“พัชร สมะลาภา” นำทัพ K SME อยู่ในอันดับต้นของธนาคารพาณิชย์ไทย
- advancedbizmagazine
- 10 มี.ค. 2558
- ยาว 2 นาที

ปรับยุทธศาสตร์ K-SME สู่ความเป็นหนึ่ง “K-SME ช่วยเต็มที่ SME มีแต่ได้”
3 ปี กับบทพิสูจน์ การบริหารงานของ พัชร สมะลาภา ผู้บริหารสายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย ที่สามารถนำทัพ K SME อยู่ในอันดับต้นของธนาคารพาณิชย์ไทย เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ มากมาย แต่จากผลงานการบริหารงานของพัชร แสดงให้เห็นแล้วว่า พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
พัชร สมะลาภา ได้กล่าวถึงภาพรวมของ SMEs ว่า ในขณะนี้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเริ่มกลับมา โดยรวมจะทำให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้นทำให้มีปัจจัยการทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถเติบโตไปได้คือ ความสามารถในการซื้อของลูกค้าและการออกสินเชื่อจากทางธนาคารเพื่อให้สภาพคล่องเหมือนกับที่เราทำอยู่ตอนนี้ก็คือการออกสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการให้สามารถเดินต่อไปได้ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยลบมาจากครึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้ทางธนาคารมีกำไรที่น้อยมากซึ่งก็ต้องอาศัยระยะเวลาที่นานพอสมควรกว่าที่ลูกค้าจะสามารถพื้นตัวได้และในขณะนี้เงินบาทก็ได้มีการแข็งตัวขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกบ้างทำให้ธุรกิจในกลุ่มของการส่งออกและกลุ่มที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้จากพิษเศรษฐกิจในครั้งก่อนควรจะต้องระวังไว้จริงๆ แล้วในขณะนี้กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจะเป็นในส่วนของการซื้อขายโดยจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ประกอบการในส่วนนี้เริ่มมีจำนวนสินค้าในสต็อกลงไปมากเพราะสามารถขายออกไปได้เร็วกว่าช่วงก่อนๆ

กว่าจะมาถึงวันนี้ของ พัชร สมะลาภา หลายคนคงอยากรู้ว่าแล้วว่า พัชร เป็นใครมาจากไหนและมานั่งเก้าอี้บริหารงานให้กับธนาคารกสิกรไทยได้อย่างไร รวมถึงทิศทางการบริหารงานในกลุ่ม SMEs ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ พัชร ทำได้และทำได้ดี
“ผมเรียนเมืองนอกมาตั้งแต่อายุ 13 ปี จบมาจาก มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) และกลับมาทำงานบริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นนักวิเคราะห์หุ้น จากนั้นก็ไปเป็นนายหน้าขายหลักทรัพย์ให้กับ บริษัท ด๊อยซ์ มอร์แกน ซิเคียว ริที ประเทศอังกฤษ (Deutsche Morgan Grenfell Securities (UK)) จากนั้นไปเป็นนักบริหารเงินลงทุนให้กับ บริษัท เมอร์ริล ลินซ์ แอนด์ โก อิงค์ ประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย พอปี 2552 มาทำที่ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทยและมาอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทยได้ปีนี้ปีที่ 3 แล้วครับ ดูแลในเรื่องของ SME
วันแรกที่เข้ามาดูในเรื่องของ SME อาจจะยังไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับ SME ดีพอ กระทั่งวันนี้เริ่มรู้จักมากขึ้นในมุมความสำคัญของ SME ต่อประเทศ ซึ่งจริงๆ เป็นทางเลือกหลักจาก 2 ทางเลือกของคนที่เรียนหนังสือจบมาคือไม่เป็นมนุษย์เงินเดือนก็เลือกที่จะทำธุรกิจของตัวเอง จากจุดนี้ในฐานะหน้าที่ของธนาคารในการให้ความช่วยเหลือ ถ้าเป็นไปในทางที่ดีประเทศก็จะเจริญ รวมถึงผู้ถือหุ้นของธนาคาร พนักงาน หรือผู้ที่นำเงินมาฝากก็จะได้ดีไปด้วย จึงเห็นความสำคัญของสายงานและอีกหลายๆ ด้านเพิ่มมากขึ้น”

ธนาคารกสิกรไทยเน้นปล่อยสินเชื่อเงิน SME เพื่อช่วยเหลือลูกค้าตามสโลแกน K SME ช่วยเต็มที่ SME มีแต่ได้
“การที่เราจะเป็นที่หนึ่ง นั้นหมายความว่ามีคนมาใช้บริการเราจำนวนมากโดยเฉพาะสินเชื่อ สมมติคนหนึ่งร้อยคนมาขอสินเชื่อกสิกรไทยหมดทั้งหนึ่งร้อยคน แน่นอนว่าในจำนวนหนึ่งร้อยคนเราให้ได้ไม่ครบ ซึ่งตัวเลขในการวัดไม่ว่าจะเป็นขนาดของทรัพย์สินหรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่เอามานิยามว่าเป็นที่หนึ่งหรือไม่ และถ้าเกิดเราพูดถึงคำว่าเป็นที่หนึ่งด้วยคำที่กว้างกว่า นั่นคือเราไปถามลูกค้าคนไหนก็แล้วแต่ ถ้าชื่อแรกที่ลูกค้าคิดถึงคือ ธนาคารกสิกรไทย แบบนี้จัดได้ว่ากสิกรไทยเป็น top of mind ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ และที่สำคัญนอกเหนือไปจากนั้นก็คือ เมื่อลูกค้าคิดถึงกสิกรไทยแล้วคิดถึงอะไร เช่นถ้าบอกว่ากสิกรไทยให้การช่วยเหลือลูกค้าเต็มที่ นี่แหละคือสิ่งที่กสิกรไทยต้องการ เพราะฉะนั้น ความคิดของลูกค้าที่มีต่อกสิกรไทยก็สำคัญ ถ้าเกิดลูกค้าคิดกับกสิกรไทยดีๆ ถือว่าเป็นหนึ่งที่มีคุณค่า”
ความแตกต่างเมื่อกสิกรไทยเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นๆ ในการปล่อยสินเชื่อ
“เมื่อกสิกรไทยเปรียบเทียบกันกับธนาคารอื่นๆ ในการปล่อยสินเชื่อ มีความแตกต่างกันพอสมควร คำว่าความเสี่ยงมันนิยามไม่ได้ สมมุติลูกค้ายื่นกู้สินเชื่อกับหลายๆ ธนาคาร บางธนาคารบอกว่าให้ไม่ได้ แต่บางธนาคารบอกว่าให้ได้ 10เปอร์เซ็นต์ บางธนาคารบอกว่าให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของตลาดรวมซึ่งมีไม่เท่ากัน จะเอามาเป็นมาตรฐานไม่ได้
สำหรับเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อนั้นจะตั้งขึ้นโดยทางฝ่ายการเงิน ซึ่งฝ่ายการเงินจะมีโจทย์ว่าปีนี้ควรจะต้องส่งผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้นเท่าไหร่ แล้ว SME จะต้องโตเท่านี้ เพราะฉะนั้นเป้าจะมาจาก balance sheet ของธนาคารมากกว่า เพราะฉะนั้นจะไม่ได้วางมาว่ามีตลาดอยู่เท่านี้ความเสี่ยงลดลงได้เท่านี้ จะต้องทำเพิ่มขึ้นเท่านี้ ไม่ใช่ แต่จะมาเป็นตัวเลขว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้เพื่อที่จะทำให้มีรายได้เท่านี้

ถ้าถามว่าเป้าที่ตั้งไว้ทำถึงกันไหม ในทุกๆ ปี ถึงครับ เป้าตัวเลขในการปล่อยสินเชื่อนี่ง่าย เพราะเป็นเหมือนกับเราเอาของไปให้เขา เขาก็ต้องเอาครับ แต่สิ่งที่ยากนั่นคือ ทำอย่างไรไม่ให้ของที่เอาไปให้เสีย สำคัญคือ คนที่ไปหาสินเชื่อกับคนอนุมัติสินเชื่อต้องมีความสัมพันธ์กัน ต้องตกลงกันด้วยข้อตกลงเดียวกัน ฉะนั้นถ้าบอกว่าผมทำถึงเป้าที่วางไว้ทุกปี แต่พนักงานต้องออกทุกปีเพราะว่าเหนื่อยกับการที่ต้องมาทะเลาะกับคนที่อนุมัติสินเชื่อ อย่างนี้ก็ไม่ถูกเหมือนกัน จะต้องมีการจัดการเรื่องของการ balance stakeholder ให้ได้ดี ทั้งคนทำงานและผู้ถือหุ้น”
ครึ่งปีที่ผ่านมาประสบปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ความช่วยเหลือของกสิกรไทยที่มีต่อผู้ประกอบการ
“ด้วยสามัญสำนึกของเรา เราก็อยากช่วยลูกค้าให้เต็มที่ครับ แต่การช่วยก็ต้องเลือกคนช่วยด้วยเหมือนกัน เพราะในที่สุดแล้วเงินที่ช่วยไปก็คือเงินหมุนเวียนของลูกค้าที่มาฝากเงินกับเรา เพราะถ้าเกิดเอาเงินไปช่วยอุดรูรั่วให้กับผู้ประกอบการหมดแล้วไม่มีผลกำไรเกิดขึ้นมาหรือเป็นหนี้สูญเท่ากับว่าลูกค้าที่ฝากเงินกับเราแย่ครับ เพราะฉะนั้นต้องมีการไตร่ตรองกันเยอะพอสมควร ซึ่งเราก็ช่วยในมุมที่ไม่ได้รับผลกระทบกับลูกค้าเงินฝากของเรามากนัก นั่นคือ ช่วยให้เขามีคู่ค้าที่ก้าวไกลมากขึ้น รู้วิธีการทำตลาดที่ดีขึ้น รวมถึงการเดินบัญชีได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของการปล่อยสินเชื่อต้องดูอย่างถี่ถ้วนจะให้ทุกคนนั้นทำไม่ได้จริงๆ อย่างที่หลายคนบอกว่าไม่เห็นช่วยอะไรเลยขอสินเชื่อก็ไม่เห็นได้เลย ก็ต้องบอกว่า อยากให้ครับแต่มันไม่ใช่เงินเราจริงๆ ”
การปล่อยสินเชื่อแบบไม่เป็นหนี้สูญ
“ปัญหานี้ยาก เพราะสุดท้ายแล้วคือความเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าของธุรกิจกับธนาคาร อีกอย่างเงินเมื่อออกไปจากธนาคารไปถึงมือลูกค้าแล้วเราก็ไม่สามารถจะควบคุมอะไรได้อีกแล้ว ฉะนั้นความเชื่อใจนั้นมีมากในการเอาเงินให้ลูกค้าไป แต่บอกเลยว่า ควบคุมยากมาก อีกทั้งเราไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าจะฟันธงเลยว่าธุรกิจนี้ดีหรือไม่ดี ใช้วิธีศึกษาดูทั้งนั้นว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ เมื่อเขาขอสินเชื่อมา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราให้ไป 80 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเพื่อลดความเสี่ยงเหมือนกับเป็นการดูพฤติกรรมกันไปก่อน อีกอย่างต้องคุยกับลูกค้าให้มากที่สุด เมื่อถึงจุดที่เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว เราก็สามารถจะชี้แนะกับเขาได้ว่าบางเรื่องที่เสี่ยงมากเกินไปก็อย่าไปทำเลยจะดีกว่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานที่เรียกว่าเป็นที่ปรึกษาก็ได้”
SME ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา

“SME โดยเทอมแล้วจะเป็นลูกค้าที่ไม่ค่อยใหญ่ ส่วนมากลูกค้าที่ไม่ได้เป็นรายใหญ่ก็จะไม่ได้เป็นผู้ที่ผลิตเองหรือมีสถานประกอบการเอง ดังนั้น ผลกระทบที่ได้รับเมื่อเศรษฐกิจปรับตัวลดขนาดลงก็จะไม่ได้หนักหนาอะไรมากมายนัก ในกรณีที่ไม่ได้เอาเงินไปลงทุนเกินตัว ประเภทธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจประเภทนี้จะเป็นการลงทุนที่น้อย ไม่เหมือนกับธุรกิจรายใหญ่ๆ ยกตัวอย่าง การสร้างคอนโดขึ้นมา 5 แท่งและรอเวลาว่าอีก 8 ปีน่าจะทำเสร็จ ธุรกิจส่วนใหญ่ของ SME ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่จะเป็นลักษณะซื้อมาจากรายย่อยหลายๆ รายและไปขายให้รายใหญ่ 1 ราย โอกาสที่จะเสียจะมีไม่มากเท่าที่ควร
โจทย์จะเป็นลักษณะว่า ในช่วงเศรษฐกิจขาลงถ้าเกิดผู้ประกอบการรายใดที่กักตุนสินค้าไว้มากเกินไปหรือไปกู้เงินมาเพื่อกักตุนสินค้าไว้แล้วขายไม่ออก จากนั้นดอกเบี้ยเริ่มพอกขึ้น นั่นแหละจะเหนื่อย ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากคือ กลุ่มที่โตเร็วเกินกว่าที่ควรจะเป็น อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ใช้ความเสี่ยงมากเกินไปในการทำธุรกิจหรืออีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหามากคือสินเชื่อประเภทกู้เงินมา working capital (เงินทุนหมุนเวียน) แต่เมื่อได้เงินมาจริงๆ ก็นำเงินไปซื้อรถ สร้างบ้านหรือซื้อที่ดิน เมื่อถึงเวลาที่ธุรกิจตัวเอง slow ทำให้ไม่สามารถนำเงินมาคืนธนาคารได้
วิธีป้องกันปัญหานี้ทำได้อย่างมากคือ การรู้จักกันมานานเชื่อใจกันครับ อย่างที่บอกว่าเงินเมื่อโอนไปแล้วเราก็ไม่สามารถรู้ได้แล้วว่าเขาเอาเงินจำนวนนี้ไปทำอะไรบ้าง ฉะนั้นรายใหม่ๆ ที่บอกว่าจะโตกับ SME นั้นยากมาก เนื่องจากเขาไม่รู้จักลูกค้าว่าจริงๆ แล้วคนๆ นี้เชื่อใจได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เขาต้องทำก็คือห้ามไปแย่งลูกค้าจากคนอื่นนั่นคือทางที่ดีที่สุด เพราะการที่จะหาลูกค้าที่ดีๆ ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้นั้นก็ยากและคิดเหรอว่าคนอื่นเขาจะยอมปล่อยลูกค้ากลุ่มนี้มาให้ง่ายๆ เพราะกว่าที่เขาจะหาได้นั้นก็ยากและใช้เวลานานเหมือนกัน กสิกรไทยจัดได้ว่าได้เปรียบสินเชื่อรายอื่นๆ ตรงที่เราเริ่มทำ SME ก่อนจึงมีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างใหญ่กว่าเจ้าอื่นๆ และความเสี่ยงก็มีไม่มากนัก ลูกค้าที่ผ่อนชำระตรงเวลาอยู่กับเรามานานก็มีการช่วยลูกค้าโดยการลดดอกเบี้ย ไม่ได้เป็นการสร้างภาพแต่เป็นการช่วยจริงๆ และไม่ได้บอกลูกค้าด้วย เราช่วยโดยไม่หวังที่จะอยากได้อะไรตอบแทน”
วิธีดำเนินการสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศของธนาคารกสิกรไทย
“ณ ตอนนี้กสิกรไทยพยายามทำอยู่อย่างมากในเรื่องของการสร้างเน็ตเวิร์คหรือว่าเครือข่าย แต่จะมีความยากอยู่ตรงที่ สมมติเราอยากให้ใครสักคนมางานๆ หนึ่งซึ่งเขาไม่อยากมา เราจึงไม่รู้จะใช้วิธีดึงดูดความสนใจเขาให้มางานได้อย่างไร ซึ่งนี่แหละที่บอกว่ายาก ทั้งๆ ที่การมางานนั้นมันจะเป็นโอกาสให้เขาได้เจอกับลูกค้าซึ่งเขาสามารถต่อยอดธุรกิจของเขาได้ แต่เนื่องจากว่าระยะหลังมีแต่คนใช้คำว่าต่อยอดทางธุรกิจกันมากเกินไปทำให้คำๆ นี้ไม่น่าเชื่อถือไปแล้ว ทุกคนบอกเหมือนกันว่ามาเถอะมางานมาสร้างเน็ตเวิร์คกัน แต่เมื่อไปหลายๆ ที่กลับไม่มีเน็ตเวิร์ค ทำให้ไม่อยากไปงานไหนอีกแล้วเนื่องจากไม่ทำให้เกิดประโยชน์ มิหนำซ้ำเสียเวลาทำธุรกิจอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เราไม่ได้ทิ้ง ทางกสิกรไทยเองก็พยายามทำอยู่ โดยใช้วิธีจัดคอร์สโครงการ การจัดการที่ยั่งยืน K SME ให้แต่ละธุรกิจมานั่งเรียน ให้แต่ละคนได้มีโอกาสมาทำกิจกรรมร่วมกันจะได้สนิทสนมกันต่อไป ซึ่งเรื่องต่อไปก็เป็นเรื่องของแต่ละคนเองว่าจะช่วยเหลือกันหรือแนะนำเพื่อนให้กัน หรือแม้แต่อุดหนุนสินค้ากันเอง กสิกรไทยเป็นเพียงแค่ตัวกลาง ให้ทุกคนได้มาเจอกัน และเมื่อเรียนจบไปก็พยายามหาวิธีให้ผู้ประกอบการมีโอกาสกลับมาเจอกันผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ธนาคารจัดขึ้น สำหรับตอนนี้ที่พยายามทำอยู่มากๆ คือ ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นเขตหรือภาคมีเวลาไปเจอลูกค้าและชักชวนกันไปทานข้าว เพื่อที่จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ความร่วมมือของกสิกรไทยกับหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้
“ตอนนี้ก็พยายามอยู่ครับก็พยายามหาวิธีช่วยลูกค้า ตามความเหมาะสมที่ธนาคารเห็นว่าทำได้ การเตรียมตัวของผู้ประกอบการเพื่อเข้าสู่ AEC
“ตามความคิดผม AEC เป็นคำที่ใช้กันมากเกินไป ไม่ใช่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่ AEC อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านเราเขาเจริญกว่าประเทศไทยเยอะมาก ธุรกิจเราเล็กๆ นี่ถือว่าโชคดีนะเนื่องจากคอร์สก็ต่ำ ขยับโน่นนิด ขยับนี่หน่อยก็ได้แล้วหรือแม้แต่คู่แข่งมาทางนี้เราก็สามารถขยับไปอีกทางก็ได้ อีกอย่างตลาดประเภท SME คงไม่มีใครมาให้ความสนใจมากเท่าที่ควร เขาคงไปสนใจธุรกิจที่มันใหญ่ๆ มากกว่า อีกอย่างธุรกิจเล็กๆ เราทำงานกันบนความสนิทใจและเชื่อใจกันบนเน็ตเวิร์คสิ่งที่เราพยายามทำให้ได้ตอนนี้คือการต่อยอดเน็ตเวิร์ค จากที่เป็นกลุ่มลูกค้าของเราเองเพื่อเน็ตเวิร์ค จะได้กระจายจากประเทศไทยออกไปประเทศเพื่อนบ้านด้วย ถือว่าเราได้เรียนรู้จากกลุ่มลูกค้าเราพอสมควร เพราะลูกค้าเราตอนนี้ออกไปทำธุรกิจในกลุ่ม AEC ค่อนข้างเยอะ กลับกลายเป็นว่าเราเรียนรู้จากเขาเยอะกว่าที่เขาเรียนรู้จากเรา สิ่งที่หวังก็คือจะมี knowledge base ที่ดีขึ้นภายใน เมื่อเสร็จแล้วเราสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปให้คำปรึกษากับรุ่นใหม่ๆ ได้เลยจริงๆ พยายามชี้ทางที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการทำมาหากินของเขาให้ได้มากขึ้น จากเมื่อก่อนเราจะให้ความรู้กับลูกค้าในด้านวิชาการ หรือแม้แต่พาลูกค้าไปต่างประเทศ อาทิ พม่า ลาว เวียดนาม ไปศึกษาธุรกิจของประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องเงินทุน ให้ความรู้เกี่ยวกับการรับมือ จะมีการเชิญวิทยากรมาบรรยาย ณ ปัจจุบันถือว่ากสิกรไทยให้ทั้ง knowledge และ know how จัดอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ”

SME ตีแตก เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ให้ความรู้ของกสิกรไทย
รายการ SME ตีแตก เป็นอีกหนึ่งความรู้ที่เรานำเสนอให้แก่ผู้ประกอบการ โดยในปีนี้ ธนาคาร ได้กลับมาร่วมมือกับ บริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอนเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) อีกครั้ง ในการทำรายการ SME ตีแตก เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้สนใจทำธุรกิจ โดยในครั้งนี้นอกจากรูปแบบรายการที่สนุกสนาน แฝงด้วยความรู้ในการทำธุรกิจแล้วการกลับมาของ SME ตีแตก ยังเน้นความหลากหลาย น่าสนใจและครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการในทุกกลุ่มธุรกิจ ได้รับความรู้อย่างทั่วถึง สำหรับรายการ SME ตีแตก ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 21.20-22.20 น. ทางช่อง 1 เวิร์คพ้อยท์
และทั้งหมดคือแนวทางการบริหารงานของ พัชร สมะลาภา ผู้บริหารสายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย เพื่อผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สมกับสโลแกน “K SME ช่วยเต็มที่ SME มีแต่ได้”

Comments