top of page
ค้นหา

สรุป "วิกฤตหนี้ของกรีซ" ให้เข้าใจใน 2 นาที

  • รูปภาพนักเขียน: advancedbizmagazine
    advancedbizmagazine
  • 8 ก.ค. 2558
  • ยาว 1 นาที

o-GREECE-CRISIS-facebook (800x400).jpg

วิกฤตที่เกิดขึ้นไม่มีสาเหตุอะไรมากไปกว่าจุดเริ่มต้นจากการใช้เงินมือเติบวินัยทางการคลังขาดสะบั้นของรัฐบาล ผ่านนโยบายเอาใจฐานเสียงที่ประเทศไทยชอบเรียกกันว่า “ประชานิยม” แต่หาเงินไม่เก่ง หนี้เลยท่วมหนักจนต้องไปอ้อนขอเงินจากเพื่อนๆในยุโรปผ่านธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) มาแก้หนี้

แต่เงินกู้ไม่ใช่ได้มาเปล่าๆแน่นอน เพื่อนๆใน EU จำต้องสวมบทโหด เพื่อบีบให้กรีซหาเงินมาคืนให้จงได้ ไม่ว่าจะบังคับให้รัดเข็มขัด ปลดข้าราชการ รีดภาษี ลามไปถึงสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนต้องรับกรรมช่วยปลดหนี้กันทั่วหน้า หลังๆหนักถึงขั้นปิดสถานีโทรทัศน์วิทยุ ปลดคนงานรัฐวิสาหกิจแทบหมดประเทศ แต่นั่นก็ไม่ช่วยอะไร

ยิ่งรัดยิ่งรีด…เศรษฐกิจยิ่งหด…ยิ่งทำให้คนอดอยาก ตัวเลขชัดๆก็ GDP ปี 2552-56 หดตัวลงรวม 24% เหมือนอยู่ๆเคยหาเงินได้ 100 บาท ลดเหลือ 76 บาท ปัจจุบันถ้าเดินตามถนน ใน 4 คนจะมีคนกรีซว่างงาน 1 คน แล้วยิ่งถ้าเจาะเฉพาะวัยหนุ่มสาวแบบเราๆ (กล้าพูดเนอะ) จะยิ่งหนักเป็น 1 ใน 2 คนหรือครึ่งๆเลยทีเดียว

มาว่ากันต่อว่าแล้วทำไมจนมาถึงวันนี้ วันที่นายกรัฐมนตรีใหม่สดซิงของกรีซ โยนหินถามทางกลับไปหาประชาชนว่า จะเลือกก้มหน้ารับเงื่อนไขของเจ้าหนี้อย่าง ECB+IMF ที่เน้นทางรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายหาเงินมาคืนให้ได้ต่อไป หรือจะบอกว่า “ไม่” ฉันไม่ยอม…ชั้นจะไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย แล้วไปตายเอาดาบหน้าแทน

แล้วทำไมประชาชนส่วนใหญ่ถึงเลือกอย่างหลัง?

เลือกอย่างหลังทั้งที่เลือกแล้วอาจต้องออกจากความเป็นสมาชิก EU

เลือกอย่างหลังทั้งที่เลือกแล้วอาจจะทำให้ระบบการเงินของประเทศถูกแช่แข็ง ทำอะไรไม่ได้ไปช่วงนึง

เลือกอย่างหลังทั้งที่ประเทศอาจจะต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เงินที่สะสมมาทั้งชีวิตกลายเป็นกระดาษไม่มีค่า

เลือกอย่างหลังทั้งที่นักวิเคราะห์บอกว่า ถ้ากรีซออกจากยูโรปโซน ปัญหาจะยิ่งลุกลามไปทั่ง EU แถมคนกรีซอาจจะแย่ไปอีกยาวๆ

คำถามนี้ตอบได้ง่ายมากครับถ้าคุณมองปัญหานี้ในมุมมองคนกรีซ…

คนที่ทำมาค้าขายอะไรก็ไม่ขึ้น ไม่มีคนซื้อมาหลายปี

คนที่ตกงานมานานแล้ว และยังไม่มีความหวังว่าจะได้กลับไปทำงานเมื่อไหร่

คนที่ลูกหลานจบออกมาแล้วยิ่งหางานไม่ได้หนักว่าเก่า ต้องนั่งนอนตบยุงอยู่บ้านไปวันๆ มองหาคำว่าอนาคตไม่เจอ

คนที่นับวันยิ่งจะมีแต่คนรอบตัวตกงาน ไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

คนที่ถึงไม่ตกงาน ก็ถอนเงินออกมาใช้ได้แค่วันละ 60 ยูโร

คนที่เก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อเตรียมเกษียณ…แต่วันนี้ความพยายามทั้งชีวิต ไร้ความหมาย

article-1269287-095447A6000005DC-417_634x411.jpg

นึกภาพออกหรือยังครับว่า ถ้าคุณเป็นคนกรีซ อาศัยอยู่ในประเทศที่ทำตามคำแนะนำของ ECB+IMF หลายปี แต่ทำให้ชีวิตสิ้นหวังขนาดนี้…ไปตายเอาดาบหน้าซะยังดีกว่าทรมานต่อไป ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการแหกขุมนรกออกไปเจอหุบเหวก็ตาม

เข้าอารมณ์เพลงวง Big Ass ประมาณว่า “รู้ว่าเสี่ยง…แต่คงต้องขอลอง”

อย่างน้อยการเลือกทางนี้ก็ทำให้มีความหวังระยะสั้นว่า จะมีโอกาสได้หยุดใช้หนี้ กลับมาทำงานจ้างงาน ได้หายใจหายคอกันในระยะสั้น

ถึงตรงนี้…เราควรเรียนรู้อะไรจากวิกฤตหนี้ “กรีซ” บ้าง ผมสรุปให้เป็นข้อๆเท่าที่นึกออกตามนี้

อย่างแรก การตัดสินใจในสังคมประชาธิปไตย ความรู้สึกส่วนบุคคลมักชนะเหตุผลนานับประการ

เราเห็นชัดเจนจากที่ผมพูดไปเมื่อกี้นะครับว่า ถึงแม้นักวิเคราะห์หรือแม้แต่ผู้นำในประเทศยุโรปที่คิดวิเคราะห์ด้วยหลักการมากมายจะออกมาบอกว่า “Yes” ดีกว่า “No” ซึ่งเป็นการคิดแบบเน้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ (Macroeconomics) แต่คนในประเทศกลับเห็นตรงกันข้าม เพราะเขามองที่ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันสำคัญกว่า ตัดสินใจโดยมองที่ชีวิตของตนเองและสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า (Microeconomics) มากกว่าจะมองภาพใหญ่องค์รวมแบบที่หลายคนอยากให้มอง ผมเขียนแบบนี้ ไม่ใช่มาชี้ว่าประชาชนผิด นักวิเคราะห์ถูกนะครับ ผมไม่เลือกข้าง ผมแค่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจแตกต่างกันเกิดจากมุมมองที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำนายการตัดสินใจในสังคมประชาธิปไตยหรือการใช้ระบบโหวตไม่ค่อยมีการโกง ให้เน้นหาข้อมูลความคิดเห็นของคนกลุ่มที่ต้องตัดสินใจกลุ่มนั้นจริงๆไปเลยว่า สภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความรู้สึกนึกคิดของคนที่ต้องตัดสินใจตรงนั้นจริงๆเป็นอย่างไร จะทำให้เราคาดเดาอนาคตได้ดีกว่านั่งอ่านบทวิเคราะห์เปี่ยมทฤษฎี

สอง…ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน สาม…อย่าฝากชีวิตไว้กับคนอื่น และสี่…จงกระจายความเสี่ยง

คนกรีซรู้จักการวางแผนเกษียณก่อนเรา เพราะสังคมเขามีสัดส่วนผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไปมากกว่าเรา (กรีซ 32.9% ไทย 20.4% ในปี 2014 จาก CIA World Factbook Greece / Thai) คนที่นั่น บางส่วนฝากอนาคตไว้กับสวัสดิการรัฐ บางส่วนก็เลือกจะเก็บเงินเอง แต่เมื่อรัฐบาลถังแตก กลุ่มแรกที่ฝากอนาคตไว้กับรัฐก็เหมือนถูกหักหลังเพราะรัฐยุคนี้ไม่มีเงิน พอลากหนักๆเข้ากลุ่มหลังก็โดนไปด้วยเพราะเกิดสภาวะเงินด้อยค่า ผมมานึกสภาพว่าถ้าผมอายุ 60 แล้วมาเจออะไรแบบนั้น คงอยากผูกคอตายใต้ต้นหญ้า และมันพิสูจน์ให้เห็นว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ ที่ใครชอบบอกว่า “รัฐบาลเป็นประกัน” หรือ “รัฐบาลไม่มีวันเจ๊ง” ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริง เพราะฉะนั้นจงอย่าฝากอนาคตการเกษียณ รวมถึงเรื่องอื่นๆในชีวิตไว้กับที่ๆเดียว โดยเฉพาะอะไรที่ต้องรอนานๆกว่าจะได้ใช้ได้พิสูจน์ใจกันหรือต้องพึ่งพากันไปยาวๆอย่าง แผนการเกษียณ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือแม้แต่ระบบการสร้าง passive income จงอย่าวางใจไว้กับคน/ที่เดียว ให้กระจายการลงทุน การซื้อประกัน และแหล่งรายได้ไปหลายๆแหล่ง ยิ่งกระจายไปหลายๆประเภทธุรกิจ หลายภูมิภาคทั่วโลกได้ยิ่งดี เวลาเกิดวิกฤตแล้วพวกมหาเศรษฐีไม่ค่อยได้รับผลกระทบก็เพราะจุดนี้นี่แหละครับ

สุดท้าย…ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเรื่อยๆ ถึงจะไม่ซ้ำเป๊ะ แต่ก็คล้ายอยู่มาก

อย่าคิดว่าวิกฤตของกรีซมันไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับคนไทยอย่างเราเลย ก็อยากให้ศึกษาไว้ เพราะถ้าสักวันหนึ่งจะวิกฤตเกิดขึ้น เราจะได้กลิ่นล่วงหน้าก่อนและปรับตัวได้ทัน สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองกันเอาไว้เยอะๆ…ดีกว่าตาบอดแล้วโผล่มาอีกทีก็เจอทางตันเสียแล้วครับ เหมือนที่พี่น้องชาวกรีซต้องเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้

 
 
 

Comments


Follow "THIS JUST IN"
  • Facebook Basic Black
  • Twitter Basic Black
  • Google+ Basic Black

© 2015 by "Advanced Standard Group.co.ltd". All Right Reserved

| ADVANCED STANDARD GROUP CO., LTD. Tel. +662-881-3421-3

 

  • White Facebook Icon
  • White Instagram Icon
  • White Twitter Icon
  • White Google+ Icon
  • White Pinterest Icon
  • White YouTube Icon
bottom of page