“วิสิฐษ์ โมไนยพงศ์” กับโจทย์ยากสร้างมาตรฐานธุรกิจ “รับสร้างบ้าน ไม่เพียงแค่ รับสร้างบ้าน”
- ธุรกิจก้าวหน้า ฉบับที่ 301มีนาคม-เมษายน 57
- 30 เม.ย. 2558
- ยาว 2 นาที

ปัจจุบันมีสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านก่อตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค ไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้รับเหมา อีกทั้งเพื่อชี้ให้เห็นกันอย่างชัดเจนระหว่างธุรกิจรับสร้างบ้านและผู้รับเหมานั้นว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
นิตยสารธุรกิจก้าวหน้าฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจกับธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยได้รับเกียรติจาก วิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการรับสร้างบ้านมาเป็นเวลา 24 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกสมาคม สมาคมธุรกิจสร้างบ้าน วาระปี 2557-2558 และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรี.ดี.เฮ้าซิ่ง จำกัด บริษัท โฮมออฟฟิศ บิวเดอร์ เซ็นเตอร์ จำกัด M-Property เว็บไซต์ประกาศซื้อ-ขายที่ดินและอสังหาฯ
“ธุรกิจรับสร้างบ้านจะแตกต่างกับผู้รับเหมา และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้าบอกว่าแตกต่างกับอสังหาฯ หลายคนพอจะเข้าใจได้ แต่ถ้าบอกว่าแตกต่างกับผู้รับเหมานี่ยังคงสงสัยอยู่ คำว่าผู้รับเหมาคือลักษณะลูกค้าหาแบบบ้านมาและเดินเข้ามาหาผู้รับจ้างสร้างและเกิดการว่าจ้าง ส่วนใหญ่จะมองเรื่องราคาเป็นหลัก เมื่อสร้างเสร็จก็คือปิดงาน ปิดการขาย แต่ธุรกิจรับสร้างบ้านเริ่มตั้งแต่ออกแบบและเสนอราคาให้ลูกค้า ให้คำปรึกษาในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัสดุ สินเชื่อ เรียกว่าสนองตามความต้องการของลูกค้า หรือแม้แต่ลูกค้าขาดตกบกพร่องตรงไหนไป ก็จะเสนอให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้าว่าต้องการหรือไม่อย่างไร และเมื่อสร้างเสร็จยังมีการรับประกันหลังการขาย ดูแลลูกค้าต่อเนื่อง เป็นธุรกิจบริการประเภทหนึ่ง ดังนั้น ธุรกิจรับสร้างบ้านจึงต้องมีบุคลากรในหลายสาขาวิชาชีพมาทำงานตรงนี้ อาทิ วิศวกร สถาปนิก ฝ่ายขาย บัญชี การบริหารจัดการ แน่นอนว่าการทำงานยากกว่าผู้รับเหมามาก

สำหรับการใช้บริการสินเชื่อของธนาคาร เมื่อก่อนสินเชื่อไม่ได้เอื้อกับผู้สร้างบ้านเท่าที่ควร ไม่ว่าจะในเรื่องของเงื่อนไขการให้กู้ต่างๆ วงเงิน และวิธีการยื่นกู้ที่ยุ่งยาก ไม่เอื้ออำนวยกันระหว่างผู้รับสร้างบ้าน ลูกค้า และธนาคาร เราจึงมีโจทย์ขึ้นมาว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้ามีบ้านง่ายขึ้น ผมจึงเข้าไปคุยกับแบงก์ และเป็นคนแรกที่ฝ่าฟันตรงนี้มาตั้งแต่ปี 2546 โดยธนาคารที่ผมต้องขอบคุณเพราะเขาตอบรับเรามาเป็นเจ้าแรกนั่นคือ ธนาคารไทยพาณิชย์”
ปัจจุบันธนาคารที่เข้ามาบริการปล่อยสินเชื่อให้กับเราเรียกว่าอยากใช้บริการธนาคารไหนเรามีให้หมดทุกธนาคาร เรียกว่า ไม่มีเงินก็สามารถสร้างบ้านได้ สนองความต้องการให้กับลูกค้าว่าทำอย่างไรถึงจะมีบ้านได้ง่ายขึ้น จากเมื่อก่อนจะสร้างบ้านแต่ละหลังราคาหนึ่งล้าน ต้องมีเงินในมืออยู่ประมาณ 2-3 แสน ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ถ้าพูดง่ายๆ คือเขามีปัญญาผ่อนแต่ไม่มีเงินก้อน และปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ผมจึงเล็งเห็นตรงนี้จึงมาปรึกษากับทางแบงก์ว่าจะให้โอกาสและปรับเงื่อนไขเพื่อสามารถเอื้อประโยชน์ ให้กับลูกค้าได้มากขึ้น เริ่มปรับเปลี่ยน พัฒนารูปแบบกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงวันนี้จัดได้ว่าสมบูรณ์แบบแล้วสำหรับสินเชื่อที่เราให้บริการ ควบคู่กับธุรกิจรับสร้างบ้าน ลูกค้าเพียงแต่มีที่ดินอย่างเดียวไม่ต้องมีเงินก็สามารถมีบ้านได้แล้ว
“บริษัท ทรี.ดี.เฮ้าซิ่ง จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านมีสาขาเดียว แต่จะมีธุรกิจรับสร้างโฮมออฟฟิศอีกหนึ่งบริษัท คือ บริษัท โฮมออฟฟิศ บิวเตอร์ เซ็นเตอร์ จำกัด (HOBC) และเว็บไซต์เกี่ยวกับประกาศซื้อ-ขายที่ดินและอสังหาฯ คือ M-Property แรงบันดาลใจเกิดจากลูกค้าอีกนั่นแหละที่นิยมจะเปลี่ยนแปลงบ้านเป็นออฟฟิศในตัว คืออยู่อาศัยและทำงานไปด้วยพร้อมๆ กัน ผมจึงแยกธุรกิจให้เป็นกิจจะลักษณะ จึงทำให้เกิดตลาดรับสร้างโฮม ออฟฟิศ ขึ้นมา โฮมออฟฟิศเราจะไม่ใช่ตึกสูงมีเพียง 3 ชั้น 5 ชั้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดที่องค์ประกอบและลูกค้าไม่เหมือนกัน แต่บริษัท ทรี.ดี.เฮ้าซิ่ง จำกัด และ บริษัท โฮมออฟฟิศ บิวเตอร์ เซ็นเตอร์ จำกัด จะมีความแตกต่างกันอยู่คือ การออกแบบให้สอดคล้องความต้องการในการใช้งาน ด้านกฎหมาย และการขอสินเชื่อ”
ผมจะยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลักเพราะความต้องการของลูกค้าจะหลากหลาย บางรายต้องการแบบโมเดิร์น บางรายต้องการแบบคลาสสิค หรือบางคนต้องการทั้งสองแบบมาผสมกัน หรือมีลูกค้าอีกบางประเภทคือบอกกับเราว่าต้องการรูปแบบโมเดิร์น แต่อธิบายให้เราฟังไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับสร้างบ้านที่จะตีโจทย์ในคำว่าโมเดิร์นนั้นคือสโตล์เป็นอย่างไร เมื่อเจาะลึกถึงความต้องการของลูกค้าจึงร่างแบบให้เขาดู แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ลูกค้าตั้งไว้ เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันตั้งแต่เริ่มออกแบบ เพราะบางครั้งออกแบบตามใจลูกค้ามากเกินไปทำให้เกินงบ อีกทั้งเมื่อเราได้โจทย์มาว่าต้องออกแบบอย่างไร คนที่คิดแบบจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ในการออกแบบ แต่เมื่อมาเจอกันเพื่อนำแบบมาให้ดูถ้าเกิดลูกค้าไม่พอใจความเสียหายจะเกิดกับใครถ้าไม่ใช่บริษัท ฉะนั้นการจดลิขสิทธิ์แบบจึงเป็นการ ป้องกันการนำแบบแปลนเราไปใช้ก่อสร้าง
“การดำเนินงานภายใต้ความคิดของผม จะเป็นลักษณะก้าวไปเรื่อยๆ ใช้หลักการบริหารคือ ออกแบบและสร้างตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก 3D GROUP จะเป็นตลาดลักษณะตัดเสื้อผ้า จึงค่อนข้างมีแบบที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพว่าความต้องการของเขาอยากได้แบบไหน ต้องการแก้ไขตรงไหน เพราะเมื่อบ้านสร้างเสร็จส่วนมากจะแตกต่างกับแบบมาตรฐานที่ผมมีให้ เพราะความต้องการ เสริม เติม แต่ง ของลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นบุคลากรที่ไปคุยงานไม่ใช่เป็นเพียงแค่ฝ่ายขาย แต่ทุกคนเป็นถึงสถาปนิก เพราะเมื่อรับฟังลูกค้าถึงความต้องการ บุคลากรเหล่านั้นต้องออกแบบให้ลูกค้าเห็นภาพ ณ ตรงนั้นในทันที และปรับแบบจนได้ตามใจของลูกค้า จึงนำกลับมาร่างเป็นฉบับจริงในขั้นตอนต่อไป

วิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ ในบทบาทนายกสมาคม สมาคมธุรกิจสร้างบ้าน วาระ 2 ปี คือ 2557-2558
“สมาคมรับสร้างบ้านเดินมาถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 10 พอดี ผ่านนายกสมาคมมา 5 คน ผมเป็นคนที่ 6 เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 และผมเป็นกรรมการตั้งแต่เริ่มต้น โดยบุคลากรในสายอาชีพเดียวกันร่วมกันก่อตั้ง จากเมื่อก่อนเป็นคู่แข่งทางธุรกิจและไม่มีโอกาสได้ร่วมพบปะพูดคุยกัน เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ได้มานั่งถกปัญหากันจึงรู้ว่าทุกคนประสบปัญหาเดียวกัน จึงเกิดความคิดตรงกันว่าเราน่าจะร่วมกันก่อตั้งสมาคมขึ้นมาเพื่อรองรับและช่วยกันแก้ปัญหาให้ถูกจุด สมาคมรับสร้างบ้านได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากที่ไม่มีใครรู้จักและแยกไม่ออกระหว่างผู้รับเหมากับธุรกิจรับสร้างบ้าน แต่มาวันนี้สื่อรู้จัก สังคมรู้จัก เราได้รับการยอมรับและความเชื่อถือในสังคม หรือแม้แต่ในแวดวงวิชาการต่างๆ ได้มีการยกระดับของอาชีพนี้ขึ้นมา ซึ่งการยกระดับมีหลายประการ อาทิ ยกระดับคุณภาพสมาชิก สร้างกลไกในการอำนวยความสะดวกกับการทำธุรกิจของสมาชิก อีกทั้ง เป็นตัวแทนเพื่อคุยกับภาครัฐ เอกชน เมื่อสมาชิกมีความต้องการหรือมีปัญหา ฉะนั้น หน้าที่หลักของสมาคมคือ เป็นตัวแทนของสมาชิก เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกสามารถทำธุรกิจได้ดีขึ้น”
เมื่อถามถึงการแบ่งกลุ่มหรือกรุ๊ปของธุรกิจรับสร้างบ้าน ในสมาคมธุรกิจสร้างบ้าน วิสิฐษ์ กล่าวว่า “โครงสร้างของสมาคม จะแบ่งเป็นกลุ่มของธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งธุรกิจรับสร้างบ้านจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ประเภทสามัญ และ 2.ประเภทวิสามัญ ก.และวิสามัญ ข. (ประเภทวิสามัญ ก.คือธุรกิจรับสร้างบ้าน ประเภทวิสามัญ ข.จะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง แต่ไม่ได้รับสร้างบ้านโดยตรง)
วิสิฐษ์ อธิบายเพิ่มเติมถึงประเภทสามัญและวิสามัญว่า “ประเภทวิสามัญ คือ การเริ่มต้นที่จะเข้ามาในสมาคมธุรกิจสร้างบ้านจะต้องมีคุณสมบัติข้างต้นคือ ต้องมีโชว์รูม มีแบบบ้านมาตรฐานที่ทำเป็นเรื่องเป็นราวใน 10 แบบ รวมทั้งมีการทำการตลาดในแบบที่ชัดเจน มีบุคลากร สถาปนิกประจำ ประกอบการมาอย่างน้อย 3 ปี และมีผลงานติดต่อกัน 30 ล้าน ถ้าครบองค์ประกอบที่กล่าวมานี้ก็สามารถสมัครเข้ามาได้ และเมื่อสมัครเข้ามาแล้วจะให้เป็นวิสามัญ ก.ก่อน หลังจากนั้นอีก 2 ปี จะมีการประเมิน ถ้ายอดขายหรือการทำธุรกิจต่อเนื่องมีผลงานประมาณ 60 ล้าน จะได้เลื่อนเป็นวิสามัญ
การกลั่นกรองคุณภาพของสมาชิกเป็นเรื่องที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญเพราะการที่รับสมาชิกเข้ามาในแต่ละครั้งเมื่อรับมาแล้วการที่จะให้เขาออกนี่ยากนะ เพราะเมื่อมีปัญหากับลูกค้านั่นหมายถึงว่าสมาคมธุรกิจสร้างบ้านก็เสียชื่อไปด้วย เราจึงต้องเน้นคุณภาพให้ได้คนและงานคุณภาพจริงๆ เข้ามา เพราะนั่นหมายถึงความเชื่อถือของสมาคมธุรกิจสร้างบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่เรายึดปฏิบัติกันมาช้านาน เมื่อเกิดปัญหาของสมาชิกกับลูกค้า แน่นอนว่าลูกค้าต้องมีการร้องเรียนเข้ามาที่สมาคมธุรกิจสร้างบ้าน ฉะนั้นจึงมีกรรมการดูแลเรื่องไกล่เกลี่ย ช่วยในการแยกประเด็นได้ชัดเจนขึ้น เป็นเสมือนตัวกลางในการประสาน ทำให้มีการคุยและตกลงกันได้ง่ายขึ้น ส่วนมาก 90 เปอร์เซ็นต์ เคลียร์และจบที่สมาคม อีกทั้งสมาชิกก็ต้องมีการปรับปรุงตัวเองเหมือนกัน ในกรณีมีปัญหากับลูกค้าบ่อยๆ ขึ้นและไม่รับฟังปัญหาของลูกค้า หรือไม่ปฏิบัติตามในสิ่งที่สมาคมฯ แนะนำ นั่นหมายถึงว่า ต้องพ้นสภาพสมาชิกสมาคมไปปริยาย”
ขึ้นชื่อว่าธุรกิจย่อมมีปัจจัยที่เข้ามากระทบทำให้ธุรกิจสะดุดด้วยกันแทบทั้งสิ้น ธุรกิจรับสร้างบ้านก็เช่นกัน
“ปัญหาที่หนักสุดและเป็นปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอด คือการขาดแคลนแรงงาน และเมื่อปีที่ผ่านมาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี่กระทบแรงที่สุด เพราะงานที่รับไว้ก่อนที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นทำให้ไม่สามารถขึ้นราคากับลูกค้าได้ ถ้าเทียบบ้านราคา 1 ล้านต้นทุนเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ประกอบการที่รับงานไว้มีผลกระทบเยอะมาก เพราะกำไรนี่แทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำแต่ก็ต้องทำเพราะรับงานไว้แล้ว บางรายไม่ทำและทิ้งงานไปเลยก็มี แต่สำหรับสมาชิกสมาคมธุรกิจสร้างบ้านถึงแม้ว่าพอรับเงื่อนไขตรงนี้ได้ แต่บอกตามตรงว่าเหนื่อยกันมาก ซึ่งงานที่จะรับกันใหม่ก็ต้องบวกเพิ่มไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์ กับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมา ตรงนี้ลูกค้าหรือผู้บริโภคก็ต้องรับกันไป ปัญหาตรงนี้เอกชนแก้ไม่ได้หรอกครับ รัฐบาลต้องช่วยและอยากให้ช่วยสองเรื่องคือเรื่องค่าใช้จ่ายกับเรื่องกฎหมายการข้ามย้ายเขต ที่ผ่านมาสมาคมฯ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ โดยการร่วมมือกับกรมอาชีวะฯ ให้ทุนนักศึกษา เมื่อจบออกมาก็มาทำงานให้กับสมาชิกสมาคมฯ ไม่เช่นนั้นเราจะหาแรงงานที่มีฝีมือไม่ได้เลย”

นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวต่ออีกว่า “นโยบายทุกอย่างจะเป็นเรื่องของภายใน มองว่าทำอย่างไรให้สมาชิกได้ประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาคมมากที่สุด ผมตั้งใจจะขยายฐานของธุรกิจคือจากที่เราเพียงแค่รับสร้างบ้านแต่เราจะทำให้ไม่เป็นเพียงแค่รับสร้างบ้าน นั่นคือปัจจุบันลูกค้าจะมาคุยเรื่องแบบบ้าน เมื่อออกแบบและสร้างให้เสร็จและมีบริการหลังการขาย แต่ตอนนี้เราจะเสนอลูกค้าในเรื่องออกแบบตกแต่งบ้านเพิ่มเติมไปให้ด้วย ไม่ว่าจะเรื่องรั้ว จัดสวน ประตู สระว่ายน้ำ ฯลฯ เพียงแต่เสนอแนะเขาว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้หรือไม่ พอใจมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกอย่างเป็นการตัดสินใจและความพึงพอใจของลูกค้าไม่ได้เป็นการบังคับ เพื่อให้ลูกค้าจะได้บ้านที่สมบูรณ์แบบขึ้น และแน่นอนว่าสมาคมฯ ต้องเพิ่มหน้าที่คือหาสินเชื่อมารองรับกับรูปแบบงานตรงนี้ เพราะจะเป็นสินเชื่ออีกลักษณะหนึ่ง จะแตกต่างจากที่มีอยู่โดยสิ้นเชิง ทุกอย่างที่คิดและลงมือทำจะต้องวางรูปแบบไว้ครบถ้วนหมดแล้วเช่นกันครับ เพื่อจะได้รองรับความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมมากที่สุด ในขณะที่เดียวกันก็ยกระดับมาตรฐานบริการให้ได้คุณภาพ
สร้างมาตรฐานคุณภาพการให้บริการเทียบเท่าระดับสากลรองรับของการก้าวเข้าสู่ AEC
“เรื่อง ISO เป็นนโยบายหลัก อีกเรื่องคือเรื่องความเชื่อถือของสมาชิกในสมาคมฯ เป็นเรื่องใหญ่ สมาคมจะทำแต่เรื่องการตลาดให้เขาอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราต้องมีการสนับสนุนให้ยกระดับการบริการของเราต้องสนับสนุนให้สมาชิกทุกคนแข็งแรงขึ้น สร้างมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล ซึ่งจะช่วยรองรับ AEC ได้อย่างชัดเจน แต่ก็ต้องเจอกับผลกระทบที่จะตามมาอย่างแน่นอน เรื่องแรกคือการที่กลุ่มบริษัทต่างชาติจะต้องเข้ามาร่วมลงทุนทำธุรกิจรับสร้างบ้านในเมืองไทย ซึ่งค่อนข้างเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เรื่องที่สองที่กระทบคือ ลูกค้าเริ่มเรียกร้องถึงความมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของแรงงาน ซึ่งจากที่รู้มาว่ามีผลกระทบ 8 สาขาวิชาชีพ สำหรับธุรกิจรับสร้างบ้านจะมีผลกระทบคือวิศวกร สถาปนิก จากเดิมผู้ที่จะต้องเซ็นชื่ออนุมัติแบบแปลนต่างๆ ต้องเป็นคนไทย แต่ต่อไปถ้า AEC เข้ามา จะมีการเปิดเสรีมากขึ้น ทุกประเทศสามารถเซ็นได้ แต่ต้องมีมาตรการกันบ้าง นั่นคือ ต้องมีการสอบกับสภาวิชาชีพของไทย นั่นคือ สภาวิศวกร ถ้าสอบผ่านได้ใบประกาศเท่ากับว่าคุณมีสิทธิ์”

8 ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาธุรกิจรับสร้างบ้านสู่ความยั่งยืน
“สำหรับผมจะคิดจัดการภายในก่อนโดยเน้น 8 ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาธุรกิจรับสร้างบ้านสู่ความยั่งยืน นั่นคือ 1.ยุทธศาสตร์ด้านการเงิน จะทำให้มีความมั่นคงทางการเงิน 2.ยุทธศาสตร์ขยายฐานธุรกิจ จะทำให้สมาชิกและสมาคมได้ประโยชน์คือ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มมูลค่ารวม เพิ่มอำนาจการต่อรอง สำหรับสมาชิกจะได้เพิ่มมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งสมาคมจะได้เพิ่มศักยภาพโดยรวม 3.ยุทธศาสตร์ขยายฐานสมาชิก ซึ่งสมาชิกจะได้ประโยชน์คือ การเพิ่มโอกาสเข้าเป็นสมาชิก เพิ่มโอกาสในการพัฒนา เพิ่มความน่าเชื่อถือ 4.ศักยภาพพัฒนาด้านสินเชื่อ สมาชิกจะได้ประโยชน์คือ เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด เพิ่มโอกาสทางการขาย พร้อมทั้งได้รับผลประโยชน์ในการแนะนำสินเชื่อ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 5.ยุทธศาสตร์มุ่งสู่มาตรฐานสากล เพื่อเข้าสู่มาตรฐานสากล และเพิ่มศักยภาพรองรับ AEC โดยสมาชิกจะได้รับประโยชน์คือ พัฒนามาตรฐานสู่สากล เพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มคุณค่าการให้บริการ โดยสมาคมจะได้สมาชิกที่เข้มแข็ง เพิ่มพูนศักยภาพและภาพลักษณ์สมาคม 6.ยุทธศาสตร์เพิ่มศักยภาพและสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบเตือนภัยคุกคาม อีกทั้งเฝ้าระวังและศึกษาภัยคุกคามและโอกาสทางธุรกิจ สมาชิกจะได้รับประโยชน์คือ ได้รับประโยชน์ต่อการทำงานเชิงรุกทั้งด้านเตือนภัยและแนวทางป้องกันบรรเทา นอกจากนี้สมาชิกจะได้รับข้อมูลทางธุรกิจเพื่อการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 7.ยุทธศาสตร์สร้างองค์การให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้อย่างเป็นธรรม และห้องสมุดอีเล็คโทรนิค ที่สมาชิกจะมีแหล่งข้อมูลเฉพาะด้าน เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้สะดวก เพิ่มโอกาสในการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสุดท้าย ยุทธศาสตร์ด้านทุนมนุษย์ เพื่อลดภาระสมาชิกในการสรรหาคัดเลือกบุคลากร และยกระดับความเป็นมืออาชีพในหลายตำแหน่งงาน ทำให้สมาชิกได้ประโยชน์ ลดภาระในการสรรหาคัดเลือกบุคลากร ลดความสูญเสียในการทดลองงาน
ความคาดหวังต่อสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
“ผมอยากให้มีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงานในสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะได้สานต่อและทำงานควบคู่กับกรรมการชุดเก่าที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ เพื่อช่วยกันพัฒนาและยกระดับธุรกิจรับสร้างบ้าน นี่คือสิ่งที่หวังจะได้เห็น”
ได้ฟังเรื่องราวจากวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เช่นนี้แล้ว ทำให้รู้ว่าต่อไปนี้ ธุรกิจรับสร้างบ้านจะไม่เพียงแค่รับสร้างบ้านเพียงอย่างเดียวแล้ว นั่นหมายถึงความครอบคลุมในด้านการบริการ สนองความต้องการของผู้บริโภคได้ครบวงจรเลยทีเดียว
コメント