The Most Powerful Women in Ayutthaya ปราณี ด่านชัยวิโรจน์ สร้าง “ อยุธยาซิตี้พาร์ค”สิ่งดีที่สุดสำ
- credit : ADVANCED BUSINESS MAGAZINE 314/58
- 4 มิ.ย. 2558
- ยาว 3 นาที

อยุธยาเมืองมรดกโลกของคนไทย แหล่งประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความงดงามในวิถีชีวิตวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างช้านาน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อยุธยาจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ทำให้อยุธยาเป็นเมืองที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากสวยงาม มีเสน่ห์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ให้แวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย
ด้วยอยุธยาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน อยุธยาซิตี้พาร์ค จึงนับเป็นที่สุดแห่งทำเลศักยภาพ ศูนย์รวมแห่งไลฟ์สไตล์และการพักผ่อนที่ครบครันที่สุด ที่นี่ที่เดียวที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของชีวิตเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ
ปราณี ด่านชัยวิโรจน์ กรรมการอำนวยการ อยุธยาซิตี้พาร์ค มาเล่าเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยเปิดเผยถึงรายละเอียดว่า

“ ก่อนที่จะเริ่มทำโครงการ อยุธยาซิตี้พาร์ค นั้น ในอดีต อยุธยาเป็นจังหวัดเล็ก ๆ เมื่อ 25-30 ปีที่แล้ว ปากทางเข้าเมืองมีไฟฟ้าดวงเล็ก ๆ มีตลาด ที่ดินแถวนี้เป็นนอกเมืองมืด ๆ เดิมพี่ศึกษาสาขาการตลาด ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยหอการค้า ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) คุณพ่อทำธุรกิจโรงแรมเล็ก ๆ โรงแรมอู่ทอง ทำตลาด คุณแม่ขายอะไหล่ ระหว่างเรียนปริญญาโทอยู่นั้นคุณพ่อเสียชีวิต ต้องกลับมาช่วยทำธุรกิจที่บ้าน แต่เดิมอยากมาทำงานที่กรุงเทพ ฯ คุณพ่อเคยบอกว่าเรามีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งอยากจะสร้างโรงแรม แต่ท่านเสียชีวิตก่อน คุณแม่จึงแนะนำให้มาทำโรงแรมในที่ดินซึ่งคุณพ่ออยากจะทำ การตัดสินใจมาสร้างโรงแรมในครั้งแรกนี้ คิดว่าดีกว่ามาดูแลร้านอะไหล่ และด้วยความที่คุณพ่อเป็นที่หนึ่งในบ้าน พี่อยากสานเจตนารมณ์ของคุณพ่อให้สำเร็จ จึงสร้างโรงแรม อู่ทองอินน์
ความภาคภูมิใจแรกในการทำธุรกิจนั้น ต้องบอกว่าเป็นผู้บุกเบิกทำโรงแรมชั้นหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นแห่งแรก โดยเจรจาทำธุรกิจเองทั้งหมด เริ่มจากไม่รู้อะไรมากนัก ซึ่งเพื่อนที่เรียนด้วยกันที่นิด้ามานั่งที่รั้วกำแพงขณะที่สร้างโรงแรม เพื่อนบอกว่าพี่เอาเงินพ่อแม่มาถลุง ใครจะมาพัก พี่สามารถทำได้เสร็จสิ้นไปถึงการขอใบอนุญาตก่อสร้าง จากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทางราชการก็ให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดี ทางจังหวัดได้จัดงานมรดกโลก แสงสีเสียงเป็นปีแรก จัดที่บึงพระราม ทางโรงแรมเราก็สร้างเสร็จทันเวลา เป็นงานแรกที่ต้อนรับแขก เริ่มต้นจากทำโรงแรมติดแอร์50 ห้อง พัดลม 50 ห้อง เดิมเป็นโรงแรมสำหรับกลุ่มลูกค้าคือสำหรับเซลล์เข้าพัก
ด้วยความที่พี่เป็นคนใฝ่รู้ ชอบหาความรู้ ได้ทำหน้าที่กรรมการหอการค้าจังหวัดชุดแรก ได้รู้ผังเมืองว่าต้องขยายออกมาทางถนนสายเอเซีย ซึ่งเหมาะสำหรับการสร้างโรงแรม เพราะข้างในตัวเมืองต้องอนุรักษ์ ด้วยความใจกล้าจึงได้ไปติดต่อกับ BOI ตอนนั้นใช้เงินกู้จากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม กู้เกือบครึ่ง ตอนนั้นรู้ว่าบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมได้ดอกเบี้ยต่ำ จึงนับเป็นความภาคภูมิใจอันหนึ่ง ”
ต่อมา17 ปีที่แล้วที่เริ่มโครงการ อยุธยาซิตี้พาร์ค ต้องมองว่าวิสัยทัศน์ผู้บริหารคืออะไร ที่เกิดธุรกิจสร้างศูนย์การค้าใหญ่ในอยุธยา เดิมกลุ่มธุรกิจเรา คุณจตุรงค์ ด่านชัยวิโรจน์ และคุณณรงค์ ด่านชัยวิโรจน์ สามี(ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอโยธยา) เป็นเจ้าของที่ดิน เดิมทำธุรกิจโรงเลื่อย
ในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้วธุรกิจโรงเลื่อย เริ่มจากคุณพ่อเริ่มแก่ลง นักธุรกิจรุ่นใหม่ บรรดาลูก ๆ คือคุณณรงค์บอกไม่ถนัดกับธุรกิจเดิม ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน ต้องดูไม้ให้เป็น ต้องไปทำสัมปทานป่า เมืองไทยทำไม่ได้แล้ว เราต้องนำเข้าไม้มาจากเขมร จากพม่าเข้ามา ต้องใช้กำลังภายในหลายด้าน ต้องดูซัพพลาย การตลาด ซึ่งคุณณรงค์ มีความชำนาญเฉพาะด้านหลายทาง แต่คนรุ่นใหม่มองว่าธุรกิจทำยาก ไม่ถนัด อยากเปลี่ยนธุรกิจ

ด้วยเราเป็นเจ้าของที่ดินอยู่แล้ว ก็มองว่าธุรกิจอะไรที่เราสามารถทำได้ ก็มองว่าอยุธยาเป็นเมืองเล็ก ทุกคนจะต้องมาช็อปปิ้งที่กรุงเทพฯ ก็คิดว่าถ้าที่อยุธยามีห้างโลตัส บิ๊กซีฯ ด้วยความที่เป็นเจ้าของที่อยู่แล้ว คนก็จะมาใช้บริการ ด้วยทำเลที่ตั้งดีเป็นประตูสู่ภาคเหนือ กินเนื้อที่บริเวณ 8จังหวัดสู่ภาคเหนือ แต่เราจะสร้างศูนย์การค้าโดยไม่มีแม่เหล็กสิ่งดึงดูดใจไม่ได้
“กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดนี้ รวมถึงจังหวัดโดยรอบเป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้ที่สูงกว่าที่อื่นโดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีอยู่ถึง 5 นิคมฯ คือ บางปะอิน ไฮเทค โรจนะ สหรัตนนคร แฟคตอรี่แลนด์ แต่ละนิคมฯ มีการขยายตัวตลอดเวลา ทำให้เราต้องปรับโฉมศูนย์การค้าให้เพียงพอเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้” คุณปราณีกล่าว

นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดและการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในอนาคต ซึ่งจะมีทางด่วนมอเตอร์เวย์ 3 สาย คือ อยุธยา-นครราชสีมา, อยุธยา-นครสวรรค์ และอยุธยา-วงแหวนรอบนอก รวมทั้งส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-อยุธยา การเป็นสถานีจอดรถไฟความเร็งสูง ยังสนับสนุนให้ศูนย์การค้าเป็นสถานที่ที่ทุกคนจะสามารถมาพักผ่อนได้เป็นอย่างดีทั้งในปัจจุบันและอนาคตเนื่องจากการเดินทางสะดวกสบายและสถานที่มีความทันสมัย
“ ฉะนั้นยุทธศาสตร์ของเราคือต้องมีคู่ค้า เรามีที่ดินทำเลติดถนนใหญ่ โลเคชั่นเหมาะ ทำแล้วประสบความสำเร็จ เราก็เริ่มเขียนแบบเจรจากับลูกค้า เราติดต่อธุรกิจกับโลตัสก่อนสำเร็จ สิ่งดึงดูดใจที่2 คือโรงภาพยนตร์ ติดต่อกับร้านค้าเป็นอินเตอร์แบรนด์ เอ็มเค พิซซ่า อินเด็กซ์ ร้านค้า10ปีก็เปลี่ยน เจริญขึ้น มีกลุ่มทุนเกาหลีมาเปิดโบว์ลิ่ง เจริญขึ้นเรื่อย ๆ มีห้างโรบินสันเพิ่มขึ้น ”
ปราณีแผยว่า “ อยุธยาซิตี้พาร์ค ศูนย์การค้า และศูนย์รวมความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดบนถนนสายเอเชีย อยุธยาซิตี้พาร์ค ภายใต้การบริหารงานในนาม บริษัท คลองสวนพลู จำกัด มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาที่ดิน เพื่อธุรกิจค้าปลีกและการบริการให้เช่าและเซ้งพื้นที่ ให้บริการด้านการจัดการจัดกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ และเพื่อเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ โดยเริ่มดำเนินการเมื่อ 14 ธันวาคม 2541 เป็นต้นมา
ตอนนั้นเราใช้ชื่อว่า อยุธยาพาร์ค ในเฟสแรกที่เปิด เราเปิดโลตัสก่อน และเปิดเฟสต่อ ๆ ตามมา แรกที่เปิดโลตัสก่อน เพราะช่วงวิกฤตปี 2538-2539 การก่อสร้าง หรือธุรกิจหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง เทิร์นโอเวอร์ของธุรกิจโลตัส จากกลุ่มซีพี เป็นกลุ่มเทสโก้ ซึ่งทางโลตัสวางแผน 8 เดือนจะเปิดห้างแล้ว เราจึงได้สร้างศูนย์การค้าเปิดให้ทัน โดยเปิดเทสโก้ก่อน เปิดพื้นที่ช็อปต่าง ๆ ตามมา ตอนนั้นคู่ค้าเรามีเอ็มเค โรงภาพยนตร์ธนา พอทำได้สักพักมีห้างโรบินสันเข้ามา จนค่อย ๆ มีกว่า 400 ร้านค้า ”

ผลประกอบการ ต้องเรียนว่าไปได้ด้วยดี โครงการเราใช้เงินกู้แบงค์ในอัตราที่สูงมาก ผลประกอบการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดีขึ้นทุกปี คุณปราณีกล่าวต่อว่า “ จุดเด่นของศูนย์การค้าจะเป็นในส่วนของทำเลที่ตั้งที่โดดเด่นรายล้อมด้วยหน่วยงานราชการ ศาลากลางจังหวัด ขนส่งจังหวัด อัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตั้งอยู่ติดกับถนนสายเอเชียโดยเป็น “ประตูสู่ภาคเหนือ” ซึ่งผู้ที่จะเดินทางสู่ภาคเหนือก็สามารถแวะที่ศูนย์การค้าได้ รวมไปถึงผู้ที่จะเดินทางสู่กรุงเทพฯ ก็สามารถแวะมาได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังจะยกระดับศักยภาพสู่การเป็น “ศูนย์รวมไลฟ์สไตล์และการพักผ่อนของภาคกลางตอนบน” ร่วมด้วย
อยุธยาซิตี้พาร์ค จึงเป็นที่สุดแห่งทำเลศักยภาพ ตั้งอยู่ตำแหน่งยุทธศาสตร์แห่งการค้า ติดถนนสายเอเชีย ศูนย์กลางการเดินทาง รายล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ถึง ๕ แห่ง สถานการศึกษา ศูนย์รวมของผู้คนวัยทำงาน นักศึกษา ประชากรทั้งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียงมากมายที่มีกำลังซื้อมหาศาล
ปราณี ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารที่มีจิตใจดีงาม ปกครองพนักงานเสมือน “ ทุกคน คือ คนในครอบครัว ” ให้พนักงานมีส่วนร่วมเหมือนกับเป็นเจ้าของกิจการ ทำให้พนักงานทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงาน และพร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน พร้อมผลักดันพนักงานสู่จุดมุ่งหมาย โดยคิดว่าเป้าหมายทางธุรกิจใคร ๆ ก็ทำ ถ้าไม่ได้ซีเรียสว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย มีรางวัลถ้าสำเร็จ1 ถ้าเราเลือกถูกคน 2 ให้เขารักงานเหมือนเป็นงานของเขาเอง เขาจะใช้ความพยายามในการทำ ” และกล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า “ พี่เป็นคนใจดี แต่ไม่ทราบทำไมทุกคนก็รู้สึกกลัว”

สำหรับหลักการทำงานนั้น คุณปราณี ได้เผยเคล็ดไม่ลับ คือ “ ต้องทำจริง ๆ เป็นคนที่คิดว่า 1 ต้องมองหาโอกาส โอกาสเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ลอยมาเอง แต่เราต้องใฝ่คว้า 2 ต้องใฝ่หาความรู้เสมอ ความรู้มีอยู่รอบตัว 3 ไม่ย่อท้อ ไม่คิดว่าไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ จากที่ไม่รู้ ก็หาคนรู้ พี่ไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นคนที่มีความพยายาม และพี่เป็นคนโชคดีที่มีคนคอยเกื้อหนุน เขียนโปรเจ็คมาขอเงินกู้เองไม่ต้องจ้างที่ปรึกษา พี่จะสอนลูกว่าอยากทำอะไร ต้องไปเรียนทางนั้น ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ต้องพยายาม ต้องจิกไม่ปล่อย คนรุ่นใหม่อาจทิ้งแล้วในแต่ละวัน สมัยก่อนเราไม่มีคนช่วยเหลือไม่เหมือนสมัยนี้หาข้อมูลได้ง่าย และ 3 ต้องรู้จักไว้ใจคน หาคนมาช่วย ให้เขาได้แสดงฝีมือ เราคอยปิดรูรั่ว ถ้าไม่รู้ก็ให้ไปอบรม หาคนมาช่วย เราเรียนรู้จากเขา เรามาสอนสิ่งที่เขาไม่รู้ เรียนรู้จากการทำงาน ต้องขยันเรียนรู้
เมื่อเกิดวิกฤติเกิดขึ้น ปราณีให้ข้อแนะนำว่า “ เราต้องใจเย็น ๆ คิดว่าไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้ อย่าตะหนกไปก่อน เรื่องวิกฤตเป็นเรื่องธรรมดา ในชีวิตที่ผ่านมายังไม่มีเรื่องวิกฤตใหญ่ ในปี 2540 ถึงจะเป็นเรื่องวิกฤต แบงค์ตัดเงินกู้เป็น NPL ไม่ตีอกชกหัว ถ้าทำดีที่สุดแล้วแก้ไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหา ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องปลง ถ้าใช้หลักธรรมะ ก็จะอยู่ในโลกนี้ได้ ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป”

หลักใช้ชีวิตส่วนตัวนั้น “ พี่ยึดหลักเดินทางสายกลาง ก่อนแต่งงานที่บ้านต่างปฏิบัติธรรม นับว่าพี่เป็นคนโชคดีได้สามีดีมาก มีธรรมะทั้งบ้าน และโชคดีได้เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดู่ สามีดึงเข้าวัด รักษาศีล5 ทั้งคู่ สามีใจเย็นมาก ตัวพี่เองใช้ธรรมะในการดำรงชีวิต สอนลูกด้วยเหตุผล ตามหลักคำสอนของหลวงปู่ดู่ที่ว่า อยู่ไหนก็ปฏิบัติได้ ให้มีตัวตนน้อย เราจะเป็นคนมีเสน่ห์ คนอื่นจึงจะสามารถเข้าถึงเราได้ง่าย
ด้านบุคคลต้นแบบของพี่นั้น ยุคก่อนคุณพ่อตัวเอง และปัจจุบันคุณพ่อสามี ทั้งคู่เป็นบุคคลต้นแบบทางด้านความกตัญญู พ่อแม่เป็นสิ่งที่ต้องเคารพรัก เป็นครอบครัวคนจีน ครอบครัวคนจีนเถียงไม่ได้ พ่อเสียชีวิตตอนเรียน แม่เสียชีวิตตอนทำงาน เราไม่สามารถทดแทนบุญคุณได้แล้ว ตอนนั้นพี่ทำงานเยอะมาก ไปเยี่ยมคุณแม่ 3 วันครั้ง ด้วยพี่ตอนนั้นไม่ได้ดูแลท่านที่บ้าน ท่านไปอยู่กับน้องที่กรุงเทพ ฯ แต่เราภูมิใจที่ได้ทำธุรกิจให้ท่าน ท่านภูมิใจเรามาก พ่อแม่ท่านอยากได้อะไร ต้องรีบทำ พี่สอนลูกทุกคนว่าตอนพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ เราต้องทำให้พ่อแม่ ความกตัญญูสำคัญมาก น้องต้องเคารพพี่ ถ้าเรามีความกตัญญูแล้ว ตกน้ำก็ไม่ไหล ตกไฟก็ไม่ไหม้ คุณจะไปกราบคนอื่นคุณต้องกราบพ่อแม่คุณก่อน ท่านเป็นพระในบ้านของเรา จะพูดคุยตลอดเวลา
ถ้าเราทำดีลูกจะเห็นแบบอย่าง เราเชื่อว่าเขาจะกตัญญู เช่นเดียวกันกับการดำเนินธุรกิจ เหมือนชีวิตประจำวันในบ้าน ต้องรู้จักเอื้อเฟื้อ มีกฎกติกา พนักงานคนไหนเกเร เราให้โอกาส อยู่แบบครอบครัว ให้ลูกน้องทำก่อน ให้ลูกน้องคิดมาเสนอ ถ้าเหมือนกันให้เขาทำ ถ้าไม่ได้เรื่อง เราเสริม พูดคุยกัน ให้เกียรติเขาได้แสดงผลงาน เราต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เราเก็บสิ่งดี ๆ ของแต่ละคนมาเป็นตัวอย่าง ความประทับใจ หล่อหลอมเราให้เรานำสิ่งดี ๆ มาใช้ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ”
สำหรับการตั้งรับเออีซีอย่างไรนั้น คุณปราณีให้ข้อคิดว่า “คิดว่าคนงานส่วนใหญ่พม่ามาอยู่เยอะแล้ว อาจเข้ามาแบบผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย การเปิดรับเออีซีทำให้ของผิดกฎหมายกลายเป็นของถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งน่ากลัวคือ แรงงานไทยต้องกลัวมากกว่า คนไทยยังเลือกงานเยอะ คนต่างชาติจะมาแย่งงานมากกว่า คนต่างชาติมีความอดทนสูง นายจ้างไม่ได้มองเรื่องค่าแรง แต่มองด้านความขยัน อัตราค่าจ้างอาจเท่าเทียมกัน แรงงานไทยอาจต้องตื่นตัวมากขึ้น แรงงานเข้ามาถูกต้องมากขึ้น ธุรกิจจะโตขึ้น เรื่องภาษาเขาเรียนรู้ภาษาไทย คนไทยได้เปรียบด้านฝีมือแรงงาน เราเริ่มสบายเริ่มเลือกงาน คนไทยน่าปรับตัวสู้กับเขาให้ได้ ในแง่บริหาร เรามองว่าจะใช้เขาให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจเราได้อย่างไรมากกว่า”
สำหรับข้อคิดอยากฝากให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ คือต้องใฝ่รู้ นำความรู้มาใช้ให้ได้ประโยชน์ สมัยที่เรียนได้เข้าชมรม isec ซึ่งได้เป็นประธานชมรมทางด้านธุรกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าสมัยนั้น ได้ไปดูงานที่ต่างประเทศ ทำให้ได้ทราบว่าบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม มีการปล่อยเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยต่ำถูกกว่าแบงค์ ตอนนั้น ดอกเบี้ย 18% แบงค์อื่น 20 กว่า% เราได้14.5% เดิมถือว่าถูก ได้เงินกู้มาบริหารโรงแรมอู่ทองอินน์ และลาออกจากโรงแรมมาบริหารศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค ซึ่งงานนี้เป็นของสามี ภูมิใจที่ได้บุกเบิกโรงแรม จาก 1 ไป 2 ไป 3 ไป 4 ในเวลาต่อมาได้ทำโครงการใหญ่ ๆ และได้ช่วยเหลือสังคม ”

ปราณี กล่าวว่า “ ทุกวันนี้พี่คิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ เพราะคิดว่าธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ความสำเร็จของแต่ละคนไม่เท่ากัน ส่วนข้อแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ ดูจากลูก ๆ สมัยนี้ความรู้มีอยู่มาก สิ่งยั่วเย้าเยอะ ถ้าขยัน ผู้บริหารรุ่นใหม่อายุน้อย โอกาสดีกว่าคนรุ่นเก่ามาก ต้องมีความพยายาม อย่าชะล่าใจ เด็กสมัยใหม่ชอบคิดว่ารู้แล้ว ๆ ๆ ๆ จุดบกพร่องคือไม่มองรายละเอียด โลกมันเปลี่ยน ถ้าเราช่างสังเกต จะเห็นจุดบกพร่อง ถ้าเรามีความพยายาม ใช้หลักธรรมะ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และปรึกษาผู้ใหญ่ จะทำให้เราได้ประโยชน์และประสบความสำเร็จในที่สุด”
ด้วยบทบาทที่มากมายกับภารกิจหลากหลายที่เธอดำเนินต่อเนื่องมาโดยตลอด คุณปราณี ด่านชัยวิโรจน์ มักพูดเสมอว่า “ ทุกอย่างที่ทำเป็นเพราะพี่และสามีเป็นคนอยุธยา เกิดและโตที่อยุธยา จึงอยากเห็นอยุธยาพัฒนาก้าวหน้า เป็นเมืองน่าอยู่ น่าอาศัยสำหรับรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป และจะสืบสานความตั้งใจของตระกูล “ด่านชัยวิโรจน์”
ความยิ่งใหญ่ของ อยุธยาซิตี้พาร์ค จึงนับเป็นการยืนยันบทบาทที่ ปราณี ด่านชัยวิโรจน์ ก้าวย่างและสามารถสัมผัสถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างชัดเจนที่ต้องการสืบสานปณิธานความตั้งใจของตระกูล “ด่านชัยวิโรจน์” ที่ว่า
“เมื่อครอบครัวมีสุข ต้องแบ่งปันความสุขให้กับเพื่อนร่วมโลกด้วย”

Comments