อย่ามือเติบ!!!!! : เทคนิคจัดการค่าใช้จ่ายง่ายๆ สไตล์สาวยุคใหม่
- Advanced VARIETY Credit by K-sme
- 6 พ.ค. 2558
- ยาว 1 นาที

ช่วงสิ้นเดือนที่เงินเดือนออก นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของสาวๆ เพราะจะได้รับเงินก้อน เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสิ่งของที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่รออยู่ในช่วงสิ้นเดือนคือ บิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งทำให้หลายคนถึงกับปวดหัวกับการจัดการบิลค่าใช้จ่ายเหล่านี้ บทความนี้จึงขอนำเทคนิคที่จะช่วยให้การจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำได้ง่าย และมีเงินเหลือเก็บมากขึ้นมาฝากครับ
1. จัดทำบันทึกรายรับรายจ่าย หลายคนอาจรู้สึกว่า การทำบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งยุ่งยาก เนื่องจากต้องคอยมาจดบันทึกค่าใช้จ่ายเป็นประจำทุกวัน แต่การทำบันทึกรายรับรายจ่ายให้ประโยชน์กับเราเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้ทราบว่า รายได้ในแต่ละเดือนของเราหมดไปกับค่าใช้จ่ายประเภทไหน และมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถจัดการค่าใช้จ่ายได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ข้อดีหลักของการจดบันทึกรายรับรายจ่ายคือ เราสามารถรู้ว่าในแต่ละเดือน มีเงินเหลือหลังจากใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือไม่ เพื่อให้สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น
2. แยกประเภทค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มได้แก่ ค่าใช้จ่ายคงที่ – ค่าใช้จ่ายที่เราต้องชำระเป็นประจำทุกเดือนเช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าผ่อนชำระหนี้สินต่างๆ ค่าประกัน เป็นต้น ซึ่งเราสามารถประมาณค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้ได้ล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายผันแปร – ค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งค่อนข้างยากต่อการประมาณการ และอาจมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การสำรองเงินเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน จะสามารถช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและลงทุน – ค่าใช้จ่ายที่ควรกันไว้ในแต่ละเดือนสำหรับเป้าหมายต่างๆ เช่น ดาวน์บ้าน ซื้อรถ หรือเกษียณอายุ โดยควรกันไว้ก่อนใช้จ่ายอย่างน้อย 10% ของรายได้รายเดือน และนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ตามความสำคัญของเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

3. แยกบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและลงทุน เมื่อสามารถแยกค่าใช้จ่ายประเภทต่างๆ ได้แล้ว เราควรแยกบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและลงทุนออกจากบัญชีค่าใช้จ่ายอื่น เพราะหากไม่มีการแยกบัญชีค่าใช้จ่าย เราอาจนำเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ มาใช้ปะปนกัน เช่น นำเงินที่ต้องการออมเพื่อดาวน์บ้านมาจ่ายค่าประกันรถยนต์ ซึ่งจะทำให้การออมหรือลงทุนเพื่อเป้าหมายต่างๆ ทำได้ยากขึ้น
4. ชำระแบบตัดบัญชีอัตโนมัติ วิธีนี้สามารถช่วยให้การชำระค่าใช้จ่ายรายเดือนต่างๆ ทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าการไปชำระด้วยตนเอง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งการชำระค่าสาธารณูปโภค และค่าบัตรเครดิตต่างๆ โดยทางธนาคารจะตัดเงินเพื่อชำระค่าใช้จ่ายในวันที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน สิ่งสำคัญที่สาวๆ ไม่ควรละเลยคือ การตรวจสอบใบเสร็จค่าใช้จ่ายต่างๆ ก่อนที่จะถึงวันตัดบัญชี เพื่อตรวจเช็คว่า รายการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้อง ควรติดต่อสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด
5. ชำระโดยตัดจากบัญชีบัตรเครดิต สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องชำระเป็นประจำทุกเดือนเช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าเคเบิ้ลทีวี ค่าอินเทอร์เน็ต นอกจากการชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ผ่านการตัดบัญชีธนาคารแล้ว การชำระผ่านการหักบัตรเครดิตเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ขอแนะนำค่ะ เนื่องจากจะช่วยให้เราไม่หลงลืมที่จะชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อีกทั้งยังได้รับคะแนนสะสมจากบัตรเครดิตต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้ เงินที่เราต้องลงทุนหรือออมเป็นประจำทุกปี เช่น ค่าเบี้ยประกันชีวิต เงินลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี (LTF/RMF) แนะนำให้สอบถามกับสถาบันการเงินว่า สามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้หรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการได้รับคะแนนสะสมจากบัตรเครดิต
หวังว่าเทคนิคที่แนะนำในบทความนี้ จะช่วยให้สาวๆ จัดการกับค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการค่าใช้จ่ายคือ การมีสติในการใช้จ่าย โดยควรซื้อเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น และลดการซื้อของฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เรามีเงินเหลือเก็บมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก http://k-expert.askkbank.com/Pages/Home.aspx
ขอบคุณภาพจาก : http://todaysfrugalmom.com/5-ways-build-savings-account/
Comments