เปิดโลกทัศน์ให้กว้าง : การออกนอกกรอบกับการระดมสมอง
- Words of wisdom -- Credit by scbsme.com
- 30 เม.ย. 2558
- ยาว 1 นาที

ธุรกิจทุกวันนี้เป็นการแข่งขันที่สู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง รุนแรง ใครมีอะไรใหม่ก่อนคนอื่นต้องรีบนำออกมาโชว์และออกมาขายชิงพื้นที่ตลาด พื้นที่สื่อ และพื้นที่ในหัวใจลูกค้าให้ได้ก่อนคู่แข่ง ใครมีไอเดียที่ไม่เหมือนใครก็ต้องรีบทำออกมาเพื่อไม่ให้คู่แข่งตามทัน หรือแม้กระทั่งการมองหาสิ่งที่ไม่เหมือนใครตลอดเวลา หรือสิ่งที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทางการตลาดและผลิตภัณฑ์ ที่สามารถตอบสนองที่ทุกคนต้องการ
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องการ ความแปลกใหม่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าหรือแม้แต่การพัฒนาภายในองค์กรก็ตาม แต่ความคิดใหม่ๆ ไม่ใช่สามารถเดินไปร้านขายของชำแล้วเลือกซื้อได้ แต่ล้วนมาจากกระบวนการค้นหาตามโจทย์ที่ตั้งไว้ หรือ บางทีอาจได้มาจากบุคคลอื่นแนะนำและมาต่อยอด แต่ว่าแนวคิดใหม่ๆ จะไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายจากการเพียงแต่นั่งคิดโดยคนๆ เดียว เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่การแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นระหว่างกันภายในทีมงานหรือการระดมสมอง (Brainstrom)

ในหลายครั้งการระดมสมองถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาหลายๆ เรื่องเพื่อหาทางออก หรือการคิดสร้างไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้งานต่างๆ โดยเน้นเอาปริมาณความคิดของทุกคนออกมา หลายครั้งความคิดที่ออกมายังติดอยู่ในกรอบความคิดเดิมของแต่ละคนอยู่ ทำให้ไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
หลายๆ ครั้งการระดมสมองก็มีการมองว่าไอเดียที่ออกมาไม่สามารถเป็นไปได้ โดยใช้ความคิดของตนเองใส่เข้าไป จนทำให้ไอเดียที่น่าสนใจและแหวกออกจากกรอบไม่สามารถก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างได้ เพราะคำๆ เดียวคือ “เป็นไปไม่ได้” แน่นอนว่าความคิดแรกอาจจะยังเป็นไปไม่ได้เพราะยังไม่ถูกปรับให้เข้ากับบริบทที่เป็นจริง แต่การนำมาคิดต่อร่วมกับความคิดอีกหลายๆ ชุด ก็อาจสามารถปรับให้เข้ากับบริบทขององค์กรและสภาพภายนอกได้ในที่สุด แต่ก็มีหลายๆ ความคิดต้องถูกตีตกไปด้วยเพียงเพราะไม่ผ่านเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งนั่นาจนำมาสู่ความผิดพลาดในการตัดสินใจคิดแผนงานขององค์กรได้
Tina Seelig หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญแห่ง Standford University และนักเขียนแนวโค้ชชิ่ง การสร้างไอเดีย และการระดมสมองให้ได้ผลสำเร็จหลายเล่ม ได้แนะนำเอาเทคนิคบางอย่างมาช่วยในการระดมสมองให้สามารถแหวกออกจากกรอบเดิมๆ และล้างความคิดว่าเป็นไปไม่ได้นั้นทิ้ง

Tina Seelig
ทั้งนี้ Tina คิดว่า การระดมสมองนั้นส่วนสำคัญมากคือการยอมรับความจริงที่ว่า ไม่มีแนวคิดหรือไอเดียใดที่ห่วยหรือไม่ดี และต้องไม่คิดว่า แนวคิดของตนเองเหนือกว่าของคนอื่น แต่ต้องคิดว่าเป็นแนวความคิดร่วมกันและทุกคนจะต้องร่วมกันต่อยอดแนวคิดนั่นขึ้นมา Tina ได้เสนอเทคนิคโดยแบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็นกลุ่มย่อยๆ และให้แต่ละกลุ่มไปศึกษาและเขียนโครงการหรือไอเดียที่คิดว่าดีที่สุดมีกำไรมีผลตอบแทนที่ดีที่สุด และไอเดียที่คิดว่าแย่ที่สุดมีการทำไรน้อยมากหรืออาจขาดทุนไปเลย มาอย่างละ 1 ชิ้น และส่งให้ทีมอื่นๆดูโดยเอาโครงงานที่ดีที่สุดทิ้งไป เหลือแต่ไอเดียที่แย่ที่สุดแลกกับกลุ่มอื่นๆ ดูและให้ทำการพัฒนาและต่อยอดจากไอเดียที่คิดว่าแย่ที่สุดนั้นขึ้นมาใหม่ ผลที่ออกมากลับพบว่าไอเดียที่แย่ที่สุดที่กลุ่มตนเองคิดขึ้นมานั้นกลับกลายเป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยมมากของกลุ่มอื่นและถูกนำไปขยายความ ต่อยอดและศึกษาจนออกมาเป็นโครงการที่น่าสนใจหลายๆโครงการ แสดงว่าไอเดียที่แย่ที่สุดไม่ใช่ไอเดียที่เป็นไปไม่ได้ และไม่ใช่ไอเดียที่แย่หากแต่เมื่อเอามาต่อยอดต่อก็สามารถถูกพัฒนาให้ขยายออกไปให้ดีขึ้นได้ แสดงให้เห็นถึงการต่อยอดและการเปิดรับความคิดใหม่ๆที่ไม่ตรงกับความคิดเรา หรือก็คือการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างมากขึ้น ในอดีตการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์จำนวนมากเกิดจากความเป็นไปไม่ได้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเทคนิคที่น่าสนใจของ ไรอัน แมดสัน จากหนังสือ Improv Wisdom ที่ให้แบ่งคนออกเป็นคู่และให้โจทย์เป็นการจัดปาร์ตี้ขึ้นมาโดยแบ่งเป็นคนแรกเป็นคนเตรียมงานคิดทุกอย่างทั้งไอเดียและการทำงานทั้งหมด ส่วนคนที่สองเป็นคนปฏิเสธทั้งหมด และเมื่อครบเวลา ก็จะสลับกันแต่ครั้งนี้เปลี่ยนให้คนแรกตอบรับทุกอย่างที่คนที่สองเสนอและให้ต่อยอดจากแนวคิดนั้นมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ผลที่ออกมาคือแนวคิดใหม่ที่ออกมาอย่างมหาศาลจนกระทั่งหลุดกรอบธรรมดาออกไปเลย เป็นการสะท้อนที่ว่าการระดมสมองที่ดีควรเปิดให้มีการนำเสนอแนวคิดอย่างมีพลังพร้อมกับกระตุ้นการให้เปิดแนวคิดใหม่ๆที่ไม่เหมือนใครมากขึ้นเรื่อยๆออกมา แน่นอนว่าแนวคิดที่ใช้ได้อาจไม่เยอะ แต่นั่นจะกลายเป็นแนวคิดใหม่ที่ทุกคนไม่เคยคิดมาก่อน และเมื่อต่อยอดออกไปจะกลายเป็นแนวคิดที่ทรงพลังเพิ่มมากขึ้น
การระดมสมองจุดสำคัญคือการกระตุ้นให้คนภายในทีมสามารถปลดปล่อยไอเดียออกมาให้มากที่สุดแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ และในความเป็นไปไม่ได้นั้น หากไม่มองผ่านๆ ก็อาจมีค่ามากกว่าที่คิด
การปิดกั้นความคิดว่าเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรก ย่อมไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ที่อาจท้าทายแนวคิดเดิม ๆที่ยึดติดกันมานานและเชื่อว่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้องแล้ว แต่จริงๆแล้วแนวคิดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ อาจสามารถเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์และการแข่งขันได้ เช่น แนวความคิดของการค้นหาแบบgoogle การสร้างสังคมออนไลน์อย่าง facebook เป็นต้น ความคิดเหล่านี้เมื่อ 20 ปีก่อนอาจบางคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ทุกคนอยู่ในโลกของ Google และ facebook ไปแล้ว
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://thinkergy.com/testimonials-what-they-say/ http://www.ru.nl/fm/studenten/actueel/studentenbrainstorm/ http://vendoxte.beepworld.it/
Commentaires