข้างหน้า พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียขยายตัว 2% สูงสุดในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา เชื่อว่ารายได้เฉลี่ยจะอยู่ในระดับปานกลางโดยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ความต้องการซื้อสินค้าในภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 2 ปี คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 ความต้องการในตลาดแรงงานและอัตราการว่างงานจะสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจและมีผลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลต่อไป
Comments