“แซม-โออิชิ” ไพศาล อ่าวสถาพร หัวเรือใหญ่ แห่ง Oishi “อยากเป็นที่หนึ่ง ต้องเรียนรู้จากคนที่เป็นที่หน
- credit : ธุรกิจก้าวหน้า ฉบับที่ 307กันยายน 57
- 7 เม.ย. 2558
- ยาว 3 นาที

แซม-ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการอาหารมาเป็นเวลา 28 ปี และได้เข้ามาคุมบังเหียนให้กับโออิชิเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 10 ปี และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 11 แม้ว่าโออิชิจะเปลี่ยนแม่ทัพมาแล้วถึง 3 คน ไม่ว่าจะเป็น คุณตัน ภาสกรนที ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น จนกระทั่งมาถึงยุคของ คุณแมทธิว กิจโอธาน เพียงปีเศษก็ต้องเปลี่ยนผู้นำทัพใหม่อีกครั้ง เมื่อบริษัทแม่คือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้ให้ คุณมารุต บูรณเศรษฐกุล มานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สานต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของค่ายไทยเบฟเวอเรจ โดยมีโออิชิ อยู่ในอาณาจักรแห่งนี้ด้วย
จากวันแรกจนกระทั่งวันนี้ที่แซมได้ก้าวมาอยู่ในบ้านโออิชิ แซมมีบทบาทสำคัญมากในการสร้างแบรนด์มากมายให้กับโออิชิจนประสบความสำเร็จ ทั้ง โออิชิ แกรนด์, โออิชิ บุฟเฟต์, ชาบูชิ, นิกุยะ, โออิชิ ราเมน, และคาคาชิ ตลอดจน โออิชิ เดลิเวอรี่ 1773 และได้แตกไลน์ไปเป็นขนมขบเคี้ยว และธุรกิจอาหารแช่แข็ง-แช่เย็น หรืออาร์ทีอี (RTE; Ready to Eat) จากผลงานที่ผ่านมาย่อมเห็นได้ว่าแซมเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนให้กับโออิชิ ซึ่งความรู้สึกในจุดนี้นั้น แซมเปิดเผยกับนิตยสารธุรกิจก้าวหน้าว่า “หน้าที่ตรงนี้ซึมเข้าไปในกระแสเลือดของเราแล้วก็ว่าได้ ไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายหรือหน้าที่ที่เราจะต้องดูแล แต่เป็นหัวใจหลักและความตั้งใจในการทำงานของผม แน่นอนว่าก่อนที่ผมจะวางแผนอะไรลงไปในการทำงาน จะต้องได้รับนโยบายมาจากบริษัทก่อนและต่อไปก็เป็นหน้าที่ของเราว่าจะนำพาธุรกิจ นำพาองค์กรไปสู่ทิศทางใด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในภารกิจของผม เพราะฉะนั้นในแต่ละปีจะมีการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ซึ่งเขาจะเป็นผู้กำหนดเส้นทางว่าปีนี้อยากให้ธุรกิจเป็นไปในทิศทางใด และเราในฐานะที่เป็นหนึ่งในเครือข่ายจะช่วยเสริมทัพ เสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรได้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้และทั้งนั้นเราก็นำมาปรับเป็นกลยุทธ์ในการที่เราจะนำพาองค์กรของเราให้ไปสู่เป้าหมายตามที่บริษัทแม่อยากจะให้ไป”
แซม เล่าต่อว่า “หน้าที่ของผมมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนหลักๆ ที่ผมจะต้องดูแล คือ ลูกน้องหรือพนักงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของผม 8,000 กว่าคน ผมก็ต้องดูแลว่าจะทำอย่างไรให้เขาสามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ผมอยากจะพาเขาไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราดูแลเขาไม่ดีพอการที่เขาจะเป็นกำลังหลักในการนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายก็เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นการที่เราจะสร้างกลยุทธ์ให้เขาเดินไปตามเส้นทางนั้นแล้ว เราจะต้องดูแลเรื่องทุกข์สุขของเราด้วย เพื่ออะไรเพื่อให้เขาพร้อม นั่นคือถ้าเขาพร้อมในเรื่องความเป็นอยู่ก็ส่งผลให้เขามีความสุขแม้กระทั่งการทำงานเขาก็มีความสุขกับการทำงาน และพร้อมที่จะนำพาองค์กรของเราไปได้

สำหรับหน้าที่หลักในส่วนที่สองคือลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็เป็นหนึ่งส่วนใหญ่ๆ ที่เราจะต้องดูแล เพราะถ้าลูกค้าไม่ได้ให้การอุปการคุณเรา โอกาสที่ธุรกิจเราจะเจริญเติบโตก็ยาก ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องกันกับการดูแลลูกน้องเช่นกัน ถ้าเราดูแลลูกน้องให้ดีที่สุดนั่นหมายถึงลูกน้องเราก็จะได้ดูแลลูกค้าต่อไปและดูแลลูกค้าดีเช่นกัน ส่วนที่สามนั้นคือส่วนของผู้ถือหุ้นและรวมถึงบริษัทแม่ของเรา เราต้องให้ความสำคัญเพราะนี่คือผู้ลงทุน และเราต้องแสวงหาผลประโยชน์ ผลกำไรตอบแทนเขาให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นสรุปหน้าที่ผมหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนคือ ผมจะต้องดูแลลูกน้องหรือพนักงาน ลูกค้าและผู้ถือหุ้น”
จากที่ทราบกันมาว่าได้มาว่าแซมได้ทำงานกับผู้บริหารถึง 3 ท่านด้วยกัน ซึ่งการสับเปลี่ยนผู้นำตรงนี้นั้นไม่ได้มีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจอาหารเลยแม้แต่น้อย กลับทำให้แซมดีใจเพราะเป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับแซม “ในการทำงานกับผู้บริหารถึง 3 ท่านนั้นมีความแตกต่างและคล้ายคลึงกัน เมื่อสมัยที่คุณตันเป็นเจ้าของธุรกิจ มีความเป็นเจ้าของคนเดียวสูงและการทำงานก็จะมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งการทำงานที่มีความคล่องตัวสูง ความเสี่ยงสูงก็จะตามมาด้วยเช่นกัน แต่เมื่อไทยเบฟเข้ามาเป็นเจ้านายคนเดียว เนื่องจากไทยเบฟเป็นบริษัทที่ใหญ่ความคล่องตัวก็จะลดลงเพราะจะมีรายละเอียดที่เพิ่มขึ้น มีการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่จะลดความเสี่ยงของบริษัทลงไปทำให้บริษัทมีความมั่นคงและแข็งแรง เป็นการก้าวแบบช้าๆ แต่มั่นคง ประกอบกับไทยเบฟเองก็มีการร่วมทุน ร่วมพันธมิตรกับคู่ค้าจำนวนมากทำให้เกิดผลประโยชน์กับองค์กร ซึ่งเป็นข้อดี อีกทั้งได้รับการสนับสนุนการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง พิสูจน์ได้จากการเติบโตของธุรกิจที่ทำให้ผู้บริหารมีความสุข ฉะนั้นการที่เราทำงานผ่านมา 3 ผู้บริหารทำให้เราได้เห็นความแตกต่างและนำสิ่งที่ดีในแต่ละยุคมาปรับใช้และทำให้ธุรกิจของเรา”
“โออิชิก็มีสไตล์และวิธีการทำงานที่แตกต่างจากไทยเบฟ เรามีความเป็นตัวตนของเราเองค่อนข้างสูง ในขณะที่ไทยเบฟให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นอย่างดี และนำสิ่งที่ดีจากไทยเบฟบวกกับโออิชิ ผสมผสานกันทำให้เรายังมีความคล่องตัวที่สูงอยู่ ในขณะที่เราก็มี backup คือทางบริษัทแม่ให้การสนับสนุนอย่างดี ในเรื่องเครือข่ายการเชื่อมโยง พันธมิตร พันธกิจทั้งหลายที่เราสามารถไปทำร่วมกันได้” แซม กล่าวเพิ่มเติม

อีกทั้งแซม ยังได้กล่าวอีกว่า “ปัจจุบันสาขารวมในไทยกว่า 200 สาขา มากที่สุดคือแบรนด์ ชาบูชิ มี 100 สาขา โออิชิ แกรนด์-โออิชิ บุฟเฟต์ รวม 20 สาขา ซึ่งสองแบรนด์นี้ได้ทำรายได้หลักให้เรากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือ โออิชิ ราเมน 56 สาขา โดยหลังจากนี้นอกจากจะเน้นขยายชาบูชิแล้วยังจะเน้นแบรนด์ นิกุยะ ปิ้งย่าง และคาคาชิ ข้าวหน้าต่างๆ ด้วย โดยปัจจุบัน นิกุยะ มี 11 สาขา และคาคาชิ มี 10 สาขา สำหรับธุรกิจใหม่คือ การเตรียมเปิดคีออสก์ขาย โออิชิ เกี๊ยวซ่า สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในลักษณะคล้ายๆ กับธุรกิจไก่ย่างห้าดาว โดยผู้สนใจต้องซื้อวัตถุดิบจากบริษัท ซึ่งแต่เดิม โออิชิ เกี๊ยวซ่า จะวางขายในร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น เป็นหลัก”
ความคิดของแซมไม่ได้หยุดอยู่ที่ผลงาน King of Japanese Food ของโออิชิเพียงเท่านี้ แต่แซมยังคิดหาช่องทางการเติบไปไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้สอดคล้องกับ AEC แซม เปิดเผยว่า “ธุรกิจร้านอาหารของโออิชิไม่ได้ต้องการเติบโตในประเทศเราเพียงอย่างเดียว เราต้องการเติบโตไปยังต่างประเทศด้วย ในเมื่อปีหน้าเปิด AEC ฉะนั้นการทำธุรกิจเองก็เริ่มที่จะขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็นเพียงแค่ระดับ SMEs ก็คงหวังว่าเราจะทำธุรกิจแค่ภายในประเทศ แต่เราไม่ได้เป็นบริษัทเล็กๆ แต่เป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้น ฉะนั้นความก้าวหน้าในการทำธุรกิจที่เจริญเติบโต ความก้าวหน้าในการหารายได้หรือหาผลประกอบการที่ใหญ่ก็ย่อมมีมากขึ้น อีกทั้งปัจจุบันโลกเราเชื่อมโยงกันหมดทำให้รู้สึกว่าเหมือนโลกเล็กลง การทำธุรกิจต้องการขยายอาณาเขตมากขึ้น ถ้าเราจะทำเฉพาะธุรกิจในประเทศเราจะเติบโตได้ปีละเท่านี้แหละ แต่ถ้าเราคิดว่าเราจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเราต้องขยายอาณาเขตออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งส่วนแรกที่เราคิดและทำก่อนคือ AEC นี่แหละ ขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ขยับขยายไปยังประเทศที่ไกลขึ้น”

ประเดิมด้วยการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม City mart holding ที่มีทั้งอสังหาริมทรัพย์ ห้างค้าปลีก เบเกอรี่แอนด์คาเฟ่ ร้านยา และอีกนานัปการครอบคลุมทุกพื้นที่ ร่วมกันเปิดร้าน “ชาบูชิ บาย โออิชิ” สาขาแรกในเมืองย่างกุ้ง เล็งเป้าไว้ว่าภายในระยะเวลา 5 ปีจะมีถึง 10 สาขา อีกทั้งเล็กขยายให้ครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้านของไทย ก่อนที่จะรุกประเทศเกาะแก่ง ให้ครอบคลุมอาเซียนทั้งหมดในอนาคต
“ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทขยายแบรนด์ร้านอาหารชาบูชิไปยังพม่า โดยเปิดไปแล้ว 1 สาขา ที่เมืองย่างกุ้ง และมีแผนจะเปิดเพิ่มขึ้นอีก 2 สาขา ที่เมืองมัณฑะเลย์ในเดือนตุลาคมนี้จำนวน 1 สาขา และอีก 1 สาขาที่เมืองย่างกุ้งในเดือนธันวาคม โดยราคาเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 15,000 จ๊าด (หรือคิดเป็น 500 บาท) ซึ่งถือว่าสูงกว่าเมืองไทย เนื่องจากจะต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทย นอกจากนี้ ในส่วนของประเทศอื่นๆ อยู่ในช่วงการเจรจา ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย เพื่อขยายธุรกิจร้านอาหารอยู่เช่นกัน แต่ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบว่าจะไปในทิศทางใด” แซม กล่าว
คำตอบของแซมเมื่อถามถึงข้อจำกัดในการขยายไปสู่ AEC แซมบอกว่า “ข้อจำกัดในการไปทำธุรกิจยังต่างประเทศมีแน่นอนครับ แม้แต่ธุรกิจในประเทศก็เช่นกันเมื่อเราจะขยายไปต่างจังหวัดก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน และเมื่อเราขยายงานออกไปนอกสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคยก็ย่อมมีปัญหาตามมาแน่นอน แต่เราสามารถเรียนรู้ได้จากการทำงาน เพราะถ้าเราไม่เข้าไปทำงานหรือเราไม่ขยับขยายเลยเราจะไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร และไม่สามารถจะแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นในการขยับขยายแต่ละครั้งปัญหาเรารู้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่งสินค้า หรือแรงงาน เพราะระดับความรู้ของแรงงานแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกัน ในการขยายไปต่างจังหวัดสิ่งหนึ่งที่ต้องเจอคือเรื่องของรัฐบาล เรื่องของกฎหมาย การนำสินค้าเข้า หรือแม้แต่เรื่องของการขนส่ง เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เราต้องเจอ ถ้าเราได้ลงมือทำเราจะเข้าใจปัญหาและเริ่มแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ ถ้าสามารถส่งออกไปได้หนึ่งประเทศแล้ว ต่อไปการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ก็จะง่ายขึ้น แต่ก่อนที่จะขยับขยายไปยังประเทศใดนั้นเราก็ต้องศึกษาข้อกฎหมาย กฎระเบียบ ของประเทศนั้นๆ ให้ชัดเจน เช่น บางประเทศอนุญาตให้เรานำสินค้าที่เป็นเนื้อสดเข้าไปได้ แต่บางประเทศไม่อนุญาต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปศึกษา”
ทุกคนย่อมมีเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ เช่นเดียวกับแซม ได้ตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้คือ อยากนำธุรกิจอาหารญี่ปุ่นของไทยไปเปิดตลาดที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะมั่นใจว่าทำได้ดีกว่าเจ้าบ้านนั่นก็คือญี่ปุ่นนั่นเอง

“ความฝันสูงสุดคือการนำโออิชิกรุ๊ปกลับไปสู่บ้านเกิดของโออิชิเอง คือสามารถนำกลับไปวางขายในประเทศญี่ปุ่น ถามว่าเป็นเรื่องไกลตัวมั้ยตอบเลยว่าไม่ และถ้าถามอีกว่าความเป็นไปได้มีมั้ย ก็ตอบได้เช่นเดียวกันว่ามี และความยากล่ะก็ยากอยู่นะครับ เท่าที่ทราบคือเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นยังไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร ซึ่งญี่ปุ่นเองก็พยายามที่จะขยายธุรกิจออกต่างประเทศมากกว่าที่จะขยายในประเทศเพราะการกระจุกตัวอยู่ในประเทศเศรษฐกิจจะไม่ขยับมากนัก ฉะนั้นเราต้องระมัดระวังและศึกษาอย่างถ่องแท้ว่าการที่เราจะเข้าไปอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอาจจะต้องดูจังหวะและโอกาสให้ดีว่าไปได้เมื่อไหร่ แต่ความเป็นไปได้มีค่อนข้างสูง” แซม กล่าว
เนื่องจากโออิชิเป็นธุรกิจที่มีการเจริญเติบโตอย่างมาก โออิชิจึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการตอบโต้กับการแข่งขันในปัจจุบัน แซมกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ธุรกิจอาหารโออิชิคำนึงถึงอยู่ 3 เรื่อง คือ Q C S เรื่องที่ 1 คือ Q (Quality of Product) ต่อให้การแข่งขันเป็นเช่นไร คุณภาพสินค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับโออิชิ เพราะเรายังคงมุ่งมั่นและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงเป็นที่เชื่อมั่นของลูกค้า ตัวที่สองที่โออิชิคำนึงถึงคือ S (Quality of Service) คือ การให้บริการ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพแล้วการบริการที่ดีจะต้องตามมาด้วย เพื่อความพึงพอใจสูงสุดในตัวสินค้า ตัวที่สามที่เราต้องคำนึงถึงคือ C (Cleanliness) ความสะอาด ความถูกสุขอนามัย หมายถึงลูกค้าโออิชิจะต้องปลอดภัยจากการรับประทานอาหาร
ทั้งนี้ สามตัวนี้เป็นสามตัวหลักในการที่เราจะยึดมั่นในการทำธุรกิจอาหารดำเนินอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ในการแข่งขันจะมีอยู่ด้วยกัน 2Vs คือ Value การที่ลูกค้าจับจ่ายแล้วเกิดความคุ้มค่าในการมาใช้บริการ ทำให้เขารู้สึกว่าเขาคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ได้จับจ่ายไป V ที่สองคือ Variety คือความหลากหลายที่เราจะนำเสนอให้กับลูกค้า แน่นอนว่าถ้าเราจะแข่งขันกับคู่แข่งต้องมีความแตกต่าง ซึ่งความแตกต่างของเราก็คือ ความหลากหลายของเราว่าในขณะที่ลูกค้าจะเสนอเพียงเท่านี้แต่เราเสนอมากกว่า เราให้มากกว่า ขณะเดียวกันก็ได้ Value มากกว่า สรุปคือการทำธุรกิจของเรายึดมั่น Q S C และ 2Vs ครับ”
“อย่างไรก็ตามกลไกที่สำคัญที่สุดในการผลักดันธุรกิจของผมคือกำลังคน ต่อให้คุณเก่งแค่ไหน มีเงินทุนมากแค่ไหน แต่ถ้าขาดกำลังคนที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา ผลักดันองค์กรแล้ว เป็นเรื่องยากมากที่จะประสบความสำเร็จ ต่อให้มีเงินทุนมากแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับการมีกำลังคนที่ดีเพียงไม่กี่คน คุณก็สามารถผลักดันธุรกิจไปได้แล้ว เพราะฉะนั้นกำลังคนสำคัญที่สุด” แซม กล่าวเสริม

เนื่องจากโออิชิมีจุดแข็งที่แข็งแรง จำเป็นต้องมีสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอให้กับผู้บริโภคได้เห็นตลอด แซม บอกว่า “โออิชิมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพราะการที่เราจะเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจนี่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งด้วย เพราะฉะนั้นการทำงานต้องต่อเนื่องและต้องคิดอยู่ตลอดเวลา แรงบันดาลใจของเรามาจากไหน มาจากการที่เราเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไปศึกษาว่ามีอะไรที่เราสามารถปรับปรุงได้ ซึ่งเป็นข้อแรกที่ในการนำวัฒนธรรมกลับมา ข้อที่สองคือการตอบสนองของลูกค้า ถ้าเรานำเสนออะไรไปแล้วลูกค้าไม่ตอบสนองก็ไม่เกิดประโยชน์ บางครั้งสิ่งที่เรามีอยู่แล้วแต่อาจจะเร็วเกินไปสำหรับลูกค้าจึงจำเป็นต้องเก็บไว้ก่อน การทำธุรกิจไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการที่เราชอบอะไรและพยายามหยิบยื่นให้กับลูกค้า แต่เรามองกลับกันว่าลูกค้าชอบอะไรและเราสร้างสิ่งนั้นกลับไปให้กับลูกค้า ฉะนั้น ธุรกิจเราจึงเป็น base on customer base เป็นตัวหลัก”
จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ในตลาดเมืองไทยมองไปทางไหนก็มีแต่อาหารญี่ปุ่น ตรงจุดนี้จัดได้ว่าถึงจุดอิ่มตัวหรือยัง แซม ตอบว่า “ตลาดในเมืองไทยยังไปได้อีก 5-10 ปี เพราะจากการสังเกตธุรกิจอาหารญี่ปุ่นมีการกลายพันธุ์ เริ่มต้นจากธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ตอนนี้ขึ้นไปถึงเชฟกระทะเหล็ก คือได้มีการพัฒนาไปตามกลไกล ปัจจุบันคนไทยรู้จักมากขึ้น อาทิ รู้จักทานปลาฮามาจิ ปลาหิมะ หรือว่าทานเนื้อมัตซึซากะ เนื้อโกเบ ทานปูยักษ์ฮอกไกโด หรือทานอะไรที่มีความพิเศษมากขึ้น ซึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยเริ่มทำเหมือนญี่ปุ่น คือมีความพิเศษมากขึ้น อย่างเช่น ร้านที่ขายข้าวหน้าต่างๆ ก็จะขายแต่ข้าวอย่างเดียว ร้านปิ้งย่างก็แยกเป็นร้านปิ้งย่าง ร้านเทมปุระก็จะมีเทมปุระเพียงอย่างเดียวเช่นกัน จะมีความคล้ายคลึงกับร้านที่ญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเราเข้าไปร้านๆ หนึ่ง สามารถสั่งทานได้ทุกอย่างเพราะมีทุกอย่างในร้านเดียว แต่ทุกวันนี้เริ่มแยกออกมาแล้วว่าเป็นร้านนั้นร้านนี้ ถ้าถามว่าถึงจุดอิ่มตัวหรือยัง ยังไปได้อีกไกล
นอกจากนี้ การทำธุรกิจอาหารให้สำเร็จ จำเป็นต้องฝึกวิทยายุทธ์ในสังเวียนกระทะเหล็ก ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมิชลินเชฟมากที่สุดของโลก ซึ่งคนไทยยังรู้จักไม่มากนัก หากเปรียบกับเมืองไทยมิชลินเชฟคือเชฟที่ได้รับรางวัลเหมือนแม่ช้อยนางรำ หรือเชลล์ชวนชิม ที่เขาได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก คนไทยจะเริ่มรู้จักมิชลินเชฟมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเราจะเริ่มเห็นในเมืองไทย”
นอกจากนี้ แซม ยังกล่าวอีกด้วยว่า “ทุกธุรกิจของอาหารญี่ปุ่นเลียนแบบกันได้ แต่ท้ายที่สุดจะต้องตัดสินกันที่เรื่องคุณภาพ การบริการ และความสะอาด และสุดท้ายคือเรื่องมิชลิน ซึ่งเรื่องมิชลินจะเลียนแบบกันไม่ได้ นอกจากไปหามิชลินคนอื่นมาสร้างคือต้องสร้างไปในทิศทางเดียวกัน แต่สุดท้ายก็ต้องแข่งขันกันในเรื่องคุณภาพ การบริการ และความสะอาด เป็นสามตัวหลักที่ทำให้ธุรกิจแข็งแรง ถ้ามีสามสิ่งนี้อยู่ไม่ต้องกังวลเลยต่อให้ทำธุรกิจอาหารอะไรก็ไม่ใช่เรื่องยาก”

อนาคตกับการร่วมธุรกิจของโออิชิ แซม กล่าวว่า “ที่ผ่านมาในอดีตได้มีการร่วมซื้อแฟรนไชส์กับประเทศญี่ปุ่นเพียงแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากธุรกิจที่เรานำเข้ามามันเร็วเกินไปสำหรับร้านอูด้ง ซึ่งคนไทยไม่นิยมทานมากนัก ทำตลาดอยู่ประมาณ 5-6 ปี คิดได้ว่าคนไทยไม่ชอบแน่นอนจึงได้เลิกราร้านอูด้งไป ส่วนในประเทศก็มีการคุยไว้หลายรายในการร่วมเป็นพันธมิตรแต่ยังไม่ได้ตอบตกลงกับใคร บริษัทเราเปิดรับอยู่แล้วเพราะต้องการขยายอาณาเขต ต้องการขยายธุรกิจ ฉะนั้น โออิชิยินดีถ้ามีพันธมิตรรายใหม่ที่สนใจอยากมาร่วมทุนกับบริษัทโออิชิกรุ๊ป
สำหรับพันธมิตรที่จะเข้ามาถ้าเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องการ เราเห็นว่ามีโอกาส มีจังหวะและตลาดพอทีจะทำธุรกิจนั้นได้ก็สนใจ แต่ถ้าธุรกิจไหนคนไทยไม่ได้ให้การตอบรับเราอาจจะต้องเลื่อนไปก่อนคือจะบอกว่ายังไม่ถึงเวลา แต่ถ้าสิ่งไหนโดนใจผมว่าเราทำได้เลย และที่สำคัญคือต้องดูแบ็คกราวด์ของบริษัทนั้นๆ ว่าในการทำธุรกิจร่วมกันกับเรา เปรียบเสมือนการเลือกคู่ สำหรับคนที่จะมาแต่งงานกับเรา เราต้องมีข้อจำกัดพอสมควร เพราะคนที่จะมาแต่งงานกับเราจะต้องมีนิสัยที่เข้ากันได้ อยู่ร่วมกับเราได้หรือเปล่าในการทำธุรกิจเพราะเราไม่อยากทะเลาะกับใครในภายหลัง”

จากธุรกิจที่เราทราบกันคือมีตัวแปรที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แซมมีวิธีการจัดการกับตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้อย่างไรบ้างนั้น แซมตอบว่า “โดยในแง่ธุรกิจแล้วทุกๆ ธุรกิจและทุกๆ การกระทำของเรามีตัวแปรอย่างนี้อยู่แล้วแต่ว่าเราจะพยายามควบคุม ทำได้ตัวเท่าที่จะทำได้ พยายามลดความเสี่ยงให้น้อยลง อย่างไหนที่เราควบคุมไม่ได้เราต้องหาวิธีควบคุมและดำเนินการกับความเสี่ยงนั้นก่อน แต่ถ้าหาทางออกไม่ได้เราจะไม่ดำเนินการเพราะถ้ามีความเสี่ยงสูงแล้วเราคอนโทรลไม่ได้เราจะไม่ดำเนินการ แต่ถ้าหากว่าความเสี่ยงสูงและเราสามารถควบคุมได้เราก็ดำเนินการ ในทางกลับกันตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้แต่มีความเสี่ยงต่ำเรายินดีเข้าไปทำธุรกิจนั้นเพราะการทำธุรกิจก็มีความเสี่ยงอยู่แล้วระดับหนึ่งแต่ความเสี่ยงนั้นขึ้นอยู่กับบริษัทรับได้มากน้อยแค่ไหนซึ่งต้องมีความเสี่ยง ต้องมีความท้าทาย ในการทำธุรกิจเพราะถ้าไม่มีความเสี่ยง ไม่มีความท้าทายคุณจะไม่มุ่งมั่นและพยายามที่จะเอาชนะ เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจต้องมีแรงขับดันถ้าคุณทำไปร้อยเปอร์เซ็นต์ชัวร์ๆ ทุกคนก็จะวางใจในการทำธุรกิจ จะไม่มีใครให้ความสนใจในการทำธุรกิจอย่างจริงจัง ถามว่าทุกธุรกิจมีความเสี่ยงมั้ย มีความเสี่ยงแต่เราต้องยืนยันและมั่นใจว่าเราจะพิชิตเอาชนะความเสี่ยงนั้นได้เราก็ต้องเข้าไปคลุกคลี ทำความรู้จักกับความเสี่ยงนั้น”

ก่อนจากกันแซมฝากไว้ว่า “สิ่งที่ผมเรียนรู้เองคือผมทำงานอยู่รอบข้างคนเก่ง การที่เราทำงานแล้วเราอยากได้ผลงานที่ดี อยากได้งานเดอะเบสท์เราต้องทำงานกับคนที่เป็นเดอะเบสท์เพราะเราจะได้เดอะเบสท์ แต่ถ้าคุณทำงานให้คนแค่เพียงคนเดียวแต่เป็นเดอะเบสท์แล้วผมว่าคุ้มค่าในการทำงานด้วยกันนะครับ แต่ถ้าเราทำงานในกลุ่มที่รองลงมาเราก็ต้องใช้เวลานานหน่อยแต่ถ้าเราทำงานกับคนที่เป็นมือหนึ่งผมว่ายังไงเราก็ได้เปรียบ เพราะมีโอกาสได้พบปะมือหนึ่งของทั่วโลกเลยก็ว่าได้ อยากคุยกับใครก็ได้มีโอกาส ผมเองก็เรียนรู้อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าอยากได้เป็นที่หนึ่งคือต้องเรียนรู้จากคนที่เป็นที่หนึ่งแล้วเราก็จะได้”
สิ่งหนึ่งที่แซมคำนึงถึงตลอดเวลาคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจนั่นคือพนักงานหรือลูกน้อง ลูกน้องคือหัวใจในการทำงานของแซมเลยทีเดียว ถ้าลูกน้องไม่มีความสุขในการทำงานโอกาสที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจไปในทิศทางเดียวกันนั้นยากมาก เพราะทุกคนทำงานด้วยความทุกข์มันจะนำพาองค์กรไปได้อย่างไร นี่แหละคือ The Best ของทุกคนจริงๆ “แซม-ไพศาล อ่าวสถาพร”
Comments