top of page
ค้นหา

“คาลผู้เงียบขรึม” : ชีวิตคนมีอิทธิพลต่อกันและกัน

  • Credit by...Roj Wongprasert
  • 5 มิ.ย. 2558
  • ยาว 1 นาที

image002.jpg

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นตำนานเล่าขานกันมาหลายชั่วอายุคน เมื่อได้อ่านแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีคุณค่ากับความคิดของเรา จึงขอนำมาถ่ายทอดต่อถึงท่านผู้อ่าน.....เรื่องเล่าว่า.........

วันหนึ่ง นักศึกษาปีสองของมหาวิทยาลัย Amherst ในสหรัฐอเมริกา ได้นำรองเท้าไปที่ร้านซ่อมรองเท้าของคุณลุง Jim Lucey คุณลุงเห็นว่านักศึกษาคนนี้เป็นคนเงียบขรึม ไม่ยอมพูดจา จึงเป็นผู้เริ่มการสนทนาก่อน และการสนทนาในครั้งนั้นเอง เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งคู่ หลังจากนั้นนักศึกษาคนนั้นจะแวะไปที่ร้านของคุณลุงเสมอๆหลังเวลาเลิกเรียน ถึงแม้ว่าจะไม่มีรองเท้าให้ซ่อมก็ตาม เพราะลุงมีอัธยาศัยดี เวลาสนทนาก็พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดแต่เรื่องดีๆ มองคนมองโลกในแง่ดี มีข้อคิดเห็นดีๆสำหรับคุณภาพชีวิตเล่าสู่กันฟังเสมอ แม้ว่าลุงท่านจะไม่ได้เรียนสูงระดับมหาวิทยาลัย แต่เพราะการผ่านชีวิตในโลกนี้มานาน เสมือนกับว่าท่านได้จบมหาวิทยาลัยของชีวิต ทำให้ท่านมีเรื่องเล่าสนุกสนานและเป็นประโยชน์

ส่วนนักศึกษาคนนี้ กำลังเรียนวิชาทางด้านกฎหมาย และเมื่อจบการศึกษาก็เลือกอาชีพเป็นนักกฎหมาย โดยลุงจิมเป็นผู้สนับสนุนการตั้งสำนักงานกฎหมายของเขาที่เมืองนอร์ทแธมป์ตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากร้านซ่อมรองเท้าของลุงจิม

มิตรภาพของทั้งคู่แนบแน่นมากขึ้น แม้ว่าจะต่างวัยและต่างระดับการศึกษา แต่เพราะลุงจิมเป็นคนมองโลกในแง่ดี และมีทัศนคติๆมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและการงาน และเป็นต้น ลุงจิมเป็นที่รักของลูกค้า ใครเอารองเท้ามาซ่อมที่ร้าน จะต้องประทับใจและไม่ผิดหวัง ลุงจิมจึงมีลูกค้าเป็นจำนวนมากทั้งที่เอารองเท้ามาซ่อม ทั้งที่ผ่านมาและแวะเยี่ยมเยียนสนทนากับลุงจิม หนุ่มคนนี้จึงมีโอกาสดีที่ได้สนทนาและทำความรู้จักกับลูกค้ามากมายของลุงจิม จากการสนทนาทำให้ลูกค้าของลุงจิมก็ทึ่งในความชาญฉลาดและความคิดดีๆของนักกฎหมายหนุ่มคนนี้ จึงกลายเป็นความสัมพันธ์สืบเนื่องและจำนวนมากขึ้นอย่างยาวนาน ร้านซ่อมรองเท้าของลุงจิมกลายเป็นสถานที่จับกลุ่มสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเสมอๆ

เมื่อถึงกำหนดการเลือกตั้งผู้ว่าเมืองนอร์ทแธมป์ตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ต่างคนต่างคะยั้นคะยอให้ให้นักกฎหมายหนุ่มลงรับสมัครเลือกตั้ง และเขาได้ประสบความสำเร็จ ในที่สุดเขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าของเมืองนอร์ทแธมป์ตัน และนี่เป็นบันไดขั้นแรกของชีวิตหนุ่มนักกฎหมายของลุงจิม ต่อมาเขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของเมืองบอสตัน และที่สุดได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการรัฐแมสซาชูเซตส์

ผลงานของผู้ว่าราชการรัฐฯท่านนี้ เป็นที่ต้องตาต้องใจของพรรคการเมืองระดับชาติ ชื่อของเขาจึงได้รับการเสนอสมัครรับเลือกตั้งระดับประเทศ ในตำแหน่งประธานาธิบดี ผลปรากฏว่าพรรคของเขาชนะการเลือกตั้ง ตัวเขาได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ...........แต่หลังจากนั้นเพียงสามปี ตัวประธานาธิบดีได้ถึงแก่กรรม ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1923 เขาจึงต้องเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของสหรัฐอเมริกา

วันหนึ่งบุรุษไปรษณีย์ได้นำจดหมายฉบับหนึ่งไปส่งให้กับลุงจิมที่เมืองนอร์ทแธมป์ตัน ลุงจิมสังเกตเห็นชื่อที่พิมพ์บนมุมซองเป็นโลโก้สัญลักษณ์The White House ลุงจิมเปิดซองจดหมายด้วยความตื่นเต้นมือสั่นใจสั่น ข้อความในการะดาษจดหมายเขียนว่า

เรียน คุณลุงจิมที่เคารพรัก

ผมได้มีโอกาสเขียนจดหมายมาหาคุณลุงด้วยความคิดถึง ผมอยากจะเรียนคุณลุงจากใจจริงของผมว่า หากไม่ใช่คุณลุงแล้ว ผมก็คงไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ มานั่ง ณ จุดนี้ ผมขอบอกคุณลุงว่า ผมรักและเคารพคุณลุงมากที่สุด

ต่อไปนี้ ผมขอคุณลุงไม่ต้องทำงานมากเกินไปแล้ว ควรได้พักผ่อนมีเวลาสบายๆให้กับตนเอง ให้สมกับความดีงามที่คุณลุงให้แก่คนอื่นมากมายรวมทั้งตัวผมด้วย วันหนึ่งไม่นานนี้ ผมจะมานั่งคุยกับคุณลุงอีกนะครับ

รักและเคารพ

แคลวิน คูลิดจ์ ( Calvin Coolidge )

หมายเหตุ แคลวิน คูลิดจ์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 30 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งสองช่วง ช่วงแรกดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดีฮาร์ดิ้ง ที่ถึงแก่กรรมขณะดำรงตำแหน่ง และช่วงที่สองแคลวินได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่ง รวมเวลาทั้งหมดหกปีตั้งแต่ ค.ศ. 1923- 1929

เราท่านดำรงชีวิต ต้องมีสังคมของท่าน ถ้าจะแยกสังคมในชีวิตของเรา แยกได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือสังคมครอบครัวญาติพี่น้องวงศาคณาญาติ สังคมที่สองคือสังคมสำนักงานหรือธุรกิจการงาน และสังคมที่สามคือสังคมเพื่อบ้านละแวกบ้านวัดวาอาราม ทั้งสามสังคมต่างก็มีอิทธิพลกับชีวิต หากเราได้ให้คุณค่าและความสำคัญ ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่ได้คุณค่ากับสังคมหนึ่งสังคมใด ความสมบูรณ์ครบถ้วนของชีวิตก็จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขาดบางอย่างไป อาทิเช่น ถ้าเรามุ่งแต่ครอบครัวญาติพี่น้อง การงานและเพื่อนร่วมงานก็จะไม่ดีพอ และขาดเพื่อนบ้านขาดสังคมที่เป็นศูนย์รวมของชุมชน แต่ถ้าเราทุ่มชีวิตและเวลาให้กับสังคมการงาน เราก็จะขาดความสุขในครอบครัวและขาดเพื่อนฝูงที่แวดล้อมที่อยู่อาศัย จึงสรุปได้ว่า เราต้องให้คุณค่ากับสังคมทั้งสามกลุ่ม แล้วเราจะได้รับมิตรไมตรีอันดีในชีวิต

อุปสรรคที่สำคัญของมีชีวิตสัมพันธ์กับคนในสังคมทั้งสามก็คือ การมีทัศนคติอันดีงาม ความคิดดี ก่อให้เกิดคำพูดที่ดีและมีประโยชน์ เกิดการวางตัวและสร้างบุคลิกลักษณะที่ดีงาม สุภาษิตจีนกล่าวว่า “มีมิตรนับร้อยก็น้อยไป มีศัตรูเพียงหนึ่งก็มากไป ” เพราะชีวิตของคนมีอิทธิพลต่อกันและกัน จากคนหนึ่งถึงอีกคนหนึ่งและที่สุดเป็นกลุ่มคนต่อกลุ่มคน

แนวความคิดนี้อาจจะแตกต่างกับสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะมีการแบ่งกลุ่มแบ่งสี สร้างความแตกแยกทางการกระทำและความคิด ดูเหมือนจะสร้างศัตรูที่ถาวรยิ่งขึ้น นับวันยิ่งทวีความรุนแรง จนเป็นอิทธิพลต่อสังคมที่อยู่อาศัย เพราะมีการแบ่งพรรคแบ่งสี แบ่งเสื้อ แค่ฝ่ายหนึ่งใส่สีเสื้อของอีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นเรื่องวิวาทะกันยาวนาน จนจะกลายเป็นการแบ่งพื้นที่หรือแบ่งวัตถุกันไปแล้ว

ลุงจิมเป็นตัวอย่างที่ผู้เขียนมักจะเน้นว่า ลุงจิมมีแต่คำพูดดีๆ ข้อคิดดีๆสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง จนเป็นที่ติดอกติดใจ ใครๆก็อยากพูดด้วย ลุงจิมไม่ใช้วาจาถากถางเชือดเฉือนน้ำใจ ลุงจิมไม่ยกตนข่มท่าน ไม่พูดก้าวร้าว สร้างความแตกแยก ที่เราเรียกว่า ” มีมธุรสวาจา “ ไม่ถืออำนาจบาทใหญ่ แม้ว่าจะได้รับความนับถือจากผู้นำของประเทศ ทราบว่า หลังจากนั้นลุงจิมก็ยังทำงานซ่อมรองเท้าต่อไป แม้ว่าจะได้รับการทดแทนบุญคุณจากประธานาธิบดี และไม่เคยจะเอ่ยอวดอ้างว่าตนเป็นใคร ใครนับถืออย่างไร ชื่อของลุงจิมที่เราได้ฟังเล่าขานกันต่อมา ก็เกิดจากท่านประธานาธิบดีเป็นผู้สรรเสริญทั้งสิ้น

การพูดดีๆ เป็นเรื่องง่ายแต่ทำยาก ที่ว่าง่าย คิดดูซิ เราว่าใคร เราด่าใคร ติเตียนใคร ให้ร้านใคร ต้องคิดเรื่อง ต้องใส่อารมณ์ร้าย เสียพลัง และต้องบันทึกความจำเรื่องนั้นไว้ แต่เราพูดดีกับใคร ทำดีกับใคร เราไม่ต้องจำไว้ เพราะผู้ได้รับเขาจะสรรเสริญแลชื่นชมเราเอง เห็นไหมว่า เป็นเรื่องง่ายจริง

“ ชีวิตเรา ทำอย่างไร ก็มีอิทธิพลกับคนอื่น และคนอื่นก็มีอิทธิพลกับเรา เช่นกัน ”

 
 
 

Comments


Follow "THIS JUST IN"
  • Facebook Basic Black
  • Twitter Basic Black
  • Google+ Basic Black

© 2015 by "Advanced Standard Group.co.ltd". All Right Reserved

| ADVANCED STANDARD GROUP CO., LTD. Tel. +662-881-3421-3

 

  • White Facebook Icon
  • White Instagram Icon
  • White Twitter Icon
  • White Google+ Icon
  • White Pinterest Icon
  • White YouTube Icon
bottom of page