โลกเปลี่ยน…โอกาสเปลี่ยน SMEs ไทยจะคว้าโอกาสจาก global trend ได้อย่างไร?
- Words of wisdom -- Credit by scbsme.com
- 30 เม.ย. 2558
- ยาว 2 นาที

นอกจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) จะนำมาซึ่งความท้าทายในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังหมายถึงโอกาสก้อนโตสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เล็งเห็นช่องทางและศักยภาพในการตอบสนองต่อแนวโน้มดังกล่าวอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการตลาดที่เกิดจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและ lifestyle ของผู้บริโภค เหล่านี้ถือเป็นสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ SMEs ต้องให้ความสำคัญและจะมีผลกระทบต่อ business model ในอนาคต แนวโน้มที่สำคัญอย่างแรกคือ โอกาสที่เกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน … ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ธุรกิจและเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยให้ SMEs สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมกับบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ปัจจุบันเราได้เห็นการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะ social network ยอดฮิตอย่าง Facebook และ Twitter ในเชิงธุรกิจกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งในแง่ของการอัพเดทข้อมูลข่าวสาร การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ รวมไปถึงการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ และเพิ่มยอดขาย สะท้อนได้จากยอดรายได้โฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มช่องทางการสื่อสารทางการตลาดกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของสื่อ digital media อย่างแท้จริง ซึ่งหาก SMEs ไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณและทรัพยากรด้านอื่นๆ ลง และช่วยให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนคือ ธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ผ่านทาง Facebook ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยพบว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการ Facebook ในไทยมากถึงกว่า 11 ล้านคน ซึ่งนับว่ามากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก (ข้อมูล ณ กันยายน 2012) สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากกำลังก้าวเข้าสู่ยุค “digital lifestyle” และโลกออนไลน์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ไปแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่าการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์อาจจะยังไม่ใช่ตลาดหลักในปัจจุบันแต่ก็ไม่ใช่ตลาดที่จะสามารถมองข้ามได้อีกต่อไป โดยพบว่าหนึ่งในธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากในไทยคือ ธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีการแข่งขันในธุรกิจประเภทนี้สูงมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่ายังคงมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมากในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเสื้อผ้าแฟชั่นสตรีที่มีราคาไม่สูงมากนัก เพราะนอกจากช่องทางนี้จะช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลาแล้ว ผู้ประกอบการยังไม่ต้องมีต้นทุนในการเปิดร้านหรือเช่าร้าน รวมทั้งต้นทุนในการสต็อกสินค้าเพื่อโชว์ที่หน้าร้านอีกด้วย ขณะที่งบโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ก็ยังนับว่าถูกกว่าการโฆษณาผ่านช่องทางปกติค่อนข้างมาก ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความนิยมและความสำเร็จของช่องทางขายเสื้อผ้าออนไลน์ของผู้ประกอบการ SMEs คือ จำนวนกด “like” โดยพบว่า SMEs ไทยรายหนึ่งที่ขายเสื้อผ้าผ่านทาง Facebook มียอดกด like จาก fan page สูง ถึงกว่า 1 ล้าน like แล้ว เทียบกับเสื้อผ้าแบรนด์เนมชื่อดังอีกรายที่มียอดกด like เพียง 6 พันกว่ารายเท่านั้น! หรือแม้แต่การใช้อินเตอร์เน็ตในการค้นหาและเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นของผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ จากรายงานการวิจัยทางการตลาดของ บริษัท TNS International ที่สำรวจกลุ่มคนชั้นกลางที่มีอายุระหว่าง 20 - 45 ปี จำนวน 1,200 คน ระบุว่า กลุ่มสำรวจถึงร้อยละ 30 มีความถี่ในการค้นหาข้อมูลสินค้าแบรนด์เนมบนอินเตอร์เน็ตมากกว่า 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์ โดยให้เหตุผลว่า การเลือกซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นมีราคาถูกกว่า มีความสะดวกในการเปรียบเทียบสินค้า รวมทั้งยังช่วยประหยัดเวลาเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกซื้อสินค้าทางช่องทางปกติอีกด้วย
นอกจากนี้ จากข้อมูลของสถาบัน iResearch ยังพบอีกว่า ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมบนเว็บไซต์ในประเทศจีนในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 10,730 ล้านหยวน (51,611 ล้านบาท) หรือมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 70% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยคาดว่าในอนาคตอีก 4-5 ปี อัตราการเติบโตดังกล่าว อาจเพิ่มขึ้นถึงปีละ 30% ซึ่งจะทำให้ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมบนโลกออนไลน์อย่างเดียวสูงถึง 37,240 ล้านหยวน (184,710 ล้านบาท) เลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นว่าช่องทางการตลาดในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ SMEs ควรนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายและรายได้ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับสินค้าแบรนด์เนม
ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมผ่านสื่อออนไลน์ในประเทศจีน มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นจากปัจจุบันถึงราว 3 เท่าตัวภายในปี 2015
รวมถึงกระแสตื่นตัวในเรื่องปัญหาโลกร้อนและธุรกิจสีเขียว (going green) ก็เป็นอีกประเด็นร้อนที่มีผลต่อโอกาสทางการค้าและรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ SMEs ทั่วโลกรวมทั้งในไทย ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ eco-products มากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs น่าจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง eco-design โดยการจับตลาดสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือผลิตภัณฑ์สีเขียวมากขึ้น รวมทั้งการผลิตสินค้าจากวัสดุ recycleเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดกลุ่มนี้ “eco-shop” อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับ SMEs ที่ต้องการจับกระแสรักษ์โลก โดยคอนเซ็ปต์หลักของสินค้าที่วางขายในร้านนี้คือ จะต้องมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่สินค้าที่ทำมาจากเศษวัสดุเหลือใช้ (recycle) เท่านั้น แต่ยังหมายถึง การรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นนำ้ถึงปลายนำ้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานให้คุ้มค่าที่สุดในการขนส่ง การเลือกใช้วัสดุและวัตถุดิบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการใช้กระบวนการผลิตที่เบียดเบียนทรัพยากรโลกให้น้อยที่สุด ซึ่งนอกจากโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้จะช่วยสร้างความแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ ในท้องตลาดแล้ว ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ในสังคมที่หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกด้วย รวมทั้งการผลิตสินค้าประเภท tableware จากแกลบและโปรตีนที่สกัดจากธรรมชาติ ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการ SMEs ไทยรายนี้จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจากการจำหน่ายภายในประเทศ เนื่องจากเป็นการชูไอเดียที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใครเพื่อเป็นจุดขายของร้าน รวมทั้งสามารถยังตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลกที่มองหาสินค้ากรีนได้เป็นอย่างดี จึงทำให้มีคำสั่งซื้อจากโรงแรม ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้าทั่วโลกเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เช่นเดียวกับความต้องการสินค้าและบริการที่มีเอกลักษณ์และมีความเฉพาะเจาะจงสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ที่มากขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ niche marketing เป็นหนึ่งในปัจจัยสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการ เพราะนอกจากจะสามารถตอบสนองความต้องการและ lifestyle ของลูกค้าเฉพาะกลุม่ ที่มีกำลังซือ้ มากขึ้นได้ดีแลว้ ยงั สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการได้มากขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเปิดสถานออกกำลังกายสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นสุภาพบุรุษหรือสุภาพสตรีโดยเฉพาะร้านโยคะสำหรับคุณแม่ หรือโรงแรมสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มธุรกิจ SMEs ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในขณะนี้ แนวโน้มที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป (demographic change) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอกาสในการตอบสนองความต้องการของกลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลกที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคในกลุ่ม Emerging markets เช่น จีนและอินเดียซึ่งมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงมาก ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้จะยังมีรายได้ที่ไม่สูงนัก แต่ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้กำลังอยู่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านระดับรายได้และเริ่มมีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการฟุ่มเฟือยหรือสินค้าในระดับบนมากขึ้น โดยพบว่าสินค้าส่งออกของ SMEs ไทยที่มีโอกาสเจาะตลาดในประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ ตามกระแสนิยมในยุคไอทีและสินค้าเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ งานวิจัยของสมาคมตราสินค้าจีน (China Brand Association) พบว่า ปัจจุบันชาวจีนนิยมบริโภคขนมขบเคี้ยวและของทานเล่น (snack food) กันมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดไอศกรีมในจีนซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงกว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอัตราการเติบโตสูงถึงราว 20% ต่อปี จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือโอกาสทางธุรกิจจำนวนมหาศาลสำหรับ SMEs ไทยที่ต้องการขยายโอกาสทางธุรกิจในตลาดแห่งนี้ หรือแม้แต่ในตลาดอีกหลายประเทศที่ยังคงเปิดกว้างอยู่อีกมาก เช่น ตลาดกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) หรือตลาดตะวันออกกลาง เป็นต้น
กลุ่มผู้สูงอายุมีสัดส่วนการใช้จ่ายในเรื่องวิตามินและยาบำรุงต่างๆ ต่อยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดในหมวดสินค้าปลีกสูงกว่าคนในวัยอื่นถึงราว 2 เท่าตัว
เช่นเดียวกับการก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (aging society) ปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าส่งผลให้อัตราการตายของประชากรโลกลดลง ขณะที่อัตราการเกิดของหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยก็ลดลงด้วย ทำให้ลักษณะทางโครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และผู้บริโภคในกลุ่มนี้กำลังจะกลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดโลก สะท้อนได้จากสินค้าและบริการหลากหลายประเภทที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะ โดยพบว่าธุรกิจ SMEs ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตดีและเริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในไทยขณะนี้ คือ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ elderly care business ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮมสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจให้บริการรับ-ส่งเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ การเปิดศูนย์ธรรมชาติบำบัดสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการใช้บริการการแพทย์ทางเลือก หรือแม้แต่การรุกตลาดผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ เช่น ฟันปลอมและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฟันปลอม รถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุ รวมทั้งตลาดยารักษาโรค อาหารเสริมและวิตามินบำรุงร่างกายต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งพบว่าปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้ในไทยยังมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุ และยังไม่มีการทำการตลาดอย่างจริงจังมากนักจึงนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งลู่ทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย หรือแม้แต่โอกาสที่เกิดจากความตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค (health-conscious consumers) ซึ่งพบว่าปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกรวมทั้งในไทยต่างหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น และนิยมผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมองว่ามีความปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งนี้ พบว่ามูลค่าตลาดอาหารเกษตรอินทรีย์โลกในปี 2007 คิดเป็นมูลค่าตลาดสูงถึงราว 1.4 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าในปี 2012 มูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.2 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 54% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มตลาดที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ สินค้าเพื่อสุขภาพอาจไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงแต่จะเน้นที่คุณค่าและอนามัยของสินค้า ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่จะเข้ามาคว้าโอกาสจากแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าออร์แกนิกส์ของโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัยในการบริโภคสูง และไม่มีสารพิษตกค้าง ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ “แนวคิดการปลูกชาแบบออร์แกนิกส์” หรือ เกษตรอินทรีย์ 100% ของผู้ประกอบการไร่ชารายหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ “Organic Thailand” ตั้งแต่ปี 2003 และกำลังจะได้รับมาตรฐานออร์แกนิกส์ของสหรัฐฯ (USDA) โดยพบว่า การทำไร่ชาดังกล่าวมีการทำโรงปุ๋ยหมักเองโดยใช้มูลสัตว์ และมีการใช้สมุนไพรต่างๆ เช่น สะเดาเพื่อไล่แมลงซึ่งแม้ว่าในระยะแรกต้นทุนการทำไร่ชาแบบออร์แกนิกส์นี้จะสูงกว่าการทำไร่ชาทั่วไป แต่ในระยะยาวแล้วพบว่าสินค้าออร์แกนิกส์มีโอกาสในการสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีกว่ามาก จากราคาขายที่สูงกว่าในฐานะสินค้าพรีเมี่ยม รวมทั้งโอกาสในการรองรับฐานผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภท “ผักอัดเม็ด” ของ SMEs ไทยรายหนึ่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่กลุ่มคนรักสุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตผักสดในประเทศ ซึ่งพบว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างงาม และในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทมีแผนที่จะส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศโดยจะเริ่มจากประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ แล้วจึงขยายต่อไปยังผู้บริโภคในตลาดแถบตะวันออกกลางซึ่งแสดงความสนใจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากในบางประเทศหาซื้อผักสดมารับประทานได้ยากมาก รวมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ fish oil เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถบริโภคได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบว่า SMEs ไทยรายหนึ่งที่หันมาบุกธุรกิจอาหารเสริมประเภทนี้มีรายได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 100% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น global trends ต่างๆ เหล่านี้ นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับ SMEs ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเริ่มหันมาให้ความสนใจและปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
Comments