ปฏิวัติการเงิน Make THE Different นำแบงก์ TMB ก้าวสู่ผู้นำตลาด
- credit : ธุรกิจก้าวหน้า ฉบับที่ 310 ธันวาคม 57
- 7 มี.ค. 2558
- ยาว 3 นาที
ด้วยกลยุทธ์ปลดล็อคเงื่อนไขค่าธรรมเนียมข้ามเขต ตอกย้ำความโดดเด่นในฐานะผู้นำตลาดด้านธุรกรรมการเงิน ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม ฝาก ถอน โอนเงินสดข้ามเขตภายในบัญชีและฝากเช็คทุกธนาคารเข้าบัญชี ผ่านทุกช่องทางการบริการ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่จำกัดวงเงิน สะดวก ง่าย ไม่มีเงื่อนไขปลีกย่อย จนได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีและด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบใหม่นี้ มีผลผลักดันให้ธุรกิจแบงก์เปลี่ยนแปลงเนื่องจากคู่แข่งตามกระแสและทำให้ประชาชนใช้บริการการเงินถูกลง
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากแนวคิดของชายวัย 58 ผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารทหารไทย บุญทักษ์ หวังเจริญ ผู้ปรับเปลี่ยนทีเอ็มบีมาเป็นองค์กรที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง“Make THE Different” ด้วยการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง อย่างที่ลูกค้าไม่เคยได้รับมาก่อน
เส้นทางสายแบงก์ของบุญทักษ์ หวังเจริญ
บุญทักษ์ หวังเจริญ คือนายแบงก์ที่คร่ำหวอดอยู่กับธุรกิจการเงินมาตลอดชีวิต โดยเริ่มทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่ปี 2524 และทำงานให้กับธนาคารแห่งนี้มาเป็นเวลา 27 ปีเต็ม จากนั้นมีโอกาสไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนของธนาคารกสิกรไทย หลังจากเรียนจบปริญญาโท บุญทักษ์ได้มาทำงานในฝ่ายกิจการต่างประเทศ และเมื่อธนาคารกสิกรไทยมีแผนที่จะเพิ่มฝ่ายวาณิชธนกิจขึ้นมา บุญทักษ์จึงได้เข้าไปรับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายคนแรก

อีกทั้งได้ผ่านสายงานในธนาคารกสิกรมาหลายสายงาน ไม่ว่าจะเป็นสายงานบรรษัทธุรกิจ สายงานธุรกิจลูกค้าและผู้ประกอบการ สายงานตลาดทุน จนกระทั่งรับตำแหน่งสูงสุดคือรองกรรมการผู้จัดการ ในปี 2542 และเป็นตำแหน่งสุดท้ายในบ้านกสิกรไทย
ด้วยความที่เป็นคนชอบงานท้าทาย ทำให้บุญทักษ์ ตัดสินใจลาออกจากธนาคารกสิกรไทยในปี 2550 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ธนาคารทหารไทยประสบภาวะขาดทุนมากที่สุด ทำให้กลุ่มไอเอ็นจีสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ จึงเป็นเหตุให้บุญทักษ์ได้มาสมัครเป็นผู้บริหาร และได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งบุญทักษ์สามารถพลิกฟื้นธนาคารทหารไทยที่ในอดีตมีภาระหนี้สินจากการขาดทุนสะสม ระดับแสนล้านบาท โดยใช้เวลาภายใน 2 ปีหลังดำรงตำแหน่งจนสามารถกลับมาจ่ายปันผลได้เป็นครั้งแรก พร้อมผลประกอบการที่ดีในเวลาต่อมา
สร้างความเข้าใจกับพนักงานเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่
เมื่อบุญทักษ์ ได้เข้ามานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารให้กับธนาคารทหารไทย ซึ่งการสร้างวัฒนธรรมใหม่พร้อมกับพนักงานองค์กรทั้งหมดกว่า 9,000 คนไม่ใช่เรื่องง่าย บุญทักษ์ได้เริ่มสร้างวัฒนธรรมที่เรียกกว่า TMB WAY เป็นค่านิยมใหม่ เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน ต้องให้พนักงานเข้าใจว่าการเข้ามาของบุญทักษ์ มาเพื่อสร้างธนาคารใหม่ไม่ได้มารื้อองค์กรเพื่อปรับโครงสร้างเท่านั้น

เนื่องจากธนาคารทหารไทย เกิดจาก 3 สถาบันการเงินรวมกัน ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) อีกทั้ง ยังมีพนักงานที่มาจากธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซิตี้แบงก์ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งพนักงานแต่ละแห่งมีวัฒนธรรมองค์กรแตกต่างกัน ที่สำคัญมี 3 สหภาพแรงงาน ทำให้การปรับเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ช่วง 1-2 ปีแรกในการบริหารนั้นบุญทักษ์บอกว่าเหนื่อยมาก เพราะต้องวางพื้นฐานจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานและระบบบริหารความเสี่ยง แต่สิ่งที่สำคัญที่จะให้ธนาคารเดินต่อไปอย่างมั่นคง คือองค์กรต้องมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองทำให้การขับเคลื่อนมีพลัง ซึ่งการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรได้ยึดหลักคือ ยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การสื่อสารต้องเปิดกว้าง รวมถึงการใช้ผลงานเป็นตัวชี้วัด รู้จักการบริหารความเสี่ยง และ ยึดมั่นความถูกต้อง ที่สำคัญผู้บริหารระดับบนยึดมั่นและปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมองค์กรที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ค่านิยมในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรดังกล่าวที่บุญทักษ์ตั้งใจทำ จะเป็นเพียงตัวอักษรที่ไร้ความหมาย หากไม่ได้รับการถ่ายทอดไปสู่ทุกคนในองค์กร หรือไม่ได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติ ซึ่งการีจะให้บุคลากรทำอะไรจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นภาพความสำเร็จเดียวกัน และเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุดของธุรกิจคือ ตัวเลข จากผลประกอบการที่ติดลบจะต้องมีเป้าว่าธนาคารต้องมี Return on Equity (ROE) 14 เปอร์เซ็นต์ ให้ได้ อีกทั้งการสื่อความหมายก็มีความสำคัญมากด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงแรกที่เข้ามาบริหารธนาคารทหารไทย บุญทักษ์ต้องเดินสายพบพนักงานครั้งละ 200 คนเพื่อบอกกับพนักงานทุกคนว่าเพราะอะไรถึงต้องทำงานภายใต้ TMB Way และหากทุกคนทำตามนั้นแล้วจะส่งผลดีอย่างไรบ้าง ถึงแม้ในอดีตจะมีการทำงานบนค่านิยมเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับการยกย่อง จึงต้องปรับใหม่เพื่อให้มีการยกย่อง มีการให้รางวัลกับคนที่ทำดี ทำถูกต้องในทุกเดือน ซึ่งการทำแบบนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน อีกทั้งยังเป็นแรงจูงใจ รวมถึงเป็นแบบอย่างให้กับพนักงานคนอื่นๆ อีกด้วยได้เช่นกัน

Make THE Difference
เมื่อบุคลากรภายในองค์กรกว่า 9,000 คนมีความเข้าใจและมองเห็นจุดหมายปลายทางเดียวกันแล้ว การนำขุมพลังที่มีมาใช้เพื่อหาที่ยืนในตลาดอย่างถูกที่และถูกเวลา ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เข้าถึงใจ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า จึงเป็นภารกิจต่อจาก TMB Way ที่บุญทักษ์ ต้องทำ แต่ด้วยความที่เป็นธนาคารขนาดกลาง หากมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ใกล้เคียงกับธนาคารขนาดใหญ่ ย่อมไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน ฉะนั้น ธนาคารทหารไทย จึงได้เปิดตัว Make THE Difference ในปี 2553 ซึ่ง แบรนด์ Make THE Difference จะดำเนินการโดยให้บุคลากรตั้งคำถามว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องทำแบบนี้ อีกทั้งยังมีวิธีอื่นอีกหรือไม่ หรือแม้แต่คิดว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่ต้องเป็นรูปแบบนี้หรือเปล่า เหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างความท้าท้ายให้กับบุคลากร
ผลลัพธ์จากแนวคิด Make THE Difference คือผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่เคยมีในตลาดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีออมทรัพย์ฟรีค่าธรรมเนียม (TMB No Fee) บัญชีเงินฝากไม่ประจำดอกเบี้ยสูง(TMB No Fixed Account) บัญชีเงินฝากประจำอัพ แอนด์ อัพ(TMB Up & Up Term Deposit) ฯลฯ ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์และบริการ บุญทักษ์จะไม่บิดเบือน คือบอกลูกค้าไว้อย่างไรต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดจากการปลูกฝังค่านิยมให้กับบุคลากร ทำให้แนวคิดและการทำงานของบุคลากรทุกคนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะบุญทักษ์เชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ไม่ได้สร้างโดยฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ไม่ใช่การโฆษณา แต่ผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนร่วมกันสร้าง ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตตามค่านิยมขององค์กรกับลูกค้านั่นเอง

ประสบการณ์ของบุญทักษ์ที่อยู่ในธุรกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศมาตลอดชีวิต ทำให้เขาพบว่าระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยให้บริการลูกค้ายังไม่ดีพอ สิ่งที่เขาเห็นจึงเป็นโอกาสของธนาคารทหารไทย แต่ประสบการณ์การทำงานของบุญทักษ์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะคลุกคลีกับองค์กรธุรกิจระดับคอร์ปอเรท ขณะที่ธุรกิจการเงินที่ให้บริการลูกค้าระดับรีเทล เขามีโอกาสได้สัมผัสน้อย แต่เขาเชื่อว่าระบบการทำงานระหว่างลูกค้าคอร์ปอเรท ธุรกิจเอสเอ็มอี และรีเทล มีการเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ฉะนั้นการทำงานจึงแยกกันไม่ออก
สิ่งที่บุญทักษ์คิดและลงมือทำไปแล้วคือการเปลี่ยนความคิดใหม่ในการให้บริการทางด้านการเงินแบบนอกกรอบ ด้วยการลดข้อจำกัดต่างๆ ของธนาคารทุกแห่งในประเทศไทยที่เคยตั้งกันขึ้นมา ทั้งที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว ข้อจำกัดเหล่านี้ อาทิ การที่ลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากประจำสามารถถอนเงินออกมาได้ก่อนระยะเวลากำหนด โดยไม่เสียค่าปรับและยังคงได้รับดอกเบี้ยในอัตราเดิม ที่สำคัญคือลูกค้ายังมีสถานภาพเป็นลูกค้าเงินฝากประจำอยู่ บุญทักษ์กล้าเปลี่ยนปรัชญาของธุรกรรม รับเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปล้วนปฏิบัติตามกันมาจนกลายเป็นธรรมเนียม ทั้งๆที่ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนด ไว้โดยใคร แต่ทุกคนต่างต้องทำตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างบัญชีเงินฝากประจำกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บางลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน
นอกจากนี้ ธนาคารทหารไทยยังเป็นผู้นำการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากขั้นบันได ที่ปัจจุบันมีหลายธนาคารพาณิชย์ยึดเป็นแบบอย่าง ขณะที่ธนาคารทหารไทยได้ยกเลิกไปแล้ว เพราะไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ครบวงจร ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมการใช้เงินพบว่า ชีวิตของคนวัยทำงานจัดสรรการใช้เงิน แบ่งเงินเป็น 2 ก้อน คือ เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน 30 วัน และเงินออมระยะเวลา 6-12 เดือน ทำให้คนส่วนใหญ่ทิ้งเงินไว้ในออมทรัพย์ เพื่อสะดวกในการถอน แต่จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้านั้น เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน 30 วัน ธนาคารทหารไทยได้ออกผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากธุรกรรมทำฟรี หรือโนฟรี บวกบัตรเดบิต ทีเอ็มบี โนลิมิต ให้ลูกค้าสามารถเบิกถอนเงินผ่านเอทีเอ็มอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้ง แบบข้ามเขต และข้ามธนาคารได้ฟรีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ส่วนที่เงินออม 6-12 เดือน ก็ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากไม่ประจำดอกเบี้ยสูง ไม่กำหนดเงื่อนไขเงินฝากขั้นต่ำ ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่นิยมเล่นโซเชียลมีเดีย ธนาคารได้เปิดให้บริการ ME เป็นบริการอินเตอร์แบงกิ้ง ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ถึง 5 เท่า หรือกรณีของค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็มนั้น ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมจากลูกค้าครั้งแรกที่ 300 บาทต่อบัตร หลังจากนั้นลูกค้าก็ไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ไปอีก 3 ปี จากปกติต้องเสียค่าบริการบัตรละ 200 บาทต่อปี จากการคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายแล้ว บุญทักษ์มองว่าคุ้ม เพราะข้อมูลสถิติบอกว่าลูกค้าใช้บริการเอทีเอ็มไม่เกิน 20 ครั้งต่อเดือนต่อคน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารทหารไทยได้พัฒนาไปอีกขั้น ลูกค้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารทั้งหมด สามารถถอนเงิน และโอนเงินทุกช่องทางของธนาคาร ทั้งอินเตอร์เน็ต โมบายแบงก์ สาขาและอื่นๆ ไม่ต้องเสียค่าบริการ และไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ทำธุรกรรม แต่หากจำเป็นต้องโอนข้ามธนาคาร ก็สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์โนฟรี และโนลิมิต ก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกัน รวมไปถึงธนาคารทหารไทยยังได้เปิดบริการฝาก ถอน โอน หรือเปิดบัญชีใหม่ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องกรอกเอกสารอีกต่อไป เพียงแต่แจ้งเจ้าหน้าที่ธนาคารหน้าเคาน์เตอร์ให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ ก็สามารถทำธุรกรรมได้ทันที โดยใช้เวลา 6-7 นาทีเท่านั้น การฉีกรูปแบบให้บริการเป็นแนวคิดของบุญทักษ์ที่ต้องการให้ผู้บริหารหรือแม้แต่ทีมงานได้คิดถึงข้อจำกัดที่มีอยู่และทำอย่างไรจึงจะลดข้อจำกัดเหล่านั้นลงมาให้ได้

ทางด้านสินเชื่อ ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารแห่งแรกที่ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเอสเอ็มอี 3 เท่า หรือปล่อยเงินกู้ 3 เท่าของหลักประกัน จากปกติธนาคารพาณิชย์ทั่วไปจะปล่อยวงเงินกู้ไม่เกินหลักประกัน ซึ่งเป็นตัวจุดกระแสให้ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ นำมาทำตาม อีกทั้ง ธนาคารทหารไทยยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี 3 ก๊อก ดังนี้ ก๊อกแรกวงเงินกู้ 3 เท่า ก๊อกที่ 2 เงินฉุกเฉิน และก๊อกที่ 3 เงินขยายกิจการ
ธนาคารทหารไทย ยังคงเดินหน้ามอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการนำระบบ Data Mining Model มาใช้ โดยระบบดังกล่าวทำให้ทหารไทย คาดการณ์ได้ว่าลูกค้าแต่ละรายต้องการผลิตภัณฑ์อะไร จากนั้นจึงนำเสนอผลิตภัณฑ์นั้นๆ ส่งตรงไปยังลูกค้า ซึ่งบุญทักษ์มองว่าตั้งแต่วันแรกที่ลูกค้าไปเปิดบัญชีที่สาขา กำหนดไว้ว่าภายใน 90 วัน จะต้องมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารทหารไทยติดต่อลูกค้าเพื่อต้อนรับและแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับเขา โดยสิ่งที่นำเสนอจะต้องเป็นผลดีกับลูกค้าแต่ละรายมากที่สุด เพราะฉะนั้นลูกค้าแต่ละรายจะได้รับการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่อดคล้องกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลาอยู่เสมอ
ความสำเร็จวัดได้จากผลประกอบการไตรมาสที่ 3/57 โต 28 เปอร์เซ็นต์
ผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ของธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 2,387 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 1,870 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งบุญทักษ์ บอกว่า ผลกำไรของธนาคารปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้มาจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิซึ่งเกิดจากสินเชื่อที่ขยายตัวดีขึ้น หรือเติบโตขึ้น ประกอบกับการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของการขายแบงก์แอสชัวรันส์และการขายกองทุนรวม ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายได้เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในไตรมาสนี้ลดลง ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานหลักก่อนสำรองของธนาคารในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นเป็น 3,800 ล้านบาท
ในส่วนของเงินฝากธนาคารลดลงเล็กน้อยประมาณ 4,500 ล้านบาท หรือ 0.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดนส่วนใหญ่เป็นการลดลงของเงินฝากประจำ แต่เงินฝากธุรกรรมทางการเงิน เพิ่มขึ้นประมาณ 7,000 ล้านบาทหรือ 4 เปอร์เซ็นต์ และโดยรวมในงวด 9 เดือนของปีนี้ ธนาคารสามารถขยายเงินฝากได้ประมาณ 39,000 ล้านบาท หรือ 7 เปอร์เซ็นต์ โดยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนมาจาก 2 ส่วนเป็นหลัก โดยธนาคารจะเน้นเงินฝากลูกค้ารายย่อยในผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เป็นจุดเด่นของธนาคาร คือ เงินฝากไม่ประจำ (No Fixed) เงินฝาก ME by TMB และมาจากเงินฝากเพื่อธุรกรรมทางการเงิน ขณะที่สินเชื่อในไตรมาสที่ 3/2557 นี้ ขยายตัวประมาณ 16,000 ล้านบาทหรือ 3 เปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสที่แล้วจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และสินเชื่อลูกค้าบุคคล
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ที่ดีขึ้นเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม รวมทั้งประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่มีมาตรฐาน อีกทั้งยังสามารถขยายฐานลูกค้าเงินฝากธุรกรรมทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3 นี้แม้ว่าเงินฝากรวมจะลดลงเล็กน้อย แต่มีเงินฝากธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยและสถานะทางกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ธนาคารมีผลดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สามารถดำรงความแข็งแกร่งทางการเงินและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ ได้เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของทีเอ็มบี เป็น Baa2 จาก Baa3 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

จากแนวคิดรวมถึงกลยุทธ์ต่างๆ ที่บุญทักษ์ นำมาใช้เพื่อปลุกให้ธนาคารทหารไทยได้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งทำให้ คณะกรรมการคัดเลือกนักการเงินแห่งปี ได้มีมติเอกฉันท์ มอบรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี ประจำปี 2557” ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณา เนื่องจากโดดเด่นในการสร้างมาตรฐานใหม่ในการให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร สร้างความแตกต่างในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง และมีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจธนาคารโดยรวมเพื่อผลประโยชน์ของลูกค้าและผู้บริโภค ทำให้องค์กรเติบโตมีความก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการทำประโยชน์ให้กับสังคม จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์
ทั้งนี้ รางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้บริหารในตลาดเงิน ตลาดทุน ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ครบถ้วน และมีผลงานโดดเด่น โดยการเงินธนาคารริเริ่มวางรางวัลเกียรติยศ “นายธนาคารแห่งปี” มาตั้งแต่ปี 2525 และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรางวัล “นักการเงินแห่งปี” ต่อเนื่องติดต่อกันมาถึง 32 ปี เพื่อยกย่องนักการเงินที่มีความโดดเด่นในแวดวงการเงินการธนาคารตลอดมา ด้วยการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากการติดตามผลงานและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในวงการธนาคารและการเงิน ซึ่งบุญทักษ์ หวังเจริญ เหมาะแล้วกับรางวัลอันสมเกียรตินี้
ในฐานะ “นักการเงินแห่งปี” บุญทักษ์มองปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า คือ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 กับบทบาทของเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ ที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจ กระบวนการทำธุรกรรมทางการเงิน ธนาคารพาณิชย์ควรเตรียมการรับมือและปรับตัว โดยอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้สามารถรองรับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจได้ รวมถึงการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศที่จะต้องเชื่อมโยงกับประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ ปัจจัยภายนอกที่เข้ามาแต่ละอย่างจะกระทบกับระบบธนาคารพาณิชย์อย่างมาก เช่น การที่คนส่วนใหญ่ใช้สินค้าที่เป็นเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันลูกค้าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำธุรกรรมผ่ายสาขา หากการทำธุรกรรมทางมือถือแทนการมาสาขาขยายตัวมากขึ้น ธนาคารต้องปรับตัวเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ผลของการมีเทคโนโลยียังกระทบการประกอบธุรกิจเช่น ทำให้ซื้อขายทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ชเติบโต ทำให้การค้าขายผ่านช่องทางปกติลดลงเรื่อยๆ ส่งผลต่อการบริการทางธนาคารที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก
“ถ้าเปิดไฟในห้องให้สว่าง คนก็ไม่สามารถเดินชนโต๊ะ ทุกคนจะเห็นตรงกันเลยว่า เดินเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ถ้าในห้องไฟมืด คนก็จะเดินไปสะเปะสะปะ ดังนั้นการทำงานคือไฟที่จะส่องสว่างภายในห้องได้ดีที่สุด” ด้วยความเชื่อนี้ที่มีอยู่ตลอดเวลา และฝีไม้ลายมือในการบริหารงาน จึงไม่แปลกเลยที่ธนาคารทหารไทยกลับมาผงาดได้อีกครั้ง ภายใต้การกำกับของบุญทักษ์ หวังเจริญ
“ถ้าเปิดไฟในห้องให้สว่าง
คนก็ไม่สามารถเดินชนโต๊ะ
ทุกคนจะเห็นตรงกันเลยว่า
เดินเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ดีที่สุด
มีประสิทธิภาพที่สุด
แต่ถ้าในห้องไฟมืด
คนก็จะเดินไปสะเปะสะปะ
ดังนั้นการทำงาน
คือไฟที่จะส่องสว่างภายในห้องได้ดีที่สุด”
Comments