ความสำเร็จ...เกิดจากต้นกล้าแห่งปัญญา
- Words of wisdom -- Credit by...Roj Wongprasert
- 21 เม.ย. 2558
- ยาว 2 นาที

การพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จนั้น บุคลากรขององค์กรจำเป็นต้องสร้างปัญญาโดยการพัฒนาตนเองให้มีปัญญา เป็นคนดี และมีจิตใจใฝ่สำเร็จอย่างยั่งยืนโดยมีคุณธรรมเข้าทำนอง “คนดีมีปัญญา พางานสำเร็จ” ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารจะต้องพัฒนาคนให้เกิดความเจริญงอกงามทั้งทางกาย วาจา และความคิด
หลักธรรมะในการพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาคน ชอบที่จะใช้หลักสามหลักสำคัญดังนี้คือ
1.หลักการพัฒนาสร้างปัญญาให้กับบุคลากร
2.หลักการพัฒนาสร้างความสำเร็จในการทำงาน
3.หลักการพัฒนาสร้างคนให้เป็นคนดี
หลักการพัฒนาสร้างปัญญาให้กับบุคลากร ทำได้ 2 หลัก คือหลักพหูสูต และ หลักวุฒิธรรม
1.1 หลักพหูสูต คือวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ตนเองมีความรอบรู้แตกฉานในเรื่องต่างๆ จนเป็นผู้คงแก่เรียนรู้ เพื่อทำให้เกิดความชำนาญงาน ทั้งบุคลากรและผู้บริหาร จะต้องเป็นพหูสูตด้วยกันทั้งสองฝ่าย มิเช่นนั้นคงจะไม่มีภูมิปัญญาในการนำพาองค์กรสู่ความเจริญเติบโต ในขณะที่โลกกำลังอยู่ในการแข่งขันทางธุรกิจ ใครก้าวได้เร็วกว่ากัน ใครนำล้ำสมัยมากกว่ากัน รวมทั้งกระแสภาวะเศรษฐกิจและการเตรียมความพร้อมขององค์กรสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ในเรื่องนี้ จำเป็นต้องสร้างองค์กรของเราให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้มากที่สุด การเรียนรู้ทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร ถ้าไม่มีการเรียนรู้เพิ่มเติม ปัญญาก็ไม่เกิด และองค์กรก็คงอยู่กับที่ ในขณะที่องค์กรอื่นๆ พัฒนาแซงหน้าองค์กรของเราไป วิธีการฝึกหลักพหูสูตมีดังนี้
ขั้นที่ 1 ฟังให้มาก
ต้องทำตนเป็นผู้กระหายความรู้ ใคร่ฟัง ใคร่ศึกษา อ่านตำรับตำรา ชอบการสอบถาม การปรึกษาหารือกับผู้รู้ด้านต่างๆ มากขึ้น ในแง่ผู้บริหาร ต้องจัดหลักสูตรการอบรม การสร้างห้องสมุดให้ค้นคว้า และการจัดให้มีที่ปรึกษาแก่พนักงาน
ขั้นที่ 2 จำให้ได้
เมื่อได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน จากสัมผัสต่างๆ (ตา หู จมูก สัมผัส) ก็ต้องจำให้ได้ หากจำได้ ก็เท่ากับไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่ได้อ่าน จึงหาประโยชน์อะไรไม่ได้ การจำได้นี้หมายถึง จับหลักหรือสาระได้ นำไปปฏิบัติได้ผล จำและเข้าใจเนื้อหาได้ ไม่ใช่จำแบบนกแก้วนกขุนทอง คือพูดตามได้แต่ไม่เข้าใจความหมาย ไม่ได้นำไปปฏิบัติ แต่ท่องได้จำได้ก็ยังดีกว่าท่องไม่ได้จำไม่ได้ เพราะเมื่อท่องได้ยังมีโอกาสจะทำได้ ยกตัวอย่างเช่นค่านิยม 12 ประการของคนไทย เราเชื่อได้ว่ามีคนจำได้ไม่ถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของประชาชนคนไทย คนที่ท่องไม่ได้ เชื่อว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติ ส่วนคนที่ท่องได้ก็มีบางคนที่นำไปปฏิบัติ และบางคนก็ไม่ได้ปฏิบัติ
ขั้นที่ 3 คล่องปาก
จำได้ชนิดที่ใครถาม สามารถตอบได้ทันที ในอดีตนักเรียนท่อง “บทท่องอาขยาน” แม้เรียนจบเป็นเวลานาน เราก็ยังไม่ลืม เช่นเดียวกันกับการท่องทฤษฎีเรขาคณิต จึงเป็นบทสอนเราว่า วิธีจำได้ง่ายและจำได้นาน คือท่องซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้เป็นกิจวัตร เช่นเดียวกับการสวดมนต์ก็ต้องอาศัยการท่องบ่นออกเสียงอยู่เป็นประจำ
ในแง่การรักษาความปลอดภัยก็มี KYT ให้พนักงานพูดดังๆ ให้ตัวเองฟังเพื่อเตือนสติให้จำได้ตลอดทั้งวันที่ทำงาน จัดให้พนักงานท่องจำนโยบาย พันธกิจของบริษัท ให้กล่าวทุกครั้งเมื่อมีการประชุม ก็จะทำให้จำได้ในที่สุด
ขั้นที่ 4 เจนใจ
ใส่ใจนึกคิดเรื่องนั้นจนเจนใจ คิดถึงบ่อยๆ ท่องบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ที่สุดก็จะเจนใจ ไม่รู้ลืม เหมือนหลายท่าน จำบทกลอนสอนใจได้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เดี๋ยวนี้ก็ยังจำได้ นำไปแนะนำคนอื่นต่อได้ด้วย ในแง่การทำงานสามารถใช้ข้อความเตือนใจ ย้ำคิดย้ำทำ เหมือนเวลาเราเข้าห้องน้ำ จะมีประกาศเตือนอยู่เสมอว่า “โปรดรักษาความสะอาด” จนในที่สุด คนใช้ห้องน้ำก็ปฏิบัติจนติดเป็นนิสัย
ขั้นที่ 5 ขบคิดจนแตกฉานและนำไปประยุกต์ใช้
คือนำความรู้ที่ได้ มาย่อย จนกลายเป็นทางปฏิบัติสำหลับตนเอง เมื่อเราเข้าห้องเรียนรู้ ฟังแล้วก็จบ ลืม จำไม่ได้ ไม่ได้นำไปใช้ แต่ถ้าเราเอาความรู้ที่ได้นำไปทำสักเรื่องสองเรื่อง การเรียนรู้ก็จะเกิดประโยชน์
เมื่อผู้เขียนเป็นวิทยากรผู้บรรยาย มักจะยกเรื่องนี้มาให้คิดก่อนเสมอ กล่าวคือ “ทุกคนที่เข้ามาฟังบรรยายเพื่อเรียนรู้ เสียค่าใช้จ่ายเท่ากัน เสียเวลาเท่ากัน แต่ประโยชน์ที่จะได้แตกต่างกัน บางคนไม่ได้อะไรกลับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานเลยสักข้อ บางคนได้ข้อใหม่ๆ ข้อหนึ่ง บางคนได้สองสามข้อ อยู่ที่การขบคิดให้แตกฉานแล้วนำไปปฏิบัตินั่นเอง”
หลักที่ 2 หลักวุฒิธรรม เป็นหลักในการสร้างความเจริญงอกงามให้กับปัญญา มีการพัฒนาตนเองให้แตกฉานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สามารถพัฒนาได้ 4 วิธี
1.เสวนากับผู้รู้
เข้าตำรา “ศิษย์ต้องใฝ่หาศาสดา”หรือ “อายครูไม่รู้วิชา อายภรรยาไม่มีบุตร” การคบหาและปรึกษากับผู้มีความรู้ ผู้มีประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ คนที่ชำนาญเรื่องหนึ่ง อาจจะไม่รู้เรื่องอื่นก็ได้ หลักนี้ใช้กับการทำงานในสายวิชาชีพ เช่น การเป็นตัวแทนขายประกัน หรือ ช่างซ่อมบำรุง งานประเภทนี้ยิ่งจำเป็นจะต้องเข้าใกล้ผู้ที่ประสบความสำเร็จในงานด้านนั้นโดยเฉพาะ การเข้าหาคนเก่ง เป็นการเรียนรู้ที่ฉลาดและได้ผลรวดเร็ว เพราะกว่าคนๆ หนึ่งจำชำนาญได้ ต้องใช้เวลาหลายสิบปี เมื่อเราฟังเขา เท่ากับเราย่นเวลาการเรียนรู้ได้เร็วไวขึ้น
2.ฟังครูบาอาจารย์
เอาใจใส่สดับรับฟังคำแนะนำ สั่งสอนของครูในวิชาชีพ ฟังคำบรรยาย สิ่งใดไม่เข้าใจให้ซักถาม หรือปรึกษาหารือให้หายสงสัย
ใช้บันทึกช่วยจำกันหลงลืม ในข้อนี้บางคนในสายงานวิชาชีพ พอประสบความสำเร็จมักจะหลงลืมตัว คิดไปว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไม่รู้อีกแล้ว บางครั้งแค่เพื่อนคอยสะกิดให้ข้อคิดเห็นยังต้องฟัง ตามตำราโบราณว่า “จิ้งจกทัก ต้องระมัดระวัง” การมีเพื่อนคู่คิด การมีครูคอยแนะนำ อย่างไรเสียจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียหาย
3.คิดแยบคาย
“คิดถูกทาง คิดถูกวิธี คิดเป็นเหตุเป็นผล และคิดให้เกิดการสร้างสรรค์” ให้ฝึกคิดแบบเหตุผลและรอบคอบ มันคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น และจะเกิดผลต่อไปอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอะไร และมีทางออกอย่างไรบ้าง ฝึกการใช้ความคิดเชิงนวัตกรรม ฝึกตั้งคำถาม 20 คำถาม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในงาน แล้วหาคำตอบ คำถามใดที่ตอบไม่ได้ให้ถามผู้บริหารต่อไป
4.ปฏิบัติให้ถูกหลัก
ทำให้ถูกเป้าหมายและหลักการ ที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ผิดกฎหมาย และไม่ผิดศีลธรรม เช่น อยากรวยต้องขยันทำงาน หมั่นเก็บออม ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มสุรา ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ใช่ อยากรวย ต้องโกง ต้องปล้นฆ่า ค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย
อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ ต้องขยันทำงาน พัฒนาตนเอง เป็นผู้นำทางความคิดสร้างสรรค์ อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ร่วมงาน ไม่ใช่ อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เกียจคร้าน ไม่เอางานเอาการ คอยกระแนะกระแหนผู้ร่วมงาน วางตนเป็นหัวโจกในที่ทำงาน เป็นผู้นำความเลวของกลุ่ม
อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ ต้องเต็มใจทำ คือพอใจและภูมิใจในงานที่ทำ แข็งใจทำ คือได้พยายามเรื่อยไปจนกว่างานจะสำเร็จ ตั้งใจทำ คือเอาใจฝักใฝ่กับงาน และเข้าใจทำ คือมีแผนมีวิธีในการทำงานอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ ฝืนใจทำไปอย่างนั้น ทอดทิ้งงาน ที่ทำ ทำงานไม่ทัน หรือ ทำแบบเสียไม่ได้
Comments