top of page
ค้นหา

"AS GOOD AS IT GETS" หม้อดินใบร้าว

  • Words of wisdom -- Credit by...Roj Wongprasert
  • 8 มิ.ย. 2558
  • ยาว 1 นาที

pots.JPG

ในชนบทแห่งหนึ่ง ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาประจำ จะพบเห็นชายสูงอายุคนหนึ่ง บนบ่าของเขามีหม้อดินใบใหญ่วางอยู่ข้างละใบ หม้อใบหนึ่งมีรอยร้าว ส่วนอีกใบหนึ่งสมบูรณ์ดูสวยงามไร้ที่ติ ในหม้อแต่ละใบจะบรรจุน้ำไว้ หม้อใบดีมีน้ำเต็มส่วนหม้อใบร้าวมีน้ำเพียงครึ่งหม้อ ชายเจ้าของหม้อตักน้ำจากลำธารไม่ไกลจากบ้านนัก เมื่อเริ่มต้นทางน้ำจะเต็มหม้อทั้งสองใบ แต่เมื่อถึงปลายทางหม้อใบร้าวย่อมมีน้ำรั่วระหว่างทาง จึงเหลือน้ำเพียงครึ่งเดียว เท่ากับว่าชายผู้นี้ต้องขนย้ำเพียงหม้อครึ่งทุกเที่ยว

แน่ล่ะ ผู้คนย่อมสงสัยว่าทำไมเขาไม่ซื้อหม้อใหม่ที่สมบูรณ์แบบอีกใบ แทนที่จะเสียเวลาเช่นนี้ และแน่นอน ถ้าหม้อดินพูดได้ หม้อดินใบสวยต้องพูดอย่างภูมิใจว่า ตนเองได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ทุกครั้ง

ส่วนหม้อดินใบร้าว ต้องแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจในความไม่สมประกอบของตนเอง และยังผิดที่ไม่ได้ทำหน้าที่ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย

เป็นเช่นนี้นานแสนนาน จนวันหนึ่งมีผู้อดรนทนไม่ได้ ก็เลยเอ่ยปากสอบถามว่า ทำไมทนให้น้ำหกระหว่างทางอยู่ได้ ไม่ยอมเปลี่ยนหม้อใบใหม่และทำลายใบเก่าเสียที

เมื่อฟังเช่นนั้น ชายผู้สูงวัย ไม่ตอบคำถามแต่ชวนชาวบ้านที่สงสัยรวมผู้สอบถามเดินตั้งแต่ธารน้ำตามเส้นทางที่กลับบ้าน ระหว่างทางเขาบอกกับผู้ติดตามว่า “ พวกเราเห็นดอกไม้ระหว่างทางนี้ไหม ไม่ได้สังเกตหรอกหรือว่า ทำไมดอกไม้ป่าเหล่านี้จึงได้งอกงามออกดอกเฉพาะฝั่งที่ฉันแบกหม้อดินใบร้าว ทำไมมันไม่งอกงามอีกฝั่งหนึ่งด้วย.......นั่นเป็นเพราะน้ำของหม้อใบร้าว ทำให้ดอกไม้ป่าขึ้นงอกงามตลอดทางเดิน...... และทุกๆวันจะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ได้ตัดช่อดอกไม้ริมทางเหล่านี้ เอาไปประดับแจกันเพื่อบูชาพระในบ้าน นอกจากจะทำให้ถนนทางเดินสวยงามแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่เพื่อนบ้านอีกด้วย แล้วอย่างนี้จะให้ฉันทิ้งหม้อเก่าร้าวของฉันได้อย่างไร”

สิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็น..................

สิ่งที่เราคิด อาจจะไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด.................

สิ่งที่เรารู้สึก อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เรารู้สึกได้

คำว่าสิ่งในที่นี้อาจจะเป็นคน หรือสัตว์ หรือสิ่งของ หรือสถานการณ์ก็ได้ ซึ่งมีรูปลักษณะที่ทำให้เห็นได้ หรือมีเพียงนามธรรมไม่สามารถมองเห็นได้ จนกว่าสิ่งนั้นจะได้แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา

เราอยู่ในสังคมที่มีลัทธินิยมการเปรียบเทียบ แต่ถ้าเรามีคุณค่าดีพอ และไม่เป็นทาสลัทธินิยมการเปรียบเทียบกับคนอื่นจนเกินไป ถ้าคิดว่าสิ่งไหนไม่ดี ก็พยายามแก้

ไขให้ดีขึ้น

ผลลัพธ์ของการกระทำที่แท้จริงไม่ใช่คำตอบแห่งชัยชนะของชีวิต จุดมุ่งหมายและความตั้งใจต่างหาก คือคำตอบที่แท้จริง “ AS GOOD AS IT GETS “

สิ่งที่เห็นแวววาวก็ไม่ใช่ทองเสมอไป เช่นเดียวกับมหาโจรก็ไม่จำเป็นต้องหน้าตาดุร้ายเหี้ยมโหด งูพิษมักจะเลื้อยอย่างเชื่องช้าเงียบกริบ สุนัขเห่ามักจะไม่กัด เป็นข้อเปรียบเทียบที่ชัดเจนให้กับเราได้

ครอบครัวที่มีบ้านหลังใหญ่อย่างคฤหาสน์ อยากได้อะไรยกเว้นดวงดาวก็สามารถหามาได้ ไม่ได้ตีความว่าเขามีความอยู่เย็นเป็นสุข เขาอาจจะทะเลาะเบาะแว้งกันทุกวัน หาความสุขเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี

สังคมไทยมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ เป็น” สังคมประทับตรา “ ใครก็ตามที่กระทำความผิดพลาดแม้เพียงครั้งเดียว คนนั้นจะถูกตีตราว่าเป็นคนเลวไปตลอดชีวิต แม้ว่าภายหลังเขารู้สำนึกและกลับอกกลับใจ ทำความดีสักเท่าใด สังคมก็ยังตีตราว่าเขาเป็นคนเลว เพราะคนมันเคยเลวนั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม คนที่เคยกระทำความดีเด่นจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคม เขาจะได้รับการตีตราจากสังคมว่าเป็นคนดี และไม่มีทางที่คนดีจะกลายเป็นคนชั่วไปได้ ภาพลักษณ์ของเขาจะดูสง่างามและซื่อสัตย์ สังคมไทย( ซึ่งแปลความได้หลายนัย ) จะเชื่อว่าเขาเป็นคนดีไม่มีอะไรผิดเพี้ยน ก็เพราะเขาเป็นคนดีก็ต้องเป็นคนดีอยู่วันยังค่ำ ทั้งที่ต่อมาเขาคดโกงกินบ้านกินเมือง ก็ยังได้รับการตีตราจากสังคมว่าเป็นคนดีสง่างามอยู่อีก

หลักธรรมศาสนาสอนเราว่า สรรพสิ่งไม่ยั่งยืนจีรัง ไม่เที่ยงแท้ เปลี่ยนแปลงได้ทั้งในทางวิวัฒน์และวิบัติ ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยที่เกื้อหนุนหรือเชื่อมโยง หรือบั่นทอนซึ่งกันและกัน มนุษย์นั้น ย่อมมีกรรมเป็นกำหนด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ จะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น

ดังนั้นจึงไม่ควรยึดถือว่า จบปริญญาแล้วต้องดี จบจากสถาบันนั้นแล้วจะดี มาจากบริษัทนั้นไม่ดี หรือแม้แต่อาชีพนั้นต่ำต้อย ไม่ดี อาชีพนั้นสบายดี ภาพเหล่านี้อาจเป็นภาพลวงไม่ใช่ภาพแห่งความเป็นจริงได้

ชีวิตที่เป็นสุขคือ ชีวิตที่เกิดความสุขความภูมิใจที่ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า มากกว่าการทำสิ่งที่ได้รายได้หรือตำแหน่งการงาน เพราะรายได้ที่ได้อาจเกิดจากความเดือดร้อนของผู้อื่นก็เป็นได้ เช่นเดียวกันตำแหน่งงานอาจสร้างความทุกข์ให้กับเราได้เช่นกันหากเป็นทุกขลาภ ดังนั้นในการดำเนินชีวิตจึงควรมีจิตใต้สำนึกดังต่อไปนี้

ข้อคิดประการแรก ถ้าเราได้ใช้จิตใจของเรา ให้รู้จักเลือกและตัดสินใจได้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี เราต้องฝึกคิดและพิจารณา โดยการพิจารณาวางตนเองอยู่ตรงกลางไตร่ตรองตรวจสอบเปรียบเทียบก่อนการตัดสินใจประเมินค่า จะใช้สามัญสำนึกบ้างก็ไม่ผิด แต่ต้องใช้ปัญญาเป็นตัวนำ คนเรานี้ชอบกล บทจะเกลียดใคร ก็ไม่มีเหตุผล อ้างศรศิลป์ไม่กินกัน เป็นการเอาอารมณ์นำปัญญามากว่าการใช้สติ

ข้อคิดประการที่สอง จิตต้องได้รับการพัฒนา หรือที่เรียกว่าการฝึกจิต ไม่ดีใจมากเกินไป หรือเสียใจเกินไป หรือเคียดแค้นอาฆาตไม่เลิกรา ฝึกทำจิตใจสงบ จิตใจตั้งมั่น ใครบ้างจะรู้จริงว่าใครดีใครชั่ว นอกจากตัวคนนั้นเอง

ข้อคิดประการที่สาม การให้คุณค่าแก่สิ่งทั้งหลาย มากกว่ามองสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นต่ำ จะสังเกตได้ว่า ในแต่ละทีมงานจะมีทั้งคนมีผลงานมาก คนผลงานปานกลาง และคนผลงานน้อย ไม่มีทีมงานไหนที่มีแต่คนเก่งไปทั้งหมด ย่อมมีคละปะปนกันไป การมองคนผลงานมากเป็นคนดีเสียหมด และดีลดลงตามผลงาน ตรงกันข้ามหากเราได้ให้ความสำคัญแก่ทุกคนในทีมงาน ทีมงานก็จะเป็นปึกแผ่นดีกว่า การยกย่องคนผลงานมาก และทำลายจิตใจคนผลงานน้อย การให้อภัยกับคนที่ผิดพลาดได้ และให้โอกาสแก่เขาจะเป็นบุญกุศลแก่เราด้วย (อย่าลืมเรื่องกฎแห่งกรรม)

ขอให้กำลังใจกับผู้ที่ผลงานน้อย อย่าเพียงมองและเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วมองตนเองเป็นผู้ต่ำต้อย แต่หากใช้วิธีที่ได้กล่าวไปแล้วคือ อะไรที่ยังทำได้ดีกว่านี้ก็ทำเถิด อะไรที่ทำไม่ดีก็ปรับปรุงแก้ไข อะไรที่ยังพัฒนาต่อไปได้ ก็จงพัฒนาไป ใช้สุภาษิต “AS GOOD AS IT GETS” เสียล่ะ

“ เพียงแค่เราทำหน้าที่ให้ดี เราก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ใครมองเห็นหรือรอผลตอบแทนจากใคร ”

“ แม้เป็นเมล็ดทรายเพียงก้อนเล็กนิดเดียว แต่ก็มีความสำคัญทำให้เกิดตึกสูงที่มั่นคงได้ฉันใด มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและสำคัญแก่องค์กรเสมอกันฉันนั้น "

 
 
 

Comments


Follow "THIS JUST IN"
  • Facebook Basic Black
  • Twitter Basic Black
  • Google+ Basic Black

© 2015 by "Advanced Standard Group.co.ltd". All Right Reserved

| ADVANCED STANDARD GROUP CO., LTD. Tel. +662-881-3421-3

 

  • White Facebook Icon
  • White Instagram Icon
  • White Twitter Icon
  • White Google+ Icon
  • White Pinterest Icon
  • White YouTube Icon
bottom of page