วิถีคนกล้าของผู้นำ
- Words of wisdom -- Credit by...Roj Wongprasert
- 15 มิ.ย. 2558
- ยาว 1 นาที

มีข้อความที่ลึกซึ้งกินใจในหนังสือเล่มหนึ่งเขียนไว้ว่า...
“ ผู้ที่มีลักษณะที่จะประสบความสำเร็จและพบความสุข คือผู้ที่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผู้ที่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง คือผู้ที่กล้าที่จะรับคำติมากกว่าคำชมเพื่อการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่มีลักษณะที่จะล้มเหลว
และมีแต่ความทุกข์ใจ คือผู้ที่ยึดตัวเองเป็นหลัก ไม่ยอมรับฟังผู้อื่น ผู้ที่ยึดตัวเองเป็นหลัก คือผู้ที่หมดโอกาสเรียนรู้โดยแท้จริง แม้ใจอยากได้แต่สิ่งดีๆ แต่สิ่งดีๆ ก็ไม่เข้าถึงใจ เพราะความกลัวใจจึงปิด ความคิดจึงไม่ก้าว ” ธรรมชาติของมนุษย์ หากไม่ก้าวเดินไปข้างหน้า ก็หยุดอยู่กับที่ หรือไม่ก็ถอยหลัง ดังนั้นต้องกล้าที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า ถ้าไม่กล้าก็จะไม่ได้ก้าว และถ้าไม่ก้าวก็จะไม่ได้เดิน
ในทำนองเดียวกันหากเป็นผู้บริหาร ซึ่งมีหน้าที่นำพาองค์กรก้าวไปสู่อนาคตที่เจริญเติบโต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความกล้าหาญกล้าคิดกล้าเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปสู่อนาคตที่ดี
มีบริษัทเก่าแก่บริษัทหนึ่ง พนักงานและผู้บริหารชั้นต้นชั้นกลางที่อายุการทำงานในบริษัทนี้นานมาก บางคนก้าวเข้ามาทำงานในบริษัทตั้งแต่จบการศึกษาใหม่ ๆ เรียกว่าอยู่แต่บริษัทแห่งนี้มาตลอด ดังนั้นสภาพที่พนักงานได้พบและคุ้นเคยจนเกิดเป็นประเพณี วัฒนธรรม และธรรมเนียมการปฏิบัติที่คุ้นเคยมาตลอด
บังเอิญว่ากรรมการผู้จัดการของบริษัทได้เกษียณอายุการทำงาน จึงมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการคนใหม่เข้ามาทำงาน ซึ่งก็แน่นอนว่ากรรมการผู้จัดการคนใหม่ก็ย่อมมาปรับโครงสร้างบริษัท เปลี่ยนแปลงหน้าที่ของผู้บริหารระดับต่าง ๆ และเริ่มปรับปรุงระเบียบคำสั่ง และแนวทางปฏิบัติงานขององค์กรทั้งหมด ทั้งนี้ก็คงเป็นไปตามทุกองค์กรและหน่วยงาน เป็นต้น หน่วยงานราชการ เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็เริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้าย ซึ่งมีทั้งเพื่อความเหมาะสม หรือมีทั้งเพื่อพรรคพวกเพื่อพ้องของตนเองเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่การกระทำของกรรมการผู้จัดการคนใหม่นั้นทำเพื่อพัฒนาองค์กรจริง ๆ ถึงกระนั้นหาได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวคือ พวกเขาอยู่อย่างนั้นมาหลายสิบปีแล้ว งานก็เดิน บริษัทก็เติบโตพอสมควร ทำไมต้องมาเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติที่พวกเขาเคยชิน ทำให้ดูเหมือนว่าเขาต้องมาเริ่มต้นทำงานกันใหม่ กรรมการผู้จัดการคนใหม่ได้รับการต่อต้านจากพนักงานจำนวนมาก บางกลุ่มเริ่มก่อหวอดประท้วง
กรรมการผู้จัดการคนใหม่ใช้วิธีเรียกพนักงานมาประชุมเป็นกลุ่ม ๆ เพื่ออธิบายความประสงค์ ความคาดหวัง โดยเริ่มจากกลุ่มที่มีปัญหาน้อย กลุ่มที่มีปัญหาปานกลาง และกลุ่มที่มีปัญหามาก ซึ่งได้ผลการยอมรับและเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งโอกาสที่ดีซึ่งพวกเขาจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เกือบหมดพึงพอใจ แต่มีส่วนหนึ่งที่ยังอนุรักษ์นิยมแบบดั้งเดิม ถึงตรงนี้กรรมการผู้จัดการคนใหม่ต้องใช้ไม้แข็ง พูดแบบไม่ประนีประนอมเหมือนก่อน และฟันธงว่า “ บริษัทมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าหากพนักงานท่านใดไม่ยอมการเปลี่ยนแปลงก็คงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง “
ที่สุดเรื่องก็จบลงด้วยดี มีพนักงานระดับกลางลาออกแบบมีเงื่อนไขสามสี่ราย การดำเนินธุรกิจก็เป็นไปด้วยดีจนถึงปัจจุบัน
มีข้อแนะนำ “ วิถีคนกล้าของผู้นำ “ ว่าควรจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติในการทำงานอย่างไร โดยวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์กรสู่ความสำเร็จดังนี้
๑. ใช้มือขวาในการทำงานอย่างเชื่อมั่นและศรัทธา
ธรรมชาติของคนจะมีแขนสองแขนและมีมือสองมือ แต่ละมือมีนิ้วสองนิ้ว แต่ในขณะเดียวกันแต่ละคนจะมีมือข้างที่ถนัดมากที่สุดเพียงข้างเดียว อีกข้างจะไม่ถนัดหรือถนัดน้อยกว่า ดังนั้นในทางปฏิบัติ เราย่อมใช้มือข้างที่ถนัดทำงานมากกว่ามือข้างที่ไม่ถนัด
การเปรียบเทียบเช่นนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความได้ว่า มนุษย์จะมีองค์ประกอบสองส่วนที่เกี่ยวกับการทำงาน หรือการดำเนินชีวิต ส่วนหนึ่งคือความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานด้วยตนเอง อีกส่วนหนึ่งคือโชคชะตาหรือดวงหรือบุญวาสนา วิถีคนกล้าจะไม่รอโชคชะตา เพราะการรอโชคชะตานั้นไม่แตกต่างกับการทำงานไปเรื่อย ๆแล้วแต่บุญแต่กรรม แต่วิถีคนกล้าจะมีความคิดและทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานมากกว่า
โชคชะตาเป็นนามธรรมที่มนุษย์เราตั้งขึ้นมาเอง ไม่ควรให้นามธรรมนั้นมามีอิทธิพลอยู่เหนือจิตใจของเรา เพราะจะทำให้จิตใจของเราอ่อนแอ และถ้าหากจิตใจอ่อนแอ ชีวิตก็จะเอนเอียงลง ดังนั้นวิถีคนกล้าต้องควบคุมจิตใจให้เข้มแข็งอยู่เสมอ เหมือนกับบทเพลงหนึ่งซึ่งผู้นำประเทศในอดีตนิยมร้องกันคือ “ เย้ยฟ้าท้าดิน “ ที่มีเนื้อร้องในลักษณะท้าทายไม่เกลงกลัวต่ออิทธิพลโชคชะตา และขอลิขิตชีวิตตนเอง
๒. เมื่อมีปัญหาต้องกล้าแก้ไข หลบได้ พักได้ แต่ไม่หนี
เวลาที่เชือกพันกัน ส่วนมากหลายท่านจะแก้ปัญหาด้วยการตัดเชือก จะมีน้อยคนที่จะมานั่งแก้เชือกออก ทั้งที่ทราบว่าหากแก้ดี ๆ แล้ว จะสามารถนำเชือกนั้นกลับมาใช้ได้อีก
ผู้บริหารบางท่านนั่งดูปัญหามันตีกัน เพราะถือว่าธุระไม่ใช่ เป็นหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาแก้ไขกันเอง การมองเฉยในนัยหนึ่งแสดงถึงความขี้ขลาดของผู้บริหารมากกว่า จิตใจอ่อนแอเกินกว่าที่จะลงไปแก้ปัญหานั้น ๆ จริงอยู่ปัญหาหลายอย่างผู้บริหารไม่ควรลงมือไปแก้ แต่ที่ถูกต้องก็คือ ผู้บริหารต้องทำหน้าที่คุมเกมให้อยู่ และสามารถชี้แนะแนวทางให้ได้
ปัญหาที่แท้จริงของคนเราก็คือ การหนีปัญหานั่นเอง เพราะถ้าเราตั้งใจแก้มัน มีหรือจะไม่มีทางออก แพ้บ้างชนะบ้าง หรือได้บ้างเสียบ้างเป็นเรื่องปกติ
หลบไปตั้งหลักเมื่อพบมรสุมปัญหา เหนื่อยแล้วพักสักครู่ ตั้งหลักใหม่ คิดใหม่อีกครั้ง แล้วกลับไปแก้ไข นั้นเป็นวิธีที่ทำได้ แต่ไม่ใช่หนีหรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่
การแก้ปัญหาไม่ใช่การตัดปัญหา เหมือนการแก้เชือกที่ยอตัวอย่างข้างต้น การตัดปัญหานั้นคือ ภายนอกปัญหายุติ แต่ภายในจิตใจยังครุกลุ่น เนื่องจากปัญหายังคงอยู่ แต่การแก้ไขปัญหาเป็นขบวนการที่ทำให้ผู้มีปัญหาพบแนวทางปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากปัญหานั้น ๆ และทำในทิศทางที่ได้ผลดีมากขึ้น
๓. ต้องกล้าพูดโดยไม่กลัวผิด ในขณะเดียวกันอย่ามองคนอื่นว่าพูดผิดตลอดเวลา
บางครั้งเรานั่งเงียบสงบอยู่ โดยคิดว่าจะใช้ความเงียบของเราเพื่อสยบความเคลื่อนไหวนั้น ไม่ใช่เป็นวิธีที่ถูกต้องเสมอไป เพราะบางครั้งคนอื่นอาจจะไม่เห็นว่าเรานั่งเงียบๆอยู่ในที่ของเรา แล้วเดินมาชนเราก็มีถมไป ถ้าเราไม่ส่งเสียงให้คนอื่นรับรู้ว่าเรานั่งอยู่
ผู้บริหารบางคนพยายามที่จะทำสิ่งที่ถูกใจคนอื่น เขาจะเป็นคนที่เหนื่อยที่สุดในโลกและตลอดชีวิต เช่นเดียวกันการพูดก็ดีหรือการตอบคำถามก็ดี หากทำเพื่อเอาใจคนถาม ก็เท่ากับเราแสดงความอ่อนแอ ยอมให้คนอื่นครอบงำและสูญเสียการเป็นตัวของตัวเองไปแล้ว และจะเรียกการเป็นตัวตนของตนเองกลับมาได้ยาก เพราะแต่ละคน พูด ฟัง และคิดไม่เหมือนกัน ถ้าจะต้องเอาใจทุกคนก็ต้องพูดตามความคิดของจำนวนคนที่ฟังเราอยู่ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครทำอะไรถูกใจใครได้ทั้งหมด
การเป็นผู้บริหาร ไม่ใช่การที่ทำตามใจคนในบังคับบัญชาทั้งหมดเพื่อต้องการความรักจากพวกเขา ตรงกันข้ามต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง และเสดงให้เขาเห็นถึงศักยภาพของผู้บริหาร ทำให้เขาเชื่อมั่นและศรัทธาในคุณค่าของผู้บริหาร จึงจะทำให้เขาสนิทใจว่า นี่แหละคนที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จข้างหน้าได้
นอกจากจะกล้าพูดกล้าแสดงออกโดยไม่กลัวความผิดพลาด หรือถูกจับผิดแล้ว ยังจะต้องฟังคนอื่นด้วย อย่าลืมมนุษย์มีปากเพียงปากเดียวแต่มีหูถึงสองหู จึงควรฟังมากกว่าพูด การรับฟังคนอื่นโดยไม่คิดว่าสิ่งที่คนอื่นพูดนั้นผิด ถ้าผิดไปจากความคิดของตนเอง แต่อาจจะดีกว่าความคิดของผู้บริหาร หรือในขณะนั้นยังไม่ใช่แนวทางที่จะทำได้ในทันที แต่สามารถเก็บไว้เป็นทางเลือกในวันข้างหน้าได้ ผู้นำที่ชาญฉลาดจะรับฟังผู้ไต้บังคับบัญชาพูดเสมอ ๆ
ในบทนี้ วิถีคนกล้าสอนให้ผู้นำเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นหนทางที่ทำให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า โลกนี้คงหยุดหมุนไปนานแล้ว ถ้าหากมนุษย์ไม่กล้าเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำให้ยุ่งยากหรือเลวร้ายอย่างใด เพียงแต่ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง ความสุขความสำเร็จใหม่ ๆ ในชีวิตก็ตามมาแล้ว.
コメント