นักบริหารมือทอง ฟื้น 2000 บริษัทที่กำลังล้มละลาย
- advancedbizmagazine
- 18 เม.ย. 2558
- ยาว 1 นาที

"ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ" นักบริหารมือทอง ฟื้น 2 พันบริษัท
จากสมุดบันทึกกว่า 70 เล่มที่ถูกถ่ายทอดเป็นหนังสือ "จากสมุดบันทึกของผม" หรือ President ’s Note รวบรวมแนวคิด 142 ข้อจากประสบการณ์บริหารธุรกิจ
สามารถแก้ไขวิกฤติของบริษัทกว่า 2,000 แห่ง ไม่เพียงได้อ่าน ยิ่งมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของประสบการณ์ ยิ่งทึ่งในแนวคิดของชายมากประสบการณ์ผู้นี้
ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ นักบริหารมือทองจากเมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ CEO และผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยศักยภาพบริษัท และยังเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจนานาชาติ มีประสบการณ์การทำงานกว่า 40 ปี ถือเป็นสุดยอดนักบริหารที่เฉียบคมและเชี่ยวชาญในการฟื้นฟูกิจการ ทำให้สามารถกอบกู้กิจการบริษัทต่างๆ ที่กำลังจะล้มละลายให้สามารถปลดหนี้และกลับมีกำไรได้อีกครั้ง
“ผมใช้เวลาหลังเลิกงาน เริ่มเขียนบันทึกเกี่ยวกับการทำงานตั้งแต่อายุ 27 ปี ทำมาแล้วถึง 45 ปี โดยส่วนใหญ่จะเลือกจดบันทึกในเรื่องธุรกิจ ทำให้มีสมุดบันทึกมากถึง 70 เล่มแล้วตอนนี้ และเห็นว่ามีหลายเรื่องในสมุดบันทึกที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารเลยอยากจะถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิด กลายมาเป็นหนังสือจำนวน 7 เล่ม โดยเล่มนี้เป็นเล่มที่ 3 ซึ่งนำมาแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยครั้งแรก”
เขาอธิบายถึงเนื้อหาในหนังสือว่า ผลงานและแนวคิดทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถูกนำมากลั่นกรองเป็น "ทฤษฎี" ในการบริหารจัดการองค์กรในรูปแบบของตัวเขาเอง
โดยมีหลักการง่ายๆ คือ ทำอย่างไรจึงจะให้บริษัทนั้นๆ สามารถ "สร้างพลัง" เพื่อดึงศักยภาพออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ
แม้แนวคิดของเขาดูไม่ต่างจากแนวคิดในการบริหารองค์กรทั่วไป แต่เขาบอกว่า "ไม่ใช่เรื่องง่าย" ที่จะทำได้อย่างที่บอก โดยเขามองว่าการสร้างพลังต้องเกิดจากการสร้างสภาวะแวดล้อมการทำงานที่ดี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของคนในองค์กรนั้นๆ และถือเป็นแนวทางแรกสุด ไม่ว่าจะฟื้นฟูกิจการใดๆ ก็ตาม
นอกจากเรื่องของสภาวะแวดล้อมในการทำงานแล้ว ทฤษฎีของเขายังกลั่นกรองแนวคิดเหลือ 142 ข้อเพื่อทำให้ผู้บริหารและบุคคลทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้ง่าย กระชับ และรวดเร็ว จนหนังสือติดอันดับ Best seller ทำยอดขายมากที่สุดในญี่ปุ่น
โดยในแนวคิดจำนวน 142 ข้อนี้ยังถูกนำมาทำให้กระชับลงอีกเป็น 3 ข้อใหญ่ ได้แก่
ข้อแรก ศักยภาพในการบริหารองค์กร หมายถึงทำอย่างไรผู้บริหารจึงจะมีศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อองค์กรมากที่สุด ที่สำคัญองค์กรจะรอดหรือไม่รอดขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริหาร
ข้อที่สอง ความมีเอกภาพขององค์กรนั้นๆ สะท้อนให้เห็นจากการแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ เช่น สินค้านั้นมีคุณภาพหรือไม่ สินค้านั้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งพนักงานมีความรู้-ความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาดมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
โดยเขาอธิบายให้ฟังว่า ถ้าคนในองค์กรมีความคิดที่มีเอกภาพไปในแนวทางเดียวกันกับองค์กรแล้ว ผลงานหรือสินค้านั้นๆ ก็จะถูกพัฒนาออกมาได้อย่างมีคุณภาพเช่นกัน
และข้อที่สาม ทำอย่างไรจึงจะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ โดยต้องอยู่รอดอย่างมีความเสี่ยง "น้อย" ที่สุด
"ถ้าทำได้ตาม 3 ข้อนี้ รับรองว่าองค์กรจะไม่ขาดทุน หรือล้มละลาย โดยเขาเองกล้าการันตีจากประสบการณ์ที่เขาเข้าไปช่วยให้แนวคิดในการบริหารงานกับบริษัทกว่า 2,000 แห่งให้กลับมามีตัวเลขผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น"
เขายังบอกด้วยว่า ประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการกว่า 2,000 บริษัทในญี่ปุ่น ไม่มีบริษัทใดที่เลือกใช้วิธี "ปลดพนักงาน" แม้แต่บริษัทเดียว
"โดยส่วนตัวผมเกลียดวิธีปลดพนักงานมาก การบริหารงานผิดพลาดน่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องรับผิดชอบมากกว่าการปลดพนักงานซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ"
ฮาเซงาวะ ยังเล่าถึงประสบการณ์ที่เขาได้เข้าไปช่วยฟื้นฟูกิจการว่า อย่างตอนที่บริษัทนิคอนรวมตัวกับบริษัทเอซิรอล ผู้ผลิตเลนส์ของฝรั่งเศส เขาเข้ามาช่วยตั้งแต่การบริหารจัดการร่วม ไปจนถึงการก่อตั้งบริษัทร่วม จนสามารถฟื้นฟูบริษัทให้กลับมามีกำไรจากการขายในปีแรก พอปีที่สองก็เริ่มมีกำไรจากการบริหารงานจนสามารถจ่ายเงินปันผลได้ ปีที่สามสามารถปลดหนี้ได้
เขายังบอกด้วยว่า การบริหารงานของบริษัทในขณะนี้ "สุ่มเสี่ยง" ต่อการบริหารงานที่ผิดพลาดและขาดทุน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีบริษัทลูกกระจายอยู่ทั่วโลก เพราะอาจลืมหรือไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการดึงศักยภาพของพนักงานออกมาใช้อย่างเต็มที่
"ผมอยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ของผม เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยคุณจะได้แง่คิดจากประสบการณ์การทำงานของผมเพื่อนำไปใช้กับการทำงาน และยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริหารและบุคคลทั่วไป"
ฮาเซงาวะ บอกว่า หลายบริษัทในญี่ปุ่นถึงขนาดทำเป็นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ เพื่อนำเสนอวิธีคิดของเขาแปะไว้ในบริษัทเพื่อให้พนักงานทุกคนได้อ่าน นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารหลายคนที่นำเอาแนวคิดของเขาไปใช้แล้วประสบความสำเร็จและเขียนจดหมายมาขอบคุณ
นักบริหารอย่างเขายังมอง "ความแตกต่าง" ระหว่างบริษัทสัญชาติตะวันตก กับบริษัทสัญชาติเอเชียว่า มีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องของสปิริตในการทำงาน เช่น การปลดพนักงานบริษัทในยุโรปหรืออเมริกามักจะเลือกใช้วิธีนี้ก่อน ต่างจากบริษัทในเอเชียที่มักจะไม่ค่อยทำกัน ทำให้บริษัทมีความเป็นเอกภาพค่อนข้างสูง
ในวัย 70 กว่าปีของเขา ถือว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากมายหลากหลาย และเป็นผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการทำงานเขาบอกว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตได้นั้น ต้องเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ การมองอดีต ทำให้รับรู้ปัจจุบัน และทำให้เรามองเห็นอนาคต นี่คือส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมให้เขาประสบความสำเร็จ
ทว่า สิ่งที่จะขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่จะประสบความสำเร็จคือ ความจริงใจ และความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำธุรกิจ อีกสิ่งที่สำคัญคือ “Never Give Up” อย่ายอมแพ้
โดย : ลมลเพ็ชร อภิสิทธิ์นิรันดร์
See more at: http://www.nationejobs.com/content/manage/concept/template.php?conno=1079
Comments