top of page
ค้นหา

ทวี ปิยะพัฒนา นำทัพกลุ่มบริษัท PFP ผงาดสู่การเป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง จากก้าวเล็กๆ ที่ท

  • credit : ธุรกิจก้าวหน้า ฉบับที่ 304 มิถุนายน 57
  • 17 เม.ย. 2558
  • ยาว 2 นาที

B.jpg

เกือบ 3 ทศวรรษที่ กลุ่มบริษัท PFP ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อผู้บริโภค โดยยึดตามหลักวิสัยทัศน์ที่ว่า “บริษัทจะเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ” ผนวกกับความใส่ใจต่อสภาวะแวดล้อม โดยวันนี้บริษัทได้ใช้พื้นที่กว่า 30 ไร่ สำหรับการรองรับ การบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิต โดยปฏิบัติตามหลักวิชาการสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเป็นระบบ พร้อมไปกับการยืนหยัดการดำเนินธุรกิจที่รักษ์โลกจนได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ธุรกิจจะไปได้ดีมีผลประกอบการที่มั่งคั่งและมีเศรษฐกิจที่มั่นคง สิ่งหนึ่งที่เป็นฟันเฟืองในการหมุนกงล้อของธุรกิจนั่นคือ บุคลากร โดย กลุ่มบริษัท PFP ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

วันนี้นิตยสารธุรกิจก้าวหน้า มีโอกาสนั่งคุยกับผู้นำทัพของกลุ่มบริษัท PFP “ทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท PFP” ทวี ปิยะพัฒนา เล่าถึงการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาอนาคตของ PFP รวมถึงแง่คิดในการดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาแบบผู้มีประสบการณ์ โดยเปิดประเด็นที่ประวัติความเป็นมาของกลุ่มบริษัท PFP

“บริษัทแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 จนถึงวันนี้ 28 ปีกว่าแล้ว เราได้เดินหน้าธุรกิจผลิตภัณฑ์เนื้อปลาบดแช่แข็งหรือซูริมิ (SURIMI) เพื่อการส่งออก และในปี 2531 ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตปลาป่นขึ้นภายใต้ชื่อ บริษัท อุตสาหกรรมปลาป่นแปซิฟิค จำกัด เพื่อรองรับเศษวัตถุดิบจากโรงงานซูริมิมาใช้ผลิตปลาป่นสำหรับโรงงานอาหารสัตว์ โดยมีกำลังการผลิตมากกว่า 10,000 ตัน/ปี จึงถือได้ว่าบริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าครบวงจรในอุตสาหกรรมที่ใช้เนื้อปลาบดเป็นวัตถุดิบหลัก

ในปี 2535 ผลจากการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดต่างประเทศ บริษัทได้เพิ่มการลงทุนในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่ใช้เนื้อปลาบดหรือซูริมิเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงประเภทคามาโบโกะ (kamaboko) อาทิ ปูอัด ชิกูว่า ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้ารวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เต้าหู้ปลา ก้ามปูเทียม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์จากเนื้อปลาทะเล โดยได้รับการตอบรับ จากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี ต่อมาในปี 2543 ได้ก่อตั้ง บริษัท พี.เอฟ.พี.เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดภายในประเทศได้อย่างทั่วถึง และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยให้บริษัท พี.เอฟ.พี.เทรดดิ้ง จำกัด เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า

32-B.jpg

ต่อมาในปี 2547 สร้างศูนย์กระจายสินค้าที่จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้ ชื่อบริษัท ที.พี.แปซิฟิค จำกัด เพื่อกระจายสินค้าสู่ภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งใช้เป็นที่พักสินค้า หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2554 บริษัท พี.เอฟ.พี.อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ก็เกิดขึ้นเพื่อผลิตอาหารสำเร็จรูป เช่น ซูชิ เพื่อจำหน่ายตามภูมิภาคต่างๆ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลแช่แข็ง โดยจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า พี.เอฟ.พี.ด้วยสโลแกนที่ว่า “อร่อยง่ายๆ ….ทำจากปลาทะเล”

ทวี ปิยะพัฒนากล่าวต่ออีกด้วยว่า “ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญที่สุดที่จะพัฒนาองค์กรให้เจริญก้าวหน้าและทันสมัย บริษัทจึงมุ่งเน้นทุกวิถีทางเพื่อพัฒนาบุคลากรเป็นอันดับแรก อีกทั้งมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการ มุ่งขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงพัฒนาการบริหารระบบคุณภาพให้เป็นมาตรฐานสากล นอกจากนี้ PFP ยังธำรงรักษาภาพลักษณ์องค์กรที่ดีมีธรรมาภิบาล ใส่ใจในคุณภาพชีวิตของพนักงานทุกระดับ ตลอดถึงสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้า เพื่อนร่วมงานและผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ก็สำคัญ ทุกผลิตภัณฑ์ของ PFP ถูกผลิตโดยเครื่องจักรทันสมัยที่ได้มาตรฐาน ควบคุมโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีประสบการณ์สูงด้านโภชนศาสตร์ พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพที่ประจำอยู่ทุกหน่วยการผลิต โดยการทำงานที่เป็นมืออาชีพมีการค้นคว้าวิจัยเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาตรวจสอบในกระบวนการทางวิชาการ รวมถึงการบรรจุหีบห่อที่ทันสมัยเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของ PFP ได้คุณภาพการผลิตและสะอาดตามมาตรฐานสากลจากกรมประมง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุขแห่งประเทศไทย และมาตรฐานโลก (Codex) รวมถึงมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก อาทิ ISO22000 และ HAL-Q”

31-A.jpg

ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันเห็นการเติบโตที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“มีการเติบโตตลอดเวลา ใน 1 ปี เติบโตเฉลี่ย 4-5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2550 มีการเติบโตที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจนมาก เราเน้นการจำหน่ายภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากเจอภาวะ แฮมเบอร์เกอร์ไครซิสที่อเมริกา เราจึงเปลี่ยนมาทำในประเทศให้มากขึ้น เพราะต่างประเทศมีขึ้นมีลง ไม่สม่ำเสมอ แต่ภายในประเทศเราเติบโตมาค่อนข้างสม่ำเสมอ กำไรชัดเจน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงนะ ความเสี่ยงก็มีให้เห็นเหมือนกัน

วันนี้เรามียอดขายได้ในประเทศ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนส่งออก ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ หลังจากแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสแล้ว การทำธุรกิจภายในประเทศสูงมาก นโยบายของเราชัดเจนคือ เราต้องเป็นผู้นำ และคุณภาพต้องมาก่อน จึงทำให้เรายืนหยัดได้และเป็นที่รู้จักกันในตลาดว่า ถ้าจะกินของดี ก็ต้องพีเอฟพี เรามีการขยายกันมาโดยตลอด เติบโตไปพร้อมกับตลาด”

ถ้าเทียบสัดส่วน การจำหน่ายในห้างสรรพสินค้ากับตลาดทั่วไปมีปริมาณแตกต่างกันอย่างไร

“สัดส่วนจำหน่ายข้างนอกห้าง 80 เปอร์เซ็นต์ ในห้าง 20 เปอร์เซ็นต์

อนาคตกับการมี Shop เป็นของตัวเอง

“ปัญหาตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนคิดเหมือนกัน เงินสามารถหาได้ แต่สิ่งที่สำคัญมากคือกำลังคนหรือทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งคน ณ ปัจจุบันนั้นหายาก อีกทั้งคนที่ได้มาความรู้ก็ไม่สูง ความรับผิดชอบก็น้อยลง แต่ละวันต้องคอยลุ้นว่าจะทำหรือไม่ทำ วันนี้จะมาหรือไม่มา ตรงจุดนี้ปัญหาเยอะมาก เยอะกว่าปัญหาการตลาดอีกด้วยซ้ำ

กับคำถามที่ให้เราทำธุรกิจเป็นลักษณะแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น โดยให้พนักงานบริหารกันเอง ยิ่งเป็นไปได้ยาก วันนี้ผมยอมรับว่าคิดได้ทำได้ ทุกอย่างทำได้หมด แต่ที่สำคัญอย่างที่บอกไว้คือทีมงาน องค์กรใหญ่เขาทำได้เพราะเขามีหน่วยงานที่รับผิดชอบเยอะและเขาก็มีเงิน แน่นอนว่าผลประกอบการ 3-5 ปีแรกอาจจะไม่ได้ตามเป้าเท่าที่ควร แต่เขาก็พร้อมเพราะอะไรเพราะเงิน เงินที่จะจ้างทีมงาน ซึ่งเงินเดือนที่จ้างทีมงานเขาให้มากกว่าเรา 20-30 เปอร์เซ็นต์เลย และเงินที่จะกล้าทุ่มกับธุรกิจ แต่ถ้าให้สู้กันจริงๆ เรื่องเงินนี่เป็นปัญหาน้อยมากเพราะเราหาได้ แต่ถ้าแพ้เรื่องคนทุกคนต้องถอยทัพกลับกันทั้งนั้น หลายคนบอกว่าถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไปทำที่ต่างประเทศสิ การไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับการจะไปสร้างองค์กรใหม่ อย่างที่เมืองจีนค่าแรงจะถูก หลายคนก็จะเปิดโรงงานแข่งกัน แน่นอนว่าต้องมีการเพิ่มค่าแรง การเปิดตลาดใหม่บอกไว้เลยว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด พูดน่ะง่ายแต่ทางปฏิบัติแล้วไม่ง่ายเลย”

สรุปปัญหาหลักของอุตสาหกรรมคือด้านบุคลากร

“ปัญหาหลักที่ต้องเผชิญคือปัญหาทางด้านบุคลากร ซึ่งเป็นความผิดพลาดของระบบอุตสาหกรรมไทยมาเป็นระยะเวลา 20 ปีแล้ว สำหรับตัวผม ผมต้องการส่งเสริมบุคลากรระดับกลาง นั่นคือวุฒิ ปวช.หรือ ปวส.เพื่อสนับสนุนงานด้านการปฏิบัติงาน ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์”

35-A.jpg

เปิดโรงเรียนวิทยาลัยประมงหลักสูตรของตัวเองมาเป็นระยะเวลา 10 กว่าปีแล้ว

“เป็นระยะเวลา 10 กว่าปีมาแล้ว ที่ทางบริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ ได้ร่วมกับวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เปิดโรงเรียนวิทยาลัยประมงหลักสูตรของผมในโรงงาน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นต้องได้รับการยอมรับจากกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของวิชาการให้เขาสอน แต่เรื่องสัตว์

น้ำทางเราจะเป็นผู้สอนเอง ซึ่งเหตุผลง่ายๆ ที่เราทำอย่างนี้เพื่อเป็นการผลิตคนที่จะเข้ามา support ให้กับงานของเรา

ทั้งนี้ เป็นที่น่าแปลกใจว่ามีคนมาเรียนน้อยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีคนเรียนประมาณ 40-50 คน แต่เราได้คนที่จบออกมามีแค่ 20 คน ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมทั้งๆ ที่เรียนฟรี มีที่พัก พร้อมกับเมื่อจบมาทุกคนมีงานทำ แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจ คิดกันแต่เพียงว่าจบมัธยมแล้วจะไปเรียนปริญญาตรี ซึ่งมันเป็นค่านิยมกันไปแล้ว”

ทิศทางขยายตลาดของ กลุ่มบริษัท PFP

“เมื่อถึงเวลาที่เรามีคนพร้อมความคิดคือจะสร้าง Shop แต่ ณ วันนี้เราเน้นตลาดภายในและต่อเนื่องรวมถึงเพื่อนบ้านรอบชายแดน เมื่อมีการตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดน ตรงนี้เป็นส่วนที่ดีและสำคัญเพราะเพื่อนบ้านเราไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา พม่า ในวันนี้ประเทศเหล่านี้มีอำนาจการซื้อมากขึ้น อาจจะเพราะจุดนี้ก็ว่าได้ที่ทำให้ตลาดของเราโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะตลาดภาคใต้ฝั่งอันดามันถึงมาเลเซียเป็นตลาดที่สร้างรายได้มากที่สุด แต่ก็ยังอยากทำตลาดที่มีการท่องเที่ยวให้ได้มากกว่าตลาดในปัจจุบัน นั่นคือ ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน”

ความคิดเห็นของทวี ปิยะพัฒนา กับ AEC

“หลายคนยังไม่เข้าใจกับคำว่า AEC ยังคงสับสนกันอยู่ ผมกลับมีความคิดว่า AEC เปิดเมื่อไหร่ การรักษามาตรฐานสินค้าจะต้องสำคัญมากขึ้น และมีการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของ AEC

อีกทั้งในอาชีพหมอที่จะไปประกอบอาชีพในประเทศเพื่อนบ้านได้นั้น เขามีเงื่อนไขเหมือนกันนะ ถ้าเป็นหมอมาจากประเทศไทยต้องมีใบรับรองจากแพทยสภา และเมื่อไปถึงบ้านเขาเมืองเขาต้องสอบใหม่และขึ้นทะเบียน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะเดินเข้าไปทำงานได้อย่างสบายๆ”

30.jpg

ทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท PFP ยังกล่าวอีกว่า..“ณ วันนี้ธุรกิจไหนผ่านค่าแรง 300 บาท มาได้ AEC นี่เป็นเรื่องเล็กๆ ไปเลยก็ว่าได้ เพราะอะไร เพราะค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาถึง 300 บาท เราอดทนกันมาได้ อย่างตัวผมผ่านมาแล้วเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้บุคลากรมีคุณภาพและมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมา จริงๆ ถ้าวันนี้คนไทยร่วมแรงร่วมใจกันไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรผมว่าเราไหวนะ ฉะนั้นอย่าไปกังวลว่า AEC จะน่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือต่างชาติมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น กลุ่มคนเหล่านี้ต่างหากที่จะเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากบ้านเราเมืองเรา เพราะเขาเก่งกว่าและทำดีกว่า ที่สำคัญใช้ฐานของเรา ฉะนั้นเราต้องสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองให้เข้มแข็ง

กลุ่มที่มีปัญหาและน่าห่วงคือกลุ่ม SME ที่ทำธุรกิจกันมานานตั้งแต่รุ่น

1-2-3-4 โดยเป็นการ copy ต่อๆ กันมา ไม่ได้มีการวางแผนอะไร คุณต้องมีการพัฒนาตัวเองก่อนที่จะให้ธนาคารต่อยอดด้าน SME”

ข้อแนะนำสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่

“นักธุรกิจรุ่นใหม่ก็เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหม่ การเรียนรู้จากพ่อ แม่ หรือผู้อาวุโส เป็นสิ่งที่ดี ต้องศึกษาความเป็นมาเป็นไปว่าใช่หรือไม่ใช่ ผมบอกได้เลยว่า 75 เปอร์เซ็นต์ มาตามประวัติศาสตร์ แต่อีก 25 เปอร์เซ็นต์ มาจากคอมพิวเตอร์ ฉะนั้นการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องทำงานอย่างหนัก และเรียนรู้งานอย่างจริงจัง อีกทั้งสังคมก็เป็นสิ่งจำเป็น ในเมื่อจะเป็นผู้บริหารจริงๆ ต้องลงมาจับงานเอง ถ้าไม่จับงานเอง ไม่เรียนรู้ว่าพนักงานเหนื่อยแค่ไหน ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ จึงทำให้เกิดแนวคิดขึ้นมาว่าคนก็คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดถึงแม้ว่าจะมีเครื่องจักรแต่สิ่งที่ควบคุมเครื่องจักรก็คือคน หรือแม้แต่ว่าคอมพิวเตอร์ จะเก่ง และสามารถรู้หมดทุกอย่าง แต่คนก็เป็นผู้สร้างคอมพิวเตอร์ คิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ฉะนั้นต้องยกให้คนเป็นอันดับ 1 คนสำคัญที่สุด อยู่ว่าจะเรียนรู้อย่างไรให้ได้เท่ากัน จะเป็นเถ้าแก่หรือคนติดดิน เรียนรู้ได้เหมือนกัน”

นอกจากนี้ ทวี ปิยะพัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า…“แนวคิดใหม่ๆ เป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องเรียนรู้ แต่พ่อ แม่ หรือผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมา 75 เปอร์เซ็นต์ ต้องเรียนรู้และเอาตรงนั้นมาเป็นแบบอย่าง บางครั้งอาจจะไม่เชื่อในสิ่งที่ประสบแต่เมื่อลองแล้วจะเจอ จะรู้ในความเป็นจริงและจะเกิดความผิดพลาดน้อยมาก เมื่อคิดแล้วให้ทำเลย ผิดได้ไม่เป็นไรแต่ครั้งหน้าอย่าผิดนะ

ผมเลิก top down มานานแล้วเลยทำให้คนของผมมีความสามารถที่แท้จริง ที่จะสร้างองค์กรร่วมกัน ในเครือของผมเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด แต่ล่าสุดที่ได้ไปงาน THAIFEX กลายเป็นงานของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่คนรุ่นเก่า ภูมิใจว่าความคิดของคนรุ่นใหม่เป็นที่น่าพอใจ คนรุ่นใหม่คิดและทำเลย เมื่อก่อนฝ่ายบริหารจะเป็นคนส่งออกมา แต่วันนี้ไม่ใช่กลับกลายเป็นคนรุ่นใหม่คิดและทำได้ดีด้วย”

35-B.jpg

หน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะรองประธานสภาอาวุโส

“ในฐานะรองประธานสภาอาวุโส ต้องมีการแบ่งสายงานให้ชัดเจน ผมมีหน้าที่ดูแลสายงานสภาจังหวัดทั่วประเทศ สายงาน SME และสายงานการค้าชายแดน แต่ละสายงานจะมีรองประธานเป็นผู้ดูแล ผมเพียงแค่ดูแลกำกับให้อยู่ในระบบ เพราะทุกอย่างต้องทำงานร่วมกันถึงจะเดินไปได้ เพราะทุกอย่างที่ผมดูแลจะเกี่ยวกับต่างจังหวัดรวมถึงเรื่องการค้าชายแดนและช่วยเหลือ SME คือช่วยหาแหล่งเงินต่างๆ เสริมความรู้ให้กับ SME ต่างจังหวัด ซึ่ง SME ที่อยู่ต่างจังหวัดก็มีมากเหมือนกัน

ณ ตอนนี้ประธานคนใหม่ต้องการที่จะทำ อี-คอมเมิร์ช ให้ได้ และเราตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 2 ปี ในเรื่องของ data base ทุกอุตสาหกรรม ทุกจังหวัด อยากรู้เรื่องอะไรกดปุ่มมาสภาอุตสาหกรรม”

สุดท้ายกลับมาที่ กลุ่มบริษัท PFP กับคำถามที่ว่าถ้ามีผู้ผลิตรายอื่นมาว่าจ้างผลิตโดยติดยี่ห้อของเขาเอง ทวี ปิยะพัฒนา ตอบด้วยความมั่นใจและชัดเจนว่า… “ไม่รับผลิตครับ เราทำให้ไม่ได้ เพราะสินค้าเราเป็นสินค้าที่มีคุณภาพอยู่แล้ว สินค้าขายชื่อของตัวเองอยู่ในตัวแล้วครับ”

ทุกคำตอบที่ออกมาจากปากของทวี ปิยะพัฒนา นั้น ล้วนกลั่นกรองมาจากแง่คิดและประสบการณ์ในสายอาชีพ รวมถึงประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมา ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน จนทำให้บริษัทในเครือ PFP เจริญเติบโตจนถึงทุกวันนี้ และเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป

 
 
 

Comments


Follow "THIS JUST IN"
  • Facebook Basic Black
  • Twitter Basic Black
  • Google+ Basic Black

© 2015 by "Advanced Standard Group.co.ltd". All Right Reserved

| ADVANCED STANDARD GROUP CO., LTD. Tel. +662-881-3421-3

 

  • White Facebook Icon
  • White Instagram Icon
  • White Twitter Icon
  • White Google+ Icon
  • White Pinterest Icon
  • White YouTube Icon
bottom of page