กรุงศรี ออโต้ เดินหน้าโครงการ ‘กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์’ รุกให้ความรู้ด้านการเงิน
- advancedbizmagazine
- 15 ก.ค. 2558
- ยาว 2 นาที

“กรุงศรี ออโต้” ผู้นำธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ เครือกรุงศรี จัดสัมมนา “กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์” ในหัวข้อ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษก็มา อาเซียนก็มี รู้ก่อนวันนี้ ปีหน้าร่ำรวย’ ที่จังหวัดเชียงราย เสริมศักยภาพผู้ประกอบการชายแดนไทย – พม่า ให้เตรียมพร้อมรับโอกาสทางธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปี 2558 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ที่เชี่ยวชาญด้าน AEC เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการค้าชายแดนไทย-พม่า มาร่วมงานสัมมนา หวังชี้แนะโอกาสทางธุรกิจและลู่ทางการลงทุนตามแนวชายแดนไทย-พม่า รวมถึงลาว และจีนตอนใต้ในเขตมณฑลยูนนาน ตลอดจนเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการวางแผนธุรกิจและบริหารจัดการการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในเขตภาคเหนือ พร้อมทั้งยกระดับธุรกิจท้องถิ่นให้แข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน

ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) เผยถึงโครงการกรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์ ว่า “กรุงศรี ออโต้ ดำเนินธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (RL: Responsible Lending) ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR ซึ่งโครงการ กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์ นั้น ถือเป็นหนึ่งในโครงการ CSR ของเรา ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ความรู้การบริหารจัดการการเงิน และส่งเสริมการบริหารการเงินให้กับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และบุคคลทั่วไป สำหรับปี 2558 เราจัดโครงการนี้ขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ภายใต้หัวข้อ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษก็มา อาเซียนก็มี รู้ก่อนวันนี้ ปีหน้าร่ำรวย’ ด้วยเล็งเห็นว่าการประกาศให้จังหวัดเชียงรายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแนวชายแดนไทย – พม่า จะก่อให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจและการลงทุนในหลายด้าน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการคมนาคมขนส่ง ศูนย์กลางการกระจายสินค้า ฯลฯ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปลายปีนี้ การลงทุนต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินจำนวนมหาศาล และโอกาสทางธุรกิจอีกมากมาย เราจึงมีแนวคิดที่จะให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งด้านการวางแผนธุรกิจและการจัดการด้านการเงิน การหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและขยายลู่ทางการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถพัฒนาธุรกิจใหม่หรือสร้างรากฐานให้กับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้แข่งขันได้ในตลาดอาเซียน”

ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ให้ความเห็นว่า “การประกาศให้จังหวัดเชียงรายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 นับเป็นโอกาสที่ดีในการเตรียมความพร้อมของจังหวัด ทั้งในเเง่ของการจัดสรรพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่จะมาลงทุนในเขตกลุ่มอำเภอชายแดน 3 อำเภอหลักคือ แม่สาย เชียงของ และเชียงแสน สำหรับธุรกิจที่ควรลงทุนเมื่อมีการเปิด AEC คือ ธุรกิจด้านการค้า การท่องเที่ยวที่จะเชื่อมโยงพื้นที่ แม่สาย เชียงของ เชียงตุง บางพื้นที่ของลาว และจีนตอนใต้ และธุรกิจอาหารแช่แข็ง ที่มีความต้องการอย่างมาก เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบนี้มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงและค่อนข้างกันดาร นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การทำความรู้จักกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น รู้ว่าแต่ละประเทศต้องการอะไร กำลังวางแผนทำอะไร และต้องเป็นพันธมิตรกับเพื่อนบ้านทุกประเทศไม่เฉพาะเมืองตามแนวเขตชายแดน แต่ควรจะเข้าไปทำความรู้จักตลาดในเมืองชั้นในของประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น เพราะโอกาสตรงนั้นยังมีอยู่อีกมาก ถ้าเราเข้าไปก่อน ก็จะได้เปรียบมากกว่า”
ด้านเอกชนที่มีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลข่าวสารแก่ภาครัฐนั้น ดร. อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า “เชียงรายเป็นจังหวัดมีศักยภาพสูงมาก ในการพัฒนาด้านการค้าชายแดน ธุรกิจโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว โดยมีการค้าชายแดนและการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนเป็นจุดดึงดูดสำคัญ เมื่อเข้าสู่ AEC แล้ว ทางหอการค้าฯ มุ่งที่จะให้การส่งเสริม 4 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมผลิตยาสมุนไพร เพื่อรองรับตลาดจีน อุตสาหกรรมพลาสติกเพื่อขึ้นรูปเป็นแพ็กเกจจิ้งสำหรับสินค้าเกษตรประเภทต่างๆ อุตสาหกรรมเกษตร เช่น ข้าวสาร ชา กาแฟที่มีชื่อเสียงระดับโลก และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเชียงรายมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน สำหรับการส่งเสริมธุรกิจ SME ในจังหวัดเชียงรายนั้น การได้รับการสนับสนุนจากธนาคารและภาครัฐในการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทางการค้าที่เข้มแข็ง จะทำให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น”

เมื่อเจาะลึกลงมาที่เขตการค้าชายแดนอำเภอแม่สาย และตลาดแม่สาย นางผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าอำเภอแม่สาย ผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในตลาดชายแดนไทย – พม่า ในอำเภอแม่สาย – ท่าขี้เหล็ก กล่าวว่า “การจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายให้ได้ผลอย่างเต็มที่ ควรจะต้องมีการศึกษาถึงนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว และจีน และทำงานควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับการรองรับการเปิดตลาด AEC นั้น ควรจะพัฒนาให้อำเภอแม่สายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการด้านการเงินของภูมิภาค เนื่องจากมีธนาคารหลายแห่งเปิดให้บริการ และมีเส้นทางการคมนาคมที่สามารถเชื่อมต่อไปยังเขตชั้นในของพม่าและทางตอนใต้ของจีนได้สะดวก นอกจากนี้ การลงทุนเกี่ยวกับศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ สนามกีฬา ศูนย์กิจกรรมเพื่อความบันเทิง และศูนย์กระจายสินค้า ก็นับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะรองรับการเปิดตลาด AEC ได้เป็นอย่างดี”
สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ ต่างก็ได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจในหลายๆ ด้าน อาทิ นายชนก เทวาดิเทพ ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และเครื่องดื่ม Functional Drink กล่าวว่า “ผมทำธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมา 2 ปี โดยริเริ่มลงทุนและทำธุรกิจเอง ตลาดหลักๆ คือในพื้นที่ภาคเหนือ อย่างเชียงราย เชียงใหม่ ผมทราบข่าวการสัมมนานี้จากทางหอการค้าเชียงราย ซึ่งที่ผ่านมาผมติดตามข้อมูลเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ AEC จากทางภาครัฐหรือส่วนกลางมาตลอด แต่จากการมาร่วมงานสัมมนาในวันนี้ ผมได้ฟังมุมมองใหม่ๆ จากภาคเอกชน และผู้ประกอบการอื่นๆ ทำให้ผมได้แง่คิดดีๆ กลับไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ ซึ่งสรุปได้สั้นๆ 3 ข้อ คือ ผู้ประกอบการต้อง “เรียนรู้” “ตั้งรับ” และ “ปรับตัว” ซึ่งผมจะนำกลับไปเล่าต่อให้ทีมงานของผมฟังและนำไปปรับใช้ต่อไป”
กฤษฎา มูลวงศ์ ผู้ประกอบการเต็นท์รถกฤษฎา ออโต้คาร์ จ.เชียงราย กล่าวว่า “งานสัมมนาวันนี้ทำให้ผมทราบเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย และ AEC มากขึ้น ผมทำธุรกิจเต็นท์รถมือสอง บางครั้งก็มีลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวเข้ามาสอบถามเพื่อซื้อรถนำไปใช้ที่ลาว การที่กรุงศรี ออโต้ ได้ไปลงทุนที่ลาว ในอนาคตก็อาจจะเอื้อโอกาสให้ผมค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น เช่น ลูกค้ามาซื้อรถที่เต็นท์ของผมแล้วไปจัดไฟแนนซ์กับ กรุงศรี ออโต้ ที่ลาว ธุรกิจเต็นท์รถมือสองก็จะขยายตลาดได้มากขึ้น”
จากข้อมูลกองความร่วมมือการค้า
และการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ พบว่าในปี 2557 การค้าชายแดนไทย-พม่า มีมูลค่ารวมกว่า 214,387 ล้านบาท และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ยังระบุว่าเขตการค้าชายแดนมีการขยายตัวถึง 6 เท่า ในรอบ 10 ปี จากตัวเลขดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าศักยภาพทางการค้าตามแนวชายแดนไทย – พม่า มีอนาคตที่สดใส และหากนักธุรกิจบริเวณชายแดนของไทยเตรียมความพร้อมและมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดจากเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายและการเข้าสู่ตลาด AEC ก็น่าจะทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกมาก โครงการ ‘กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์’ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ ที่อยู่ในเขตชายแดนจังหวัดเชียงรายให้สามารถพัฒนาธุรกิจใหม่ หรือสร้างรากฐานให้กับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้แข่งขันได้ในตลาดอาเซียน




Comments