Organizational culture: การอยู่ร่วมกันในองค์กรอย่างมีความสุข
- advancedbizmagazine
- 8 มี.ค. 2558
- ยาว 1 นาที

พฤติกรรมของคนสามารถแยกออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1.Passive เฉื่อย เนือย ไม่กระตือรือร้น คนประเภทนี้มักจะไม่มีความคิดสร้างสรรค์ คิดว่า “ฉันไม่เก่งเลย” พวกคุณเก่งจัง ยืนตัวงอ ไม่กล้าพูดจา ไม่แสดงออก ใครจะเอาอย่างไรก็ได้ หยวนๆ ขาดความเชื่อมั่น เวลาพูดเสียงจะเบา ไม่กล้าสบตา เข้าลักษณะ “You OK, I No K.”
2.Aggressive ฮึกเหิม ประเภทนี้ชอบแสดงออก ฉันเก่งทุกอย่าง คุยเสียงดัง ไม่อ่อนข้อให้ใคร อยากได้อะไรต้องเอาหรือทำให้ได้ ชอบขัดจังหวะ ไม่ยอมคน จ้องตาเขม็งหากใครโต้แย้งหรือคัดค้านความคิดของตน หนักๆ จะเป็นคนก้าวร้าว นึกว่าตนเก่ง คนอื่นไม่ได้เรื่องเลย เข้าลักษณะ “I OK, You No K.”
3.Assertive ยึดมั่น ประเภทนี้มีหลักการ กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น แสดงความต้องการ เสนอความเห็นแบบสร้างสรรค์ กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เห็นด้วยก็บอก ไม่เห็นด้วยก็บอก ชอบก็บอกว่าชอบ ไม่ชอบก็บอกไม่ชอบ เข้าลักษณะ “I OK,You OK.”
ถ้าถามว่าประเภทไหนดีที่สุด หรือแย่ที่สุด เราก็คงจะตอบกันได้ เราก็คงจะเลือกสร้างสัมพันธภาพกับคนที่เราสบายใจ และไม่เข้าสัมพันธภาพกับคนที่เราไม่สบายใจ โดยปกติแต่ละคนก็จะเป็นเช่นนั้น แต่โดยวิธีดังกล่าวอาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก สำหรับการทำงานในองค์กรเดียวกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เราไม่มีสิทธิ์จะเลือกร่วมงานกับใครได้นัก พรหมลิขิตกำหนดให้เราต้องมาทำงานในองค์กรเดียวกัน สายงานเดียวกัน การเลือกบุคคลจะทำให้เกิดการแตกแยกแบ่งกลุ่มแบ่งพวกในองค์กร ปกติองค์กรใหญ่ก็แบ่งตนเองเป็นองค์กรย่อยๆ อยู่แล้ว ตามสภาพของเนื้องานหรือความรับผิดชอบ เช่นฝ่ายการตลาด ฝ่ายบัญชี ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบุคคล ฝ่ายธุรการ ฯลฯ แต่ไม่ได้แยกตามกลุ่มพฤติกรรมหรือนิสัย ดังนั้นองค์กรย่อยๆ ก็มิใช่สัมพันธภาพเฉพาะในหน่วยงานของตนเอง และไม่รู้จักหรือไม่รับรู้ใดๆ กับหน่วยงานอื่น เพราะทุกคนต้องประสานสัมพันธ์การงานให้เชื่อมโยงทั้งองค์กร
เราจะให้องค์กรมีชีวิต ข้อแรกที่เราต้องตระหนักก็คือ ผู้ร่วมงานของเรามีดีมีความสามารถด้วยกันทุกคน มิเช่นนั้นคงไม่ได้ถูกคัดเลือกให้เข้ามาทำงาน แต่ที่สำคัญประการที่สองคือ เราเก่งกันคนละด้าน ไม่มีใครเก่งเสียทุกด้าน และไม่มีใครไม่เก่งเลยสักด้านหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ และประสบการณ์ที่สั่งสมมา ข้อคิดข้อที่สาม เราแต่ละคนจำต้องทำให้ผู้ร่วมงานทั้งในสายงานเดียวกันและนอกสายงานเกิดประโยชน์กับงานของเรามากที่สุด องค์กรที่มีชีวิต เริ่มต้น สร้างดังนี้
1.อันดับแรกเลย เริ่มจากผู้บริหารระดับสูงระดับกลาง ร่วมกันสร้างสีสัน ทั้งองค์กร ผู้บริหารอย่าต่างคนต่างทำ วันๆ แทบไม่คุยกันเลย ต้องเริ่มทำงานแต่เช้า สร้างความคึกคักในที่ทำงาน
2.ผู้บริหารต้องร่วมกันเติมสีสันในที่ทำงาน มากกว่า การเติมเนื้องาน ถ้าบรรยากาศดี งานไปฉะลุยเอง
3.สร้างความเข้าใจด้วยระบบการสื่อสารให้มากขึ้น ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือหลงตามข่าวลือ
4.มีมุมพักใจ ให้ผ่อนคลายความเครียด สามารถให้คำแนะนำปัญหาทางใจส่วนตัวได้
5.มุ่งเน้นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีของบุคลากร ให้ทำงานแบบรักสามัคคี
ส่วนพนักงานทุกคนนอกจากความรู้ความสามารถในงานตามหน้าที่การงานแล้ว การอยู่ร่วมกันในองค์กรที่มีชีวิต ต้องมีอุปนิสัยที่น่าคบ น่ารัก มีเสน่ห์ (Nice) มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.แรกพบสร้างความประทับใจ การทำให้คนไม่ชอบหน้าง่ายกว่า การทำให้คนอื่นประทับใจในตัวเรา ซึ่งต้องฝึกฝน เรียนรู้และฝึกปฏิบัติหลักมุนษยสัมพันธ์ชนะมิตรและจูงใจคน
2.ทำตนเป็นที่รักของทุกคน ด้วยการให้ความสำคัญกับบุคคลอื่น และให้ความสำคัญเอาใจใส่แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส และเริ่มต้นด้วยไมตรีจิตร อัธยาศัย น้ำใสใจจริงต่อทุกคน
3.พูดให้เกิดความร่วมมือ แสดงความเชื่อมั่นและไว้วางใจผู้ร่วมงาน จงเคารพความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน และจงทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ และจงทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
4.ใช้มนต์ขลังของการฟังกับผู้ร่วมงาน คือรับฟังเมื่อเขาพูด อย่างตั้งอกตั้งใจ และเห็นอกเห็นใจ พยายามให้เขาเป็นผู้พูดเป็นส่วนมาก
5.สร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น การสร้างความสัมพันธ์ก็เหมือนการแต่งเพลงแต่งกลอน คือเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกัน สอดคล้องกัน เป็นเนื้อเดียวกัน สำคัญประการหนึ่งก็คือ จงเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อผู้อื่น
6.เคล็ดลับสร้างแรงดึงดูดใจ เช่นวิธีที่จะระงับการโต้แย้งหรือโต้เถียงที่ดีที่สุด ก็คือ อย่าให้มีการโต้แย้งเกิดขึ้น สนทนาในเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่งสนใจ ยกย่องชมเชยในสิ่งที่ดีงามของเขา และที่สำคัญขณะอารมณ์เสีย อย่าแสดงออก หรือพูด การทำงานไม่ใช่การแสดงอารมณ์ ดังนั้นหากกำลังอารมณ์ไม่ดีจงอย่าติดต่อหรือคุยกับคนอื่น
7.ทำให้ความขัดแย้งไม่เป็นความขัดแย้ง อาทิเช่น อย่าบอกว่าเขาเป็นคนผิด อย่าพูดว่าผู้ร่วมงานโง่ เซ่อ ไม่รอบคอบ ไม่ติเตียน ไม่ประณาม หรือบ่น เวลาสนทนา จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่งตอบรับ “ครับ” “ใช่” “ถูก” ในทันทีที่สนทนา เมื่อทำอะไรกับใคร จงทำให้เขารู้สึกว่าเป็นความคิดของเขา
8.ขอความช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ อย่าให้เขามองว่าเรากำลังใช้งานเขา ให้เขาแสดงความสามารถในงานตรงนั้นอย่างเต็มที่ จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำงานนั้น เมื่อเขาทำแล้วจงชมเชยทุกครั้งที่เขาทำแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรืองานก็ตาม
9.วิจารณ์แบบไม่วิจารณ์ ชมเชยส่วนดี แล้วเราจะได้สิ่งที่ดีของเขา ใช้คำพูดเชิงขอร้อง “.........ดีแล้ว..แต่ว่า...........ก็จะสุดยอดเลย”
เมื่อผิด จงทำให้ความผิดนั้นดูเป็นของง่ายที่จะแก้ไข และให้การสนับสนุนและกำลังใจ อย่าทำให้ความผิดทำให้เพื่อนเสียหน้า แต่จงกู้หน้าของเพื่อน และจงอุปโลกน์เพื่อนในสิ่งที่ดีงามเพื่อเขาจะได้เป็นตามนั้น
10.ปาฏิหาริย์การสร้างมิตรภาพยืนยาว ด้วยการทำตนเป็นผู้ให้ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ให้คำชมเชย ให้ความรู้ ให้ความจริงใจ ให้ความเป็นมิตรแท้ อานุภาพของการให้ จะยืนยาวนาน ให้มากเท่าไร เราก็จะได้รับมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นฝึกตนเองเป็นผู้ให้ที่ดี ให้อย่างสุจริตใจ น้ำใสใจจริง คือไม่หวังผลตอบแทน ถ้าเราไม่หวัง เราจะได้รับผลตอบแทนที่ดี
มีเกษตรกรนายหนึ่ง เขาจะส่งผลผลิตทางการเกษตรเข้าประกวดในงานการเกษตรประจำปีทุกปี และในการประกวดนั้น เขาก็ได้นำกิ่งตอนของต้นผลิตภัณฑ์ไปแจกฟรีให้กับผู้เข้าชมงาน เป็นประจำทุกปี พอมีงานประจำปี ผู้เข้าชมงานก็ต่างเดินหาร้านของเกษตรกรท่านนี้ และปีหนึ่งเขาก็ได้รับรางวัลชนะเลิศการส่งผลผลิตเข้าประกวด พิธีการในงานได้สัมภาษณ์ความรู้สึกของเขา เขาบอกว่าเขามาร่วมงานประกวดสิบกว่าปีแล้ว เพิ่งได้ชนะเลิศปีนี้ปีเดียว เคยได้ก็แต่ชมเชย แต่เขาไม่ย่อท้อ เพราะงานประกวดไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การที่เขาได้มาประกวด รู้จักเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน และรู้จักผู้เข้าชมงานนั้นสำคัญมากกว่า เขาจึงมาทุกปีและไม่ท้อแท้แม้ไม่ได้รางวัล เขามีความสุขที่ได้แบ่งปันผลผลิตของเขาแจกแก่ผู้ที่สนใจ เขามีความสุขกับการแบ่งปัน การให้มากกว่าการได้รับรางวัล
และนี่แหละ “ความสุขที่แท้จริงของคนเรา องค์กรแห่งความสุข หรือองค์กรที่มีชีวิต”
コメント