“ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์” TTW งานพิสูจน์ นักบริหารมืออาชีพ
- Advanced Business Magazine
- 11 มี.ค. 2558
- ยาว 3 นาที

ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ นักบริหารธุรกิจมือทองที่เดินไปทางไหนทุกคนเป็นต้องอ้าแขนรับ ล่าสุดกับบทบาทหัวเรือใหญ่คนใหม่ของ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) หรือชื่อเดิมว่า บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยความรู้ ความสามารถ บวกกับประสบการณ์ที่สั่งสมมานานหลายสิบปี นั่งเก้าอี้บริหารมาก็หลายต่อหลายธุรกิจจนทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าใต้ฟ้านี้มีอะไรบ้างที่เขาทำไม่ได้ถ้าไม่ได้ลงมือทำ อาจเป็นเพราะคุณสมบัติเฉพาะที่ชัยวัฒน์มีนั่นคือความอดทนสูง จะหาทุกวิถีทางเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

มาวันนี้กับการบริหาร บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ดูแลเรื่องน้ำประปาเป็นอีกหนึ่งการพิสูจน์ความสามารถของชัยวัฒน์ เพียงไม่กี่เดือนที่มานั่งเก้าอี้บริหารเล็งขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าลาวหรือพม่า ชัยวัฒน์เดินทางไปมาหมดแล้ว ลงทุนแม้กระทั่งนั่งรถจากแม่สอดข้ามไป นี่เป็นเพียงเรื่องราวเพียงเล็กน้อยกับการทุ่มเทให้กับงานที่ได้รับมอบหมาย เพราะถ้าไม่สำเร็จไม่ใช่ผู้ชายชื่อชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์
ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ เปิดประเด็นด้วยเรื่องเล่าสนุกสนาน เมื่อพูดถึงประวัติและประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาว่า “ผมเรียนจบปริญญาตรี สถิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเติบโตมาในสายงานวิชาชีพนักคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นอาชีพซึ่งสนุกมาก เพราะยุคนั้นเรื่องของคอมพิวเตอร์ยังไม่มีใครให้ความสนใจที่จะเรียนมากนัก ผมจึงกลายเป็นนักบุกเบิกคอมพิวเตอร์ จนได้อันดับที่ 20 ของนักคอมพิวเตอร์ประเทศไทย จากสมาคมคอมพิวเตอร์ศาสตร์แห่งประเทศไทย เพราะตอนนั้นเขาได้มีการจัดอันดับนักคอมพิวเตอร์ยุคเริ่มต้น และผมเป็นคนที่ 20 พอดิบพอดี
หลังจากนั้นผมเรียนต่อปริญญาโทคณะวิศวะคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกเช่นกัน ผนวกกับมีโอกาสไปเรียนปริญญาโทคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ที่อเมริกา เมื่อเรียนจบกลับมาจึงกลายเป็นนักคอมพิวเตอร์เต็มตัว ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายที่ปรึกษาคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ เป็นความโชคดีของผมในการที่ได้ทำงานเป็นนักคอมพิวเตอร์อยู่เป็นระยะเวลา 10 กว่าปี จึงทำให้ผมถูกฝึกความคิดให้เป็นระบบ เพราะเมื่อเราออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความซับซ้อนมากมาย เรามีวิธีการคิด วิธีการมอง ด้วยการมองสิ่งต่างๆ ให้เป็นระบบง่ายๆ ว่าในระบบนี้มีอะไรเป็นเรื่องสำคัญ มีอะไรเป็นเรื่องหลัก และเป็นเรื่องรอง”

ชัยวัฒน์ ยังบอกอีกว่า “นักคอมพิวเตอร์จะมีลักษณะการมองที่เป็น normalization มีอะไรที่เป็น entity หลัก เช่น ธุรกิจบัตรเครดิต ถ้าเปรียบธุรกิจนี้เหมือนกับโรงละคร ธุรกิจบัตรเครดิต คือ บัญชี (payment) ซึ่งเป็นรูปแบบของการชำระสินค้าอีกรูปแบบหนึ่งองค์ประกอบคือต้องมีบัตรเครดิต มีเครื่องรูดบัตรเครดิต มีร้านรับบัตรเครดิต และร้านรับบัตรเครดิตควรจะมีข้อมูลในลักษณะเดียวกันเพื่อเตรียมการตลาด เตรียมการควบคุม และผู้ถือบัตรเครดิตควรจะมีข้อมูลของบัตรเป็นลักษณะสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าทำงานเป็นระบบ ไม่ว่าทำอะไรทุกอย่างง่ายหมด ด้วยความที่ถูกฝึกมาให้มองทุกอย่างให้เป็นระบบ จึงทำให้หลายคนบอกผมว่าผมเรียนรู้อะไรได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่ได้เก่งหรือวิเศษกว่าคนอื่น เพียงแต่ถูกฝึกมาถูกต้อง
2 ปีแรกที่เป็นนักคอมพิวเตอร์มีโอกาสได้ทำงานกับฝรั่งที่ซิตี้แบงก์ ซึ่งฝรั่งจะให้โอกาสคนไทย และเขาเห็นว่าผมคล่องแคล่ว เรียนรู้งานได้เร็ว เขาจึงส่งผมไปเรียนต่อปริญญาโทที่ศศินทร์ปี 1985 หลักสูตร Master Management รุ่นที่ 2 ซึ่งตอนนั้นที่เรียนในรุ่นเดียวกันมีคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หลังจากส่งผมไปเรียน ทางซิตี้แบงก์บอกว่า ผมไม่น่าจะทำแค่คอมพิวเตอร์อย่างเดียว น่าจะทำอย่างอื่นได้ จึงจับผมไปทำกลุ่ม operation คุมสาขา หลังจากนั้นเลยหลุดจากการเป็นนักคอมพิวเตอร์”
ชัยวัฒน์ได้เปลี่ยนสายจากนักคอมพิวเตอร์มาทำงานสายบริหารตลอดเรื่อยมาตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้
“ผมได้รับมอบหมายจากคุณชาติศิริโสภณพณิช ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเทียบเท่ากับผู้จัดการฝ่ายการตลาดทำงานให้ท่าน ทำได้ไม่นานมีโครงการใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้นเข้ามา นั่นคือ โครงการโทรศัพท์สองล้านเลขหมายของเทเลคอมเอเชีย ผู้ใหญ่เมตตาให้ผมไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขายในการคุมโครงการ ช่วง 2 ปีแรกที่ไปทำสนุกสนานมากเพราะเราได้ทำอะไรในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ทีนี้ถึงคราวต้องย้ายงานอีกแล้ว คือทางธนาคารไทยทนุให้มาทำในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเป็นงานสายแบงก์อาชีพเดิม ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นใกล้จะเข้าสู่ยุคฟองสบู่แตก ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมายให้ธนาคารไทยทนุศึกษาดูงานร่วมกับทางบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดในเรื่องของเงินทุน คือบริษัทเอกธนกิจ หรือ ฟินวัน ผมศึกษาดูงานอยู่หลายเดือน และพบว่ากฎหมายของไทยการควบคุมยังมีปัญหาและอุปสรรคเยอะ ถ้าทำแล้วอาจมีโทษมากกว่ามีคุณ จึงขอยกเลิกข้อตกลง พอยกเลิกข้อตกลงเท่านั้นแหละทุกอย่างก็พัง

วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 มีการประกาศเปลี่ยนระบบการบริหารเงินตราต่างประเทศจากระบบ basket เป็น manage float จึงทำให้ทุกอย่างล้มไม่เป็นท่าเพราะไปเอาเงินตราต่างประเทศมาโดยไม่ป้องกันความเสี่ยง จะเห็นได้ว่าตอนนั้นไฟแนนซ์โดนปิดไป 52 แห่ง แบงก์ทยอยปิดไปก็เยอะ ไทยทนุเองก็ไม่ต่างกับแบงก์อื่นๆ ที่ประสบปัญหา ทางออกก็คือเชิญแบงก์ที่มีความสัมพันธ์กับไทยทนุมา ก็คือ DBS Bank จากประเทศสิงคโปร์ มาเป็นหุ้นใหญ่ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ดีบีเอสไทยทนุอยู่ได้ 6 ปีผมก็ลาออกเพราะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และเขาให้ลดพนักงาน ผมก็จัดการระบบตรงนี้ให้เขาและตัวเองก็ลาออกด้วยเพราะคิดว่าตัวเองไม่สามารถรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับพนักงานได้ว่าจะไม่ปลดพนักงานเป็นรอบที่ 2 แต่จนแล้วจนรอดก็ต้องทำ จึงตัดสินใจลาออกด้วย
จากนั้นผมจึงไปเป็น CEO ของบริษัท AIG จากบริษัทที่เคยถูกปิดกิจการ ช่วยเขาอยู่ 7 ปี ผู้ใหญ่ทางนครหลวงไทยให้ความกรุณาไปเป็น CEO ที่ธนาคารนครหลวงไทยสนุกมากเหมือนกันเพราะได้ผจญภัยช่วยปรับเปลี่ยนอะไรเยอะเหมือนกัน ซึ่งธนาคารนครหลวงไทยเป็นการร่วมกันสองธนาคารคือธนาคารศรีนครกับธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งทั้งสองธนาคารนี้ในช่วงนั้นความแข็งแรงน้อยมาก ผมปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ จนเริ่มแข็งแรงจากหุ้น 5 บาท ขึ้นมาเป็นหุ้น 30 กว่าบาท เริ่มมีกำไรอย่างสวยงาม จบจากธนาคารนครหลวงไทยก็ได้มานั่งเป็น president ที่รถไฟฟ้าใต้ดินเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 เป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่ง และเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาผู้ใหญ่ให้เกียรติมอบหมายให้ผมมาทำงานที่ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ดูแลเรื่องน้ำประปาครับ”

ธุรกิจที่ผ่านการบริหารมาเมื่อเทียบกับวันนี้คือธุรกิจสาธารณูปโภคย่อมมีความแตกต่างกันแน่นอน ชัยวัฒน์ ตอบคำถามนี้ว่า “ธุรกิจทุกอย่างจะมีความเป็นตัวตน อาชีพเก่าที่คุ้นเคยมากคือในเรื่องการบริหารการเงิน ระดมเงินทุนจากผู้ที่มีความสามารถออมเงินมาสนับสนุนผู้ที่ต้องการใช้เงิน เพียงแต่ผู้ที่ออมเงินมีหลายประเภทตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายใหญ่ ผู้ที่ใช้เงินก็เหมือนกัน ฉะนั้น Banking จะมี characteristic และมีการแยกชัดเจนคือ มี wholesale bank มี retail bank มี investment bank มี Merchant Bank พอพูดถึง infrastructure มันก็มี infrastructure หลายๆ ลักษณะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่ถ้าบอกว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีลักษณะเป็นสาธารณูปโภคมันก็มี characteristic ที่ชัดเจนคือ ต้องลงทุนมหาศาล และจะมาเก็บเงินแต่จะมาค้ากำไรทันทีไม่ใช่แต่จะมี Payback periodที่ยาว โดยทั่วไปที่เห็นคือ long-term investment, heavy investmentupfront ครับ”
กับคำถามที่ว่าการไฟฟ้าจะมี infrastructure fund ทาง TTW จะมีหรือไม่นั้น ชัยวัฒน์ ตอบว่า “คำว่า infrastructure fund เป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ คือ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นกองทุนแรกของ BTS Group ซึ่งเป็นการจับโอกาสของกระแสรายได้ในอนาคตมาเพื่อระดมทุนในปัจจุบัน แล้วจับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่กำหนด (period) ณ วันนี้ที่มีให้เห็นคือ BTS , TRUE , อมตะ ฯลฯ สำหรับ กฟผ. นั้นเขาได้มีการกำหนดเกณฑ์ไว้ว่า infrastructure fund สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจใดได้บ้าง ในส่วนของน้ำประปาเอง น้ำประปาคือสาธารณูปโภค และเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่

โดยทั่วไปเรื่องของสาธารณูปโภคจะต้องใช้คำว่าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากเป็นส่วนที่มีผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากจำเป็นต้องมีกฎระเบียบ ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าจะมีกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เป็น regulator (ผู้กำกับ) ซึ่งรถไฟฟ้าตอนนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 เจ้า คือ Airport Rail Link เป็นของ รฟม. และ รฟท. เป็นผู้กำกับ รถไฟฟ้า BTS เป็นของ BTS Group กรุงเทพมหานครเป็นผู้กำกับ รถไฟฟ้าใต้ดิน BMCL เป็น operator ผู้กำกับคือ MRTA หรือ รฟม. และ report ขึ้นไปยังกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีความหลากหลายในระบบต่างๆ ”
นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า “เมื่อเอ่ยถึง project จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ Brownfield Project และ Greenfield Project โดยที่ Greenfield จะเริ่มจะศูนย์ ส่วน Brownfield คือทำมาแล้ว แล้วเราเข้าไปซื้อกิจการ ถ้าเป็น Brownfield จะมีรายได้ที่ชัดเจน และจะขายง่าย โดยจะมองในแง่ของ Firm commitment ที่จะมีคนซื้อที่แน่นอน ที่จะทำให้กระแสของรายได้ที่แน่นอนด้วยเช่นกันโดยที่บางลักษณะงานจะทำเป็น Brownfield และ Greenfield เช่น ไฟฟ้า และถ้าจะทำเป็น Infrastructure Fund ได้ต้องเป็นลักษณะของ Brownfield”
นโยบาย ทิศทาง และเป้าหมาย ในการดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปธรรม ของ TTW ที่ชัยวัฒน์ ได้วางไว้นั้น มี direction คือ “จากที่รู้กันว่า บริษัท ทีทีดับบลิวจำกัด (มหาชน) เมื่อก่อนคือชื่อ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) มีประวัติความเป็นมายาวมาก และเป็นผู้ผลิตน้ำประปารายใหญ่ที่สุดที่จ่ายน้ำให้กับการประปาภูมิภาค โดยตัวโรงกรองน้ำใหญ่สุดอยู่ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐมโรงกรองน้ำบางเลน ณ วันนี้มีกำลังผลิตอยู่ที่ 440,000 ลบ.ม.ต่อวัน และมีโรงกรองน้ำอีกแห่ง คือ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ซึ่ง TTW ที่ผม เป็น MD อยู่นั้น ได้ถือหุ้นอยู่ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ โรงกรองน้ำปทุมธานี มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 380,000 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งตอนนี้เรากำลังมีการขยายกำลังการผลิต”

“สำหรับภาพที่ผมมองไว้ จะมี 2 เรื่องสำคัญ คือ เรื่องแนวนโยบายที่คณะกรรมการบริหารได้กำหนดไว้ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา และผมมาเริ่มงานเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2557 ซึ่งคณะกรรมการได้กำหนดนโยบายไว้ก่อนหน้าที่ผมมาเริ่มงานได้เพียง 1 วัน โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติให้บริษัทน้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมรองรับการก้าวไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตไม่ใช่เป็นเพียงแค่น้ำ เราต้องการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เรื่องการกำจัดขยะ ถ้าบริหารเก่ง ไม่ใช่เพียงแค่การเผาทิ้งเฉยๆ สามารถเอาไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ หรือแม้แต่การบำบัดน้ำเสียอย่างถูกต้อง และการใช้พลังงานลมมาผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเรื่องของพลังงานทดแทนเป็นเรื่องที่สำคัญมากของประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว”
“ตรงนี้ถามว่าผมมีนโยบายอย่างไร เมื่อผมมารับหน้าที่ผมก็เริ่มสานต่อนโยบายบริษัทในทันที เราเข้าตลาดตั้งแต่ปี 2551 ระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นบริษัทหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนกับนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์สูง น้ำประปาสำหรับผมคนทำงาน ผมมองว่าเรามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การเติบโตของน้ำประปาเป็นการเติบโตที่เราเรียกว่า organic group เป็นการเติบโตแบบธรรมชาติ ไม่มีการปรุงแต่งหรือใส่อะไรเข้าไปกระตุ้น ผมมองว่าธุรกิจพลังงานตอนนี้ ของใหม่ๆ ที่เราทิ้งไปสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ เราทำธุรกิจน้ำครบวงจรมานานแล้ว เพียงแต่โรงใหญ่ๆ มีแค่ที่ปทุมธานีกับบางเลนเท่านั้น ตามนิคมอุตสาหกรรมมีบ้าง แล้วแต่ว่าทางผู้บริหารนิคมฯจะเชิญเราไปบริหาร เพราะฉะนั้นผมจะแยกน้ำว่าเป็นการเติบโตแบบ organic ส่วนธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสเราก็จะเติบโตแบบ inorganic และในวันข้างหน้าอยากเห็นส่วนผสมรายได้ของบริษัทที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่เป็นการไปอิงกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาตรงนี้ผมมีการศึกษาหาช่องทางโอกาสในการที่เราจะทำธุรกิจใหม่ๆ และพัฒนาบุคลากรให้มีความเก่งขึ้นไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้มาร่วมกันทำงานใหม่ๆ ที่จะมีเข้ามาในอีกไม่ช้า” ชัยวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามถึงผลประกอบการหรือกำไรที่ได้มานั้น มาจากการผลิตน้ำอย่างเดียวหรือมาจากการทำธุรกิจในการลงทุนในด้านอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า “รายได้ของเราปีละ 5,000 กว่า เกือบ 6,000 ล้าน มาจากธุรกิจน้ำทั้งหมด 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เราทำขายให้กับการประปาภูมิภาค นอกจากนี้จะเหลือการให้บริการธุรกิจน้ำในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และอมตะซิตี้ แต่ในวันข้างหน้าอยากเห็นธุรกิจที่หลากหลายกว่านี้ ไม่ใช่เก่งทางด้านน้ำก็จะจำกัดอยู่แค่ธุรกิจน้ำเพียงอย่างเดียว เราอาจจะเป็นหนึ่งในไทยแลนด์ทีมหรือทีมไทยที่จะไปทำน้ำประปาชั้นยอดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตอนนี้ผมได้เดินทางไปพม่าเป็นครั้งที่ 2 แล้วตั้งแต่เข้ามาทำงานที่นี่ และลาวผมไปมาแล้ว 3 ครั้ง ผมลงทุนนั่งรถจากแม่สอดเพื่อข้ามไปเมียววดี ข้ามยอดเขาตะนาวศรี ไปผาอัน ไปเมาะละแหม่ง ไปย่างกุ้ง ใช้เวลา 12 ชั่วโมงในการเดินทาง”
เมื่อชัยวัฒน์เปิดช่องเรื่องขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้าน ผู้สื่อข่าวธุรกิจก้าวหน้าจึงถามกลับไปว่า การเจรจากับพม่าไปถึงขั้นไหนแล้ว ชัยวัฒน์ตอบว่า “ผมมีจุดหนึ่งที่ผมโชคดี ทุกคนมองผมว่า ผมทำอะไรผมทำจริง เพราะก่อนหน้านี้แบงก์ชาติเคยให้เกียรติผม ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นมงคลชีวิตกับชีวิตผม นั่นคือแบงก์ชาติชมผม เพราะแบงก์ชาติไม่เคยให้คำชมใครง่ายๆ แบงก์ชาติชมผมว่า ผมมีคุณสมบัติ 3 ประการอยู่ในตัว นั่นคือ 1. ผมเป็นคนมือสะอาด 2. ผมเป็นคนมีความอดทนสูง และ 3. ผมเป็นคนที่ get the thing done คือจะหาวิธีการที่จะทำให้งานสำเร็จให้ได้ ที่ผ่านมาการลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว เวียดนาม ล้วนมีข้อจำกัดในเรื่องของตัวกฎหมาย และในการลงทุนมีข้อจำกัดในระเบียบวิธีการในการเข้าไปทำงานเยอะมาก และเมื่อผมมาตรงนี้ ผมโชคดีตรงที่ผมรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ได้ขอคำแนะนำต่างๆ วันนี้ผมคิดว่าเราพบช่องทางที่ชัดเจนขึ้นในการลงทุนที่พม่าแล้ว ซึ่งต้องรอสักระยะ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมผมจะเรียนชี้แจงให้ทราบกันอีกทีครับ”

ในเมื่อ product ของTTW คือน้ำประปา วิธีการทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าน้ำประปาของเรานั้นมีคุณภาพจริงๆ ต้องทำอย่างไร
“จริงๆ แล้วเรื่องของน้ำประปาได้มีวิวัฒนาการและมีพัฒนาการมายาวนาน คือ การเอาน้ำดื่มขึ้นมาจากแหล่งน้ำ ต้องมีการศึกษาลักษณะของน้ำดื่ม โดยเฉพาะสารเคมีที่เลือกใช้ต้องไม่ทำให้น้ำและอานุภาพน้ำเปลี่ยน น้ำประปามีการใส่คลอรีน ใส่สารส้มน้ำให้น้ำตกตะกอน ถ้าตกตะกอนเร็วมีการเคลื่อนตัวไป ในบางครั้งน้ำขุ่น ก็ต้องมีการใส่โพรลิเมอร์ลงไปจับ นั่นคือ เรื่องของ น้ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของน้ำ อีกทั้งในปีนี้เราได้ลงทุนสร้างโรงกรองน้ำใหม่ที่ อ.กระทุ่มแบน โดยมีกำลังความจุประมาณ 500,000 ลบ.ม. ต่อวัน แต่เทคโนโลยีที่ใช้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เรียกว่า Membrane ก็คือ เนื้อเยื่อ ซึ่ง Membrane จะทำงานคล้ายแผ่นเนื้อเยื่อกรองต่างๆ
ลำดับของการกรองน้ำมีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ คือ ระดับที่เป็น Micro Filtration (MF) คือจะได้น้ำที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่าน้ำประปาทั่วไปที่มาทำให้ตกตะกอนแล้วไปกรองผ่านทราย เนื้อเยื่อที่กรองดีขึ้นมาอีกระดับหนึ่งจะเป็น Ultra Filtration (UF) เป็นการยกระดับคุณภาพของน้ำขึ้นไปอีก เหนือจาก Ultra คือ Nano Filtration (NF) และที่มีความสุดยอดที่สุดคือ ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Reverse Osmosis (RO) ตอนนี้ค่าใช้จ่ายตรงนี้แพงมากในประเทศไทยเรา เช่น การเอาน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด ที่เกาะสมุย หรือที่จังหวัดภูเก็ต ก็ใช้เทคโนโลยีตัวนี้อยู่ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดโรงกรองน้ำแห่งใหม่ที่ อ.กระทุ่มแบนน่าจะเปิดใช้ได้ต้นปี 2559 หรือจะช้ากว่านี้ก็ไม่เกินกลางปี 2559 ผลิตน้ำประปาที่ดีขึ้น มีคุณภาพเหนือกว่าคุณภาพมาตรฐานขึ้นไปอีก หลังจากใช้ Membrane Technology เราจะยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นไปเรื่อยๆ ”

ชัยวัฒน์บอกถึงวิธีการขยายการตลาดให้มากขึ้นกว่าเดิมว่า “น้ำคือชีวิต สิ่งมีชีวิตต้องการน้ำ คำนี้เป็นคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บอกว่าขาดอาหารยังอยู่ได้นานพอสมควร แต่ถ้าขาดน้ำอยู่ได้ไม่นาน ขณะเดียวกันต้องบอกแบบพูดได้เต็มปากเลยว่า การใช้น้ำในอดีตยังขาดความทั่วถึงและเพียงพอสำหรับน้ำที่มีคุณภาพ ในอดีตกรุงเทพฯจะใช้น้ำบาดาลกันเยอะมากจนเกิดความทรุดโทรมจนต้องออกกฎหมายห้ามใช้น้ำบาดาล ฉะนั้นในกรุงเทพฯ วันนี้มีการใช้น้ำประปากันอย่างทั่วถึง การใช้น้ำบาดาลเป็นเรื่องผิดกฎหมายจึงต้องขออนุญาตเป็นพิเศษ แต่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นน้ำบาดาล ฉะนั้นโอกาสที่จะขยายไปตรงนี้ โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงน้ำให้มีคุณภาพขึ้นมาหรือทำน้ำให้มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่มีมาตรฐานหรือดีเท่าที่เป็นไปได้ยังมีโอกาสอีกมาก”
“สำหรับคำถามที่ว่าในอนาคตโอกาสที่จะขาดแคลนน้ำเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องใช้คำว่า การบริหารทรัพยากรน้ำของเรายังไม่มีความแข็งแกร่ง เพราะล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ด้วยกันแทบทั้งสิ้น เราเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์แหล่งน้ำ น้ำในประเทศเราไม่ได้น้อยลงไปเลย เพียงแต่เราไม่สามารถจะเก็บรักษาน้ำไว้ได้ ต้องมีการบริหารทรัพยากรน้ำกันตลอด” ชัยวัฒน์ กล่าว
CSR หรือกิจกรรมของบริษัท ที่จะให้ประชาชนกับบริษัทมีความสัมพันธ์กัน…“ที่ผ่านมาบริษัททำ CSR ค่อนข้างเยอะ และยังมีอะไรให้เราได้ปรับปรุงอีกมากเหมือนกัน ที่ผ่านมาเรามีการแจกทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่ที่เราใช้ทรัพยากรน้ำของเขา เช่น เราเอาทรัพยากรน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำนครชัยศรี แม่น้ำท่าจีน เราก็ไปมอบทุนให้ ซึ่งมันไม่ได้ตอบโจทย์แต่เราคืนประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่นั้นๆ ในแต่ละปีมีการแจกทุนหลายร้อยทุน และต่อไปจะมีรูปแบบกิจกรรมที่ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นไป คงจะไม่ได้เอาเงินมาให้อย่างเดียว แต่ทำอย่างไรองค์ความรู้ถึงจะได้มาควบคู่กัน ทำอย่างไรให้เขารู้จักคุณค่าของทรัพยากรที่เขามีอยู่

นอกจากนี้ บริษัท มีการทำโครงการต่างๆ ที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ เช่น เราใช้น้ำเราก็ต้องอนุรักษ์ต้นน้ำ โดยการปลูกป่าต้นน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นโครงการ 5 ปี ไม่ใช่เป็นการปลูกแล้วทิ้ง ปลูกแล้วต้องมีการดูแลและประเมินผลอย่างต่อเนื่องเสมอมา สิ่งใดที่ทำดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป อนาคตเราจะมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องขององค์ความรู้”
ก่อนจากกันชัยวัฒน์ได้ฝากความห่วงใยถึงเรื่องความเข้าใจของแหล่งน้ำ บ่อยครั้งที่แหล่งน้ำเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีข้อจำกัด เช่น ไม่ได้ใหญ่โตมากมายเพราะฉะนั้นการที่จะทิ้งของเสียหรือขยะไปในแม่น้ำลำคลอง พอเปิดประตูกั้นน้ำทำให้คุณภาพน้ำในคลองรวมกับแหล่งน้ำใหญ่ และถ้าเอาคุณภาพน้ำมาตรวจสอบบอกเลยว่าน่ากลัวมากๆ ก่อนหน้าที่ผมจะมาบริหารงานที่ TTW ผมเฉยๆ กับการกระทำตรงนี้มาก แต่เมื่อได้มาอยู่แล้วทำให้เรารู้อะไรมากขึ้น ผมคิดถึงว่าอนาคตลูกหลานเราอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้าเขาจะอยู่กันยังไง ไม่ยิ่งแย่หนักไปกันใหญ่เหรอ อยากฝากถึงครอบครัวให้สอนบุตรหลานเรื่องการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ใหญ่ต้องทำให้เด็กดูเป็นแบบอย่างก่อนดีที่สุดครับ”
ด้วยเวลาที่จำกัดในการพูดคุย แค่เพียงเท่านี้ก็ทำให้ผู้อ่านได้ทราบแนวคิดในการบริหารงาน พร้อมทั้งความตั้งใจในการพากิจการ TTW ไปสู่จุดมุ่งหมาย นี่เป็นเพียงก้าวเริ่มต้นยังทำได้ขนาดนี้ ในอนาคตเรามาดูกันดีกว่าว่าก้าวต่อๆ ไปของ TTW ที่มีผู้คุมบังเหียนชื่อ “ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์” จะเดินไปในทิศทางใด

Comments