คนที่ใช้เหตุผลกับใช้อารมณ์-สมองแตกต่างกันอย่างไร
- advancedbizmagazine
- 1 ก.ค. 2558
- ยาว 1 นาที

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย พบความแตกต่างในเชิงกายภาพของสมองของคนที่ใช้อารมณ์กับความรู้สึก กับคนที่ใช้เหตุผลมากกว่า
งานวิจัยครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ NeuroImage แล้ว โดย โรเบิร์ต อีเรส แห่งคณะจิตวิทยา พบความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของสมองส่วนสีเทากับการใช้เหตุผลและอารมณ์กับผู้อื่น การศึกษาครั้งนี้ดูว่า คนที่มีเซลล์สมองในพื้นที่ส่วนหนึ่งแตกต่างกันจะมีความเข้าใจผู้อื่นโดยใช้วิธีที่แตกต่างกันหรือไม่
"คนที่ตอบสนองกับผู้อื่นโดยใช้อารมณ์มากกว่านั้นมักจะเป็นคนที่มีความกลัวเวลาที่ดูหนังผี หรือเริ่มร้องไห้เมื่อดูฉากเศร้า ส่วนคนที่ตอบสนองกับผู้อื่นโดยใช้ความคิดมักจะเป็นคนที่มีตรรกะ ตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาคลินิกที่ให้คำปรึกษากับผู้ป่วย"
นักวิจัยใช้เครื่อง voxel-based morphometry (VBM) อันเป็นเทคนิคการถ่ายภาพสมองอย่างหนึ่งมาใช้ในการศึกษาสมองส่วนสีเทาของคน 176 คน โดยทั้งหมดได้ทำแบบทดสอบเพื่อดูว่าเป็นคนที่ตอบสนองกับผู้อื่นโดยใช้อารมณ์หรือใช้เหตุผลมากกว่ากัน
ผลการศึกษาชี้ว่า คนที่มีคะแนนด้านการใช้อารมณ์มากกว่าจะมีเนื้อสีเทาในสมองส่วน insula ที่อยู่บริเวณส่วนกลางของสมองที่มากกว่า ส่วนคนที่ใช้ความคิดมากกว่าจะมีเนื้อสีเทาในสมองส่วน midcingulate cortex ที่อยู่เหนือ corpus callosum อันเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างสมองซีกซ้ายและขวา ที่มากกว่า
"เมื่อคิดรวมกันแล้ว ผลการศึกษานี้บอกเราว่า การเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นนั้นเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลายอย่าง บ่งชี้ว่า การตอบสนองด้วยอารมณ์หรือความคิดนั้นจะทำให้กายวิภาคของสมองแตกต่างกัน นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังบอกว่า ความรู้สึกเห็นใจผู้อื่นด้วยวิธีที่ต่างกันนั้นก็ทำให้โครงสร้างหรือตัวเซลล์ประสาทแตกต่างกัน" งานวิจัยเผย
"ทุกวันนี้ คนเราจะใช้ความรู้สึกเห็นใจผู้อื่นโดยที่รู้และไม่รู้หลักการ เราใช้มันเพื่อสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์ และเพิ่มความเข้าใจผู้อื่น" อีเรสเผย
แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ความเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นบางประเภทนั้นสามารถเพิ่มขึ้นได้โดยการฝึกฝน หรือคนเราจะสูญเสียความสามารถในการเห็นใจผู้อื่นได้หรือไม่หากว่าใช้มันไม่พอ
กล่าวคือ คนที่ฝึกฝนให้เข้าถึงอารมณ์คนอื่นมากขึ้นจะมีสมองส่วนใดส่วนหนึ่งมากขชึ้นหรือไม่ หรือคนเราจะเสียความสามารถนี้ไปหรือไม่หากไม่ใช้มัน
"ในอนาคตเราอยากจะศึกษาไปที่สาเหตุ โดยทดสอบว่า การฝึกฝนให้คนมีความเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นมากขึ้นจะทำให้โครงสร้างสมองของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และศึกษาว่า หากว่าสมองส่วนนี้ได้รับความเสียหายเช่น จากสมองบาดเจ็บ จะทำให้ความสามารถในการเข้าถึงอารมณ์ผู้อื่น ลดลงไปหรือไม่" อีเรสชี้
อ้างอิง: Monash University. (2015, June 18). Emotional brains 'physically different' from rational ones. ScienceDaily. Retrieved June 21, 2015 from www.sciencedaily.com/releases/2015/06/150618104153.htm
งานวิจัย: Robert Eres, Jean Decety, Winnifred R. Louis, Pascal Molenberghs.Individual differences in local gray matter density are associated with differences in affective and cognitive empathy. NeuroImage, 2015; 117: 305 DOI:10.1016/j.neuroimage.2015.05.038
Comments